Digital TV: Blue Ocean หรือ Red Ocean?

จากบทความที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึง 3G กับ Blue Ocean Strategy โดยได้วิเคราะห์ว่า 3G จะทำให้เกิดตลาดออนไลน์ใหม่ คือกลุ่มลูกค้าที่อยู่นอกเมือง มีฐานะและการศึกษาด้อยกว่า กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปัจจุบัน โดยจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่าน 3G และ Smartphone ที่มีราคาค่ำ ซึ่งกลุ่มนี้ อาจมีมากถึง 70% ของประชากร สำหรับปี 2556 เหตุการณ์สำคัญระดับประเทศ ที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่แพ้การออกใบอนุญาต 3G โดย กสทช ในปี 2555 ที่ผ่านมา คือ การออกใบอนุญาต Digital TV โดย กสทช เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมองได้ว่า เป็นการปลดแอกระบบสื่อสารมวลชนครั้งสำคัญ ในรอบหลายสิบปี ธุรกิจโทรทัศน์สาธารณะ ที่มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี และถูกผูกขาดโดย 6 สถานีหลัก คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ThaiPBS กำลังจะเข้าสู่การแบ่งเค้กครั้งใหม่ เพราะในปี 2556 การออกใบอนุญาต Digital TV จะทำให้เกิด 48 สถานีใหม่ ในจำนวนนี้ 4 ช่องจะเป็นระบบ High Defintion อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังคงมีสถานีโทรทัศน์ระดับภูมิภาค ซึ่งจะเกิดขึ้นใหม่ ในระบบ Digital TV ที่ไม่ได้รวมอยู่ในจำนวนนี้ และในปีต่อๆไป กสทช ยังสามารถเพิ่มจำนวนช่องของ Digital TV ได้อีก จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลก หากประเทศไทยจะมีโทรทัศน์สาธารณะกว่า 100 สถานี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

โดยเบื้องต้นแล้ว ย่อมเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะจะเป็นการพลิกโฉมธุรกิจโทรทัศน์สาธารณะของไทย โดยอาจเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ๆ และโอกาสทางธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี จากมุมมองของลูกค้า หรือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ การรับชมโทรทัศน์กว่า 100 สถานี ยังคงเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับพวกเขาอีกต่อไปหรือไม่

ปัจจุบัน กว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในประเทศ ติดตั้งระบบโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งสามารถรับชมได้กว่า 100 สถานี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โทรทัศน์ดาวเทียมจะเข้าถึงกว่า 80% ของครัวเรือนในประเทศ ดังนั้นกลุ่มประชากรที่จะเข้าถึง Digital TV ต้องมีการ Overlap กับโทรทัศน์ดาวเทียมอย่างแน่นอน

ในขณะที่ 3G จะนำอินเทอร์เน็ตเข้าถึงประชากรกลุ่มใหม่ ที่ไม่เคยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมาก่อน จึงอาจเปรียบเป็น Blue Ocean Strategy แต่ในขณะที่ Digital TV จะนำ 100 สถานี เข้าถึง กลุ่มประชากรที่สามารถรับชม 100 สถานีผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมได้อยู่แล้ว จึงอาจเปรียบเป็น Red Ocean เพราะไม่ใช่ตลาดใหม่ แต่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันจนเกิดการนองเลือด (เป็นมหาสมุทรสีแดง หรือ Red Ocean) นอกจากนี้ กลุ่มผู้ที่จะเข้ารับใบอนุญาตสำหรับให้บริการสถานีในระบบ Digital TV อาจไม่ต่างกับ กลุ่มที่เคยให้บริการสถานีในระบบโทรทัศน์ดาวเทียมอยู่แล้ว ดั้งนั้นอะไรจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ สำหรับสถานีโทรทัศน์ เมื่อต้องมาลงทุนเพิ่ม สำหรับประมูลและให้บริการ Digital TV เพื่อเข้าถึงกลุ่มประชากรเดียวกับที่รับชมโทรทัศน์ดาวเทียมอยู่แล้ว

ยิ่งไปกว่านี้ Digital TV ยังมิใช่โทรทัศน์ระบบ Interactive ที่หลายท่านอาจสับสน เพราะในโลกอินเทอร์เน็ต Digital อาจสื่อถึงความเป็น Interactive แต่ความเป็น Digital สำหรับ Digital TV เป็นเพียงการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอรูปแบบโทรทัศน์ ที่เป็นการสื่อสารทางเดียว

อย่างไรก็ดี ปฏิทรรศน์ทางธุรกิจ (Paradox) ที่สำคัญ คือ เพราะเหตุใดอัตราโฆษณาบนโทรทัศน์สาธารณะ จึงมีมูลค่าสูงกว่าโทรทัศน์ดาวเทียมเป็น 100 เท่า ทั้งๆที่ โทรทัศน์ดาวเทียมได้เข้าถึงกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในประเทศแล้ว แต่ไม่สามารถได้ส่วนแบ่งที่สำคัญจากมูลค่า 60,000 ล้านบาทต่อปี ของธุรกิจโทรทัศน์สาธารณะเลย ซึ่งกรณีนี้ เป็นข้อโต้แย้งระดับอุตสาหกรรม จนกระทั่งมีการเรียกร้องให้หน่วยงานกลางเข้าไปกำกับดูแล

โอกาสที่สำคัญ สำหรับ Digital TV คือการที่ผู้เล่นรายเดิม ที่ให้บริการโทรทัศน์ดาวเทียมอยู่แล้ว หรือผู้เล่นรายใหม่ อาจเข้าสู่ระบบ Digital TV เพื่อหวังรายได้จากมูลค่า 60,000 ล้านบาทต่อปี ของธุรกิจโทรทัศน์สาธารณะ ที่ระบบดาวเทียมอาจมิสามารถให้ได้ หากอัตราโฆษณาบนโทรทัศน์สาธารณะในระบบ Digital มีมูลค่าที่ต่ำกว่าโทรทัศน์สาธารณะในระบบเดิม เพียง 10 เท่า แต่ก็ยังสูงกว่าโทรทัศน์ดาวเทียมเป็น 10 เท่า ก็อาจคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่กลไกทางธุรกิจ หรือการกำกับดูแล จะเอื้อให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ยังเป็นกรณีที่ต้องติดตาม

สำหรับประเทศไทย แม้ Digital TV จะมีความสลับซับซ้อน เพราะไม่ใช่ Blue Ocean อย่างเช่น 3G โดยมีระบบอื่นที่ให้บริการอยู่แล้ว ในตลาดเดียวกัน แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนทีสำคัญ ที่จะเป็นการปลดแอกระบบสื่อสารมวลชนครั้งสำคัญ เพราะในเวลานี้ สำหรับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว โทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อที่มีความสำคัญและอิทธิพลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร มากยิ่งกว่าอินเทอร์เน็ตอย่างแน่นอน

Published in Krungthepturakij on January 8, 2013