Industry 4.0 โอกาสหรือความเหลื่อมล้ำ?

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปขึ้นเวทีเสวนา “The Digital Economy: Driving Industry 4.0” ในงาน ITU Telecom World 2016 ซึ่งเป็นงานระดับโลก ที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ทั้งนี้ ITU หรือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานพิเศษภายใต้สหประชาชาติ โดยที่งาน ITU Telecom World ที่จัดที่ประเทศไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ผู้ทรงเป็นผู้เปิดงาน และยังได้รับส่วนร่วมจากผู้นำของประเทศต่างๆ จากทั่วโลก

Industry 4.0 เป็นการต่อยอด ICT หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จาก Digital Economy สู่ระบบอุตสาหกรรม ทั้งนี้ มีลักษณะจำเพาะ ได้แก่ การผลิตสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค ด้วยต้นทุนที่ตำ และคุณภาพที่สูง ด้วยระบบอัตโนมัติ สมองกล และหุ่นยนต์ ที่ทำงานควบคู่ไปกับ IoT และ Sensor ต่างๆ

องค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่าง Digital Economy และ Industry 4.0 ย่อมต้องหนีไม่พ้น ข้อมูล หรือ Data ที่วิ่งผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพราะด้วยข้อมูล จะทำให้ระบบอัตโนมัติ สมองกล และหุ่นยนต์ สามารถทำงานได้ โดยเทคโนโลยีที่สำคัญ ก็คือ Big Data นั่นเอง

แน่นอน โอกาสที่มากับ Industry 4.0 ย่อมต้องมาพร้อมกับความท้าทาย โดยหนึ่งในความท้าทายที่ต้องกล่าวถึง คือ Data ที่จะมาจุดเชื่อมโยงที่สำคัญ อาจเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา

เพราะประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย ย่อมสูญเสียสิทธิในการครอบครอง Data ของตน ให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่อยู่นอกเหนืออำนาจอธิปไตยของประเทศตัวเอง

ทั้งนี้ เป็นเพราะประชาชนเกือบทั้งหมดของประเทศ ใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, YouTube, Line ฯลฯ ทำให้บริการเหล่านี้ ได้เก็บสะสมข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนชาวไทยไปไว้ใน Data Center ที่อยู่ต่างประเทศ และไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนชาวไทย ที่อยู่ในมือของต่างชาติ จะมีมากกว่าข้อมูลที่อยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล หรือ เอกชน

นี่คือการสูญเสีย  อธิปไตยทางข้อมูล หรือ Data Sovereignty เมื่อประเทศไม่สามารถเข้าถึง Data ที่ความสำคัญของตัวเอง และ Data ส่วนใหญ่ กลับอยู่ในพื้นที่อธิปไตยของประเทศอื่น

หากไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ที่จะได้ประโยชน์จริง จาก Industry 4.0 กลับเป็นธุรกิจข้ามชาติ ที่มีข้อมูลของคนไทย และสามารถผลิตสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของคนไทย ด้วยต้นทุนที่ตำ และคุณภาพที่สูง ด้วยระบบอัตโนมัติ สมองกล และหุ่นยนต์ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่ธุรกิจของไทยจะสามารถทำได้

ความเหลื่อมล้ำอีกประการหนึ่ง คือโอกาสในการเข้าถึง Industry 4.0 สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME ภายในประเทศ เพราะแม้แต่ Big Data จากใน Digital Economy ที่ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องมีการลงทุนใน สมองกล และหุ่นยนต์ ในส่วนของ Industry 4.0 ก็ยังคงเข้าถึงยากสำหรับธุรกิจ SME ที่ต้องลงทุนในเทคโนโลยี Big Data และบุคคลากร Data Scientist

แต่ภาคส่วนที่น่าเป็นห่วงที่สุดกลับเป็นภาคการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแปลงเล็ก ซึ่งเป็นธุรกิจ SME ที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่รวมประชากรกว่า 30% ของคนทำงานในประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน เกษตรแปลงเล็กยังคงอยู่ในระดับของ Industry 1.0 และขาดเงินทุน Economy of Scale รวมทั้งความรู้ความสามารถที่จะพลิกผันเข้าสู่ Industry 2.0 นอกจากนี้ เกษตรกรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้สูงวัย ในขณะที่ลูกหลานที่ได้รับการศึกษาที่ดีกว่า กลับเลือกที่จะไม่สานต่อการทำเกษตร จึงไม่มีการซึบซับเทคโนโลยีจากคนรุ่นใหม่

ความท้าทายที่สำคัญ คือจะทำอย่างไรให้ Industry 4.0 ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับกลุ่มเกษตรกรแปลงเล็ก

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่า โครงข่าย ICT จะเข้าไม่ถึงกลุ่มเกษตรกรแปลงเล็ก ที่จริงแล้ว ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในด้านการครอบคลุมของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งด้วยสมาร์ทโฟนราคาถูก ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึง ICT และอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก

แต่ปัญหาที่แท้จริง คือความรู้ความสามารถ และการลงทุนเพิ่มเติม ของเกษตรกรแปลงเล็ก เพื่อที่จะนำเทคโนโลยี ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำการเกษตร และ พัฒนาจาก Industry 1.0 เข้าสู่ Industry 2.0 และกระทั่ง Industry 4.0 ในที่สุด

ปัญหาดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ตัวแทนที่มาร่วมงาน ITU จากประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจากอาฟริกา หรือ เอเซียใต้ ล้วนได้แสดงความกังวลต่อความท้าทายนี้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ว่า Industry 4.0 เป็นสิ่งที่ไม่ดี 

สำหรับผู้ที่เข้าถึงได้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่ทั้งนี้ เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลก โอกาสของแต่ละคนย่อมมีไม่เท่ากัน

โจทย์ที่แท้จริงของ Industry 4.0 จึงควรเป็นนวัตกรรมทางสังคม ที่ทำให้พัฒนาการทางเทคโนโลยีสามารถเกิดประโยชน์อย่างเท่าเที่ยมกับทุกภาคส่วน และลดความเหลื่อมล้ำ

Published in Krungthepturakij on November 22, 2016