ยุคต่อไปของอีคอมเมอร์ซ iBeacon และ Amazon Prime Air

นับจากการเปิดตัวของ iPhone เมื่อเจ็ดปีที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนที่มีเทคโนโลยีระบุตำแหน่งเริ่มมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย บริการที่ใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่ง (Location-Based Services) ต่างได้รับความสนใจและมีการลงทุนเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของบริษัท Start Up เช่น FourSquare, Twitter และบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Google, Apple, Amazon, Facebook ฯลฯ จากยุคแรกเริ่ม เทคโนโลยีระบุตำแหน่งได้อาศัยสัญญาณดาวเทียม (GPS) แต่เพียงอย่างเดียว ถึงแม้ GPS จะให้ความแม่นยำสูง ในระยะ 10 เมตร และมีพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่กลับไม่สามารถใช้งานภายในสถานที่อาคารได้ ต่อมา ได้มีพัฒนาการเข้าสู่การใช้สัญญาณของโทรศัพท์มือถือเช่น 2G, 3G, 4G, LTE ฯลฯ เพื่อระบุตำแหน่ง ถึงแม้จะให้ความแม่นยำที่ต่ำ ในระยะ 500 - 1,000 เมตร แต่สามารถใช้งานจากภายในสถานที่อาคารได้ ทั้งนี้ สามารถระบุได้เพียงแค่ว่า อยู่ภายในอาคารใด เช่นว่า อยู่ภายในสยามพารากอน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า อยู่ที่ร้านค้าใดภายในอาคารนั้น เช่นว่า อยู่ที่สตาร์บัคที่ชั้นใต้ดินของสยามพารากอน ที่ผ่านมา บริการที่ใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่ง จึงมิได้มุ่งเน้นการให้บริการภายในสถานที่อาคาร แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ธุรกรรมในการซื้อขายส่วนใหญ่ ล้วนเกิดขึ้นภายในสถานที่อาคาร การใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่ง จึงยังไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อธุรกรรมการซื้อขายอย่างเต็มที่

ล่าสุด ได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารในระยะสั้น เช่น WiFi, Bluetooth, NFC ฯลฯ เพื่อการระบุตำแหน่งภายในสถานที่อาคาร ให้ได้ความแม่นยำที่สูง ในระยะ 10 เมตร และยังสามารถระบุชั้นได้อีก

การเปิดตัว iBeacon โดย Apple เป็นการใช้เทคโนโลยีในระบบของ Bluetooth เพื่อให้บริการที่ใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่งในสถานที่อาคาร ที่มีความแม่นยำสูง ยกตัวอย่างเช่น บริการพิเศษสำหรับลูกค้า ผ่านช่องทางของแอพหรือเว็บไซต์ เมื่อ iBeacon ระบุว่าลูกค้ากำลังเดินอยู่ภายในแผนกเครื่องเสียงของสยามพารากอน นอกจากนี้ iBeacon ยังสามารถ Push ข้อความให้กับลูกค้าอย่างเฉพาะเจาะจงสถานที่ได้ ยกตัวอย่างเช่น แผนกเครื่องกีฬาของสยามพารากอน อาจสามารถ Push ข้อความให้กับลูกค้าทุกคน ที่กำลังเดินอยู่ใกล้เคียงสตาร์บัคที่ชั้นใต้ดินของสยามพารากอน

ข้อจำกัดของเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารในระยะสั้น คือพื้นที่ครอบคลุม ที่ต้องใช้อุปกรณ์ส่งสัญญาณเป็นจำนวนมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีพื้นที่ครอบคลุมเท่ากับสัญญาณดาวเทียม หรือกระทั่งสัญญาณของโทรศัพท์มือถือ ในระยะเริ่มต้น คงเป็นการให้บริการแบบจำกัดพื้นที่ โดยเฉพาะตลาดที่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่แน่นอน แทนที่จะเป็นการให้บริการอย่างปูพรม ทั้งประเทศ

ข้อสังเกตที่สำคัญ คือการใช้การเทคโนโลยีระบุตำแหน่งเพื่อการซื้อขาย อาจเป็นอีคอมเมอรซ์อย่างไม่ครบวงจร เพราะการซื้อขายจริงอาจไม่ได้เกิดขึ้นผ่านแอพหรือเว็บไซต์ แต่เกิดขึ้น ณ จุดขาย เพียงแต่มีเทคโนโลยีของอีคอมเมอรซ์เป็นองค์ประกอบเพื่อส่งเสริมการซื้อขาย สำหรับยุคต่อไปของเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง ย่อมหนีไม่พ้นปฏิบัติการอัตโนมัติ (Automation) ของบริการที่ใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่ง สัปดาห์ที่ผ่านมา Amazon ได้เปิดตัว Amazon Prime Air ที่จะเริ่มให้บริการในอีกสองปีข้างหน้า Amazon Prime Air คือบริการส่งของอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่ง ร่วมกับ โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ เพื่อที่จะส่งสินค้าให้กับลูกค้าภายใน 30 นาที

โดรน เป็นเทคโนโลยีถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อการทหาร เพื่อการสอดแนมหรือการจู่โจม เมื่อต้นปีนี้ สหรัฐ ได้แถลงว่า เทคโนโลยีโดรนของสหรัฐได้ลอบสังหารเป้าหมายทางการทหารมาแล้วเกือบ 5,000 ราย ในปัจจุบัน โดรนได้ถูกพัฒนาเป็นเทคโนโลยีสำหรับพลเรือน มีขนาดที่เล็กลง และราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดรนสำหรับพลเรือนที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ Ar.Drone 2.0 สามารถบังคับได้ด้วย iPhone, iPad และ Android โดยใช้ GPS เป็นเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง และ WiFi เป็นเทคโนโลยีในการสื่อสาร นอกจากนี้ Ar.Drone 2.0 ยังมีกล้องวีดีโอความละเอียดสูง (HD) เพื่อถ่ายวีดีโอ และ เพื่อการควบคุม ทั้งหมดนี้ สามารถเป็นเจ้าของได้ด้วยราคาเพียงหมื่นต้นๆ

แม้แต่ในประเทศไทย การใช้งานโดรนเพื่อการพลเรือนได้มีมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว มีชมรมต่างๆ ที่เป็นศูนย์รวมของผู้ที่สนใจโดรน แม้กระทั่งสถานีโทรทัศน์บางช่อง ยังได้ใช้งานโดรนเพื่อทำข่าว ในสถานที่ที่ไม่สามารถเข้าไปได้สะดวก

ข้อจำกัดของ Ar.Drone 2.0 หรือโดรนที่มีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย คือ WiFi ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการสื่อสาร ที่สามารถมีระยะได้ไม่เกิน 100 เมตร และแบตเตอรี่ ที่ใช้งานได้ไม่เกิน 30 นาที ดังนั้นโดรนที่ Amazon จะนำมาใช้ให้บริการ Amazon Prime Air ย่อมต้องใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารที่มีระยะไกลยิ่งขึ้น และมีความสามารถในการบังคับตัวเอง หากหลุดจากสัญญาณการสื่อสารได้ นอกจากนี้ ยังคงต้องเป็นโดรนที่สามารถบินได้ไกลขึ้น และสามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี Amazon Prime Air จะจัดส่งเฉพาะสินค้าที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2.25 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็น 86% ของสินค้าที่ Amazon จัดส่งโดยทั่วไป

แต่ถึงกระนั้น Amazon ย่อมไม่ใช่บริษัทเดียว ที่กำลังศึกษาค้นคว้าการนำโดรนมาใช้เพื่อการส่งสินค้า UPS บริษัทขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐได้ประกาศว่ากำลังศึกษาค้นคว้าการนำโดรนมาใช้งานเช่นเดียวกัน

ในปัจจุบัน Amazon Prime Air ยังคงมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์ ทั้งในด้านเทคโนโลยีและกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดรนในภาคพลเรือน อาจได้เปิดมิติใหม่การลักลอบส่งสินค้าที่ผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด และกระทั่ง การโจรกรรม การฆาตกรรม ฯลฯ อย่างที่ไม่สามารถสืบหาต้นตอได้ แต่หาก Amazon ทำได้สำเร็จ จะเกิดเป็นอีคอมเมอรซ์อย่างครบวงจร ที่ขั้นตอนของการซื้อขายทั้งหมด จะอยู่ภายในโลกของเทคโนโลยี โดยอาศัยเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง ที่มีการขนส่งอย่างอัตโนมัติ ที่ปลายทาง (Last Mile)

เทคโนโลยีระบุตำแหน่ง ไม่ว่าจะในรูปแบบของ iBeacon หรือ Amazon Prime Air คือการหลอมรวมครั้งสุดท้าย ระหว่างโลกเทคโนโลยี กับโลกแห่งความเป็นจริง ในอนาคตอันใกล้ อีคอมเมอรซ์ และการทำธุรกรรมซื้อขายทั่วไป จะไม่สามารถแยกจากกันได้ เพราะในยุคต่อไป ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมอรซ์อย่างครบวงจรในรูปแบบของ Amazon Prime Air หรือ อีคอมเมอรซ์ ในบางส่วน เช่น iBeacon คงหลีกเลี่ยงได้ยาก สำหรับธุรกิจที่จะไม่ใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาศักยภาพของในการทำธุรกิจ

Published in Krungthepturakij on December 10, 2013