กฎหมายดิจิทัล ความหวังสู่การปฏิรูป
/การปฏิรูปดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำลังเข้มข้นขึ้นในทุกช่วงขณะ ภายหลังจาก Start Up Thailand 2016 และ Digital Thailand 2016 สัปดาห์ที่ผ่านมา สนช. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 122 คะแนนเห็นชอบการตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่างเป็นทางการ
สัปดาห์ที่ผ่านมาอีกเช่นกัน สมาคมโทรคมคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดเสวนา “กฎหมายดิจิทัล ความหวังสู่การปฏิรูป” โดยได้รับเกียรติจาก ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ICT เป็นประธานเปิดงานฯ ร่วมกับรองเลขาธิการ กสทช. พลอากาศตรี ธนพันธ์ หร่ายเจริญ
ซึ่งได้หยิบยก กฎหมายดิจิทัล ที่สำคัญ 4 ฉบับได้แก่
1. (ร่าง) พรบ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2. (ร่าง) พรบ. กสทช., 3. (ร่าง) พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 4. แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมากอย่างเป็นประวัติการณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชนทั่วไป ที่อยากจะเห็นประเทศไทย มีโอกาส ที่จะได้พัฒนาต่อไปในยุคดิจิทัล
ระหว่างการเสวนา มีการกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ที่ 1 ของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อยู่พอสมควร นั่นก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ มีขนาดที่เพียงพอต่อการใช้งาน มีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม เพื่อรองรับต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือที่เรียกกันว่า ยุทธศาสตร์ Hard Infrastructure
ประเด็นที่ได้มีการหยิบยก คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ หรือที่เรียกกันว่าสายเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ (Submarine Cables) ทั้งนี้ ถึงแม้ว่า Hard Infrastructure ภายในประเทศ ทั้งที่มีสาย ได้แก่ Fiber Optics และทั้งที่ไร้สาย ได้แก่ 4G จะมีพัฒนาการเพียงใด แต่เนื้อหาและบริการในยุคดิจิทัล ที่คนไทยนิยมใช้ กว่าครึ่งหนึ่ง เป็นบริการที่มาจากต่างประเทศ เช่น Google, Facebook, YouTube ฯลฯ โครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศจึงยังคงเป็นปัญหาคอขวดที่สำคัญ
และที่สำคัญ โครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงสายเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ เป็นจำนวนมากแล้ว ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ถือครองโดยรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ CAT หรือ กสท โทรคมนาคม เป็นหน่วยงานที่มีสายเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก และยังเป็นหน่วยงานที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้พัฒนาและบริหารโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ โดยกระทรวง ICT ด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 20,000 ล้านบาทที่กระทรวง ICT ได้รับอนุมัติเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดิจิทัล
แต่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่วนใหญ่ภายในประเทศในปัจจุบัน กลับไม่ได้ใช้บริการสายเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศของ CAT เลย เนื่องจากราคาที่ CAT ให้บริการนั้น สูงกว่าราคาตลาดทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ จนกระทั่งการที่ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่วนใหญ่ ต้องลงทุนเพื่อแสวงหาเส้นทางอื่นเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศนั้น ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนได้หลายเท่าตัว
ในปัจจุบัน กสท โทรคมนาคม ไม่ได้มีส่วนแบ่งการตลาด ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ เป็นส่วนใหญ่ของประเทศอีกต่อไปแล้ว และยังมีโอกาสที่ส่วนแบ่งของ กสท จะลดลงไปเรื่อยๆ หาก ผู้ประกอบการโทรคมนาคมในประเทศ ยังคงแสวงหาแนวทางที่จะหลบเลี่ยงบริการของ CAT ทั้งยังมีบางราย ที่ได้ลงทุนในสายเคเบิ้ลใต้น้ำของตนเอง ทั้งๆที่ การพัฒนายุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ ในราคาที่เหมาะสม และการส่งเสริมการทำ Infrastructure Sharing สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นบทบาทที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจ
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำลังจะมีการทำประชามติในอีกไม่นานนี้ ได้กำหนดไว้ในมาตรา 76 วรรค 2 ว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณี ที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ”
ซึ่งในปัจจุบัน ยังคงเป็นที่วิพากย์ถึงความไม่ชัดเจนของบทบาทของรัฐวิสาหกิจในกิจการโทรคมนาคม ที่ยังถือครองทรัพย์สินในส่วนของ Hard Infrastructure ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ อย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้ หากผ่านการปฏิรูปอย่างถูกต้อง
แต่ในปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจ ยังคงมีบทบาทในเชิงธุรกิจ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาคอขวดของสำคัญโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศที่สมควรถูกปฏิรูป ในรัฐบาลชุดนี้
อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายล้วนมีความหวังกับและมีความตื่นตัวการปฏิรูปดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นผลงานที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ โดยเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผู้เขียนได้มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย
Published in Krungthepturakij on June 7, 2016