เศรษฐกิจดิจิทัลกับบริบทระหว่างประเทศ
/"หากประเทศไทย จะพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ทางที่ดีแล้ว ต้องขยายการเชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์ เพราะสำหรับประเทศไทย สิงคโปร์เป็นประตูทางออกสู่โลกภายนอก ทุกคนในอุตสาหกรรมย่อมรู้เรื่องนี้ดี" นี่เป็นคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญชาวสิงคโปร์รายหนึ่ง ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนาด้วยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ เป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญไม่แพ้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มอาเซียน
นับจากยุคแรกของอินเทอร์เน็ต ผู้บริโภคในอาเซียนรวมถึงประเทศไทย ได้มีการบริโภคข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ของต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐ ด้วยสัดส่วนที่สูงกว่าเว็บไซต์ในประเทศหลายเท่าตัว ทั้งนี้ เว็บไซต์ที่ชาวอาเซียนเข้าถึงมากที่สุด ย่อมต้องหนีไม่พ้น Google, YouTube และ Facebook ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสหรัฐ
คอขวดที่สำคัญของการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอาเซียน จึงเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อไปยังสหรัฐ
หลายท่านคงไม่ทราบว่า การเชื่อมต่อไปยังสหรัฐ สำหรับประเทศไทย ต้องผ่านไปยังสิงคโปร์ก่อน จากนั้นจึงผ่านไปยังฮ่องกง ซึ่งฮ่องกงจะมีหลากหลายช่องทางในการเชื่อมต่อไปยังสหรัฐและเป็นศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตหลักแห่งหนึ่งของเอเชีย แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว สิงคโปร์จะเป็นด่านแรกก่อนที่จะออกสู่โลกภายนอก
ความเร็วของอินเทอร์เน็ต ถูกจำกัดไว้โดยความเร็วของแสงที่วิ่งผ่านไฟเบอร์และยังคงเป็นสมการของระยะทาง การเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศของไทยที่ต้องวิ่งอ้อมภูมิภาค ย่อมหมายถึงความรวดเร็วและเสถียรภาพของอินเทอร์เน็ตไทย ที่ไม่สามารถดีได้เท่าที่ควร และไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอให้บริการธุรกิจระหว่างประเทศ
ลองนึกสภาพดูว่าหากสนามบินสุวรรณภูมิ มีเส้นทางเข้าออกประเทศเพียงเส้นทางเดียว และไม่ว่าเที่ยวบินใด ก็จะต้องไปเปลี่ยนเที่ยวบินที่สิงคโปร์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะใช้เวลายาวนานขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็จะต้องสูงขึ้นด้วย จากการที่ต้องบินอ้อมภูมิภาค อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และนี่ก็คือสถานการณ์ของอินเทอร์เน็ตไทยในปัจจุบัน
ธุรกิจข้ามชาติที่มีศักยภาพ ย่อมต้องทราบดีถึงข้อจำกัดนี้ของไทย การลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ จึงได้จัดทำที่สิงคโปร์ สำหรับให้บริการในตลาดอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ด้วยเหตุผลหลักที่ว่า ไม่ว่าอย่างไร ประเทศไทยก็ต้องอาศัยสิงคโปร์เป็นประตูออกสู่โลกภายนอกอยู่แล้ว คลาวด์คอมพิวติ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง Amazon ได้ลงทุนสิงคโปร์และไม่จำเป็นต้องมาลงทุนที่ไทย
เศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์ จึงไม่ได้เป็นแค่ระดับประเทศเท่านั้น แต่เป็นระดับภูมิภาคอาเซียน
แต่ถึงกระนั้น ยังคงพอมีโอกาสสำหรับประเทศไทย ที่จะมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน อย่างน้อยส่วนหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือจากข้อได้เปรียบในจำนวนของประชากร ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลภายในประเทศ ไทยยังคงมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญ คือมีระยะทางที่ใกล้ฮ่องกงมากกว่า ทำให้มีโอกาสที่ไทยจะพัฒนาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างสายตรงไปยังฮ่องกง หรือกระทั่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตหลักอีกแห่งหนึ่งของเอเชีย ไม่ว่าจะใช้สายไฟเบอร์ใต้น้ำ หรืออาศัยสายไฟเบอร์บนดินผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยยังคงมีข้อได้เปรียบจากการที่อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย
ทั้งหมดนี้จะทำให้ การเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศของไทย สามารถมีประสิทธิภาพที่ไม่ด้อยไปกว่าเพื่อนบ้าน ด้วยกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด ธุรกิจข้ามชาติที่มีศักยภาพ ย่อมต้องมีความสนใจที่จะลงทุนใช้ระบบดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย
นอกเหนือจากข้อจำกัดทางโครงข่ายที่ได้กล่าวมาแล้ว ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลยังต้องอาศัยการพัฒนากฎหมาย และการกำกับดูแลโดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ให้มีความเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับของธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้ เพราะปัจจุบันธุรกิจต่างชาติยังคงมอง กฎหมายของไทยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและเป็นหนึ่งในอุปสรรคหลัก ที่ธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้ตัดสินใจไม่ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งหลากหลายหน่วยงานในไทย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ล้วนมีประสบการณ์ในการชักชวนธุรกิจข้ามชาติที่มีศักยภาพ ให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมไอซีทีของไทย ก่อนจะถูกขนานนามใหม่เป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไร้พรมแดน การวางแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย จำเป็นต้องมองภาพของภูมิภาคเป็นสำคัญ ซึ่งยังคงพอมีโอกาสสำหรับประเทศไทย หากพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรมได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และถูกทิศทาง หลังจากที่พัฒนาการทางไอซีทีของไทยได้นอนหลับมานานแล้ว
Published in Krungthepturakij on May 12, 2015