ข้อมูลส่วนบุคคล ในมือมหาอำนาจ

โครงสร้างอำนาจทางการปกครองสูงสุด ของนานาอารยประเทศ มักมีรากฐานมาจากการถ่วงดุลย์ทางการเมือง ระหว่าง ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งแม้แต่รัฐบาลไทยในปัจจุบัน ก็เป็นรูปแบบที่มีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่ายเช่นกัน

ทั้งนี้ บทเรียนที่มีค่า มักเกิดขึ้นเมื่อ การคานอำนาจได้ถูกใช้งานจริงๆ โดยสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง คือการคานอำนาจระหว่าง ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ เช่นในกรณีที่ศาลได้ออกมายับยั้งคำสั่งทางปกครองของฝ่ายบริหาร และในกรณีที่ศาลต้องมาพิพากษาการใช้อำนาจทางปกครองของของฝ่ายบริหาร

สำหรับในกรณีแรก สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีข่าวคราวอันอื้อฉาว เมื่อศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ของสหรัฐอเมริกา ได้ยับยั้งคำสั่งทางปกครองของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ห้ามการเข้าเมืองของผู้ที่มาจากชาติมุสลิม 7 ประเทศ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพในการถ่วงดุลย์ทางการเมือง ของอำนาจสูงสุดในประเทศ

และในกรณีที่สอง สัปดาห์ที่ผ่านมาอีกเช่นกัน ศาลของสหรัฐอเมริกา ได้อนุญาติให้บริษัทไมโครซอฟท์ ธุรกิจยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี ฟ้องรัฐบาลสหรัฐ เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าบริษัท และยุติการกระทำของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้สำนักงานสืบสวนของสหรัฐอเมริกา ได้มีความพยายามที่จะตรวจค้นอีเมล์ของลูกค้าไมโครซอฟท์ ที่เก็บอยู่บนคลาวด์ โดยที่มิต้องแจ้งหรือขออนุญาตลูกค้าล่วงหน้า

โดยไมโครซอฟท์ ได้มีการต่อสู้ เพื่อยุติตรวจค้น และขอให้มีสิทธิในการแจ้งลูกค้าเมื่อจะมีการตรวจค้น

ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเทคโนโลยีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิล กูเกิล หรือ อเมซอน ก็ได้ออกมาสนับสนุนการต่อสู้ของไมโครซอฟท์  เพราะอนาคตของคลาวด์คอมพิวติง จะต้องหยุดชะงัก เมื่อลูกค้าขาดความเชื่อมั่นในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ที่ถูกเก็บอยู่บนคลาวด์

การที่ศาลรับฟ้อง จึงเป็นความหวัง ว่าจะเกิดการถ่วงดุลย์ และปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองอเมริกัน ที่ถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ

พฤติกรรมของรัฐบาลดังกล่าว ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยของประธานาธิบดีโอบามา ดังนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ จีงมิใช่ผู้เดียวที่ถูกฝ่ายตุลาการคานอำนาจ

อย่างไรก็ดี ไม่นานมานี้อีกเช่นกัน ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ออกคำสั่งทางปกครอง ว่ารัฐบาลสหรัฐ จะคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะข้อมูลของพลเมืองอเมริกัน

คำสั่งทางปกครองของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้นำไปสู่ความสับสนและความเป็นห่วง ถึงระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัฐบาลของสหภาพยุโรป ซึ่งในทางหนึ่ง ก็กำลังคานอำนาจกับรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจเช่นสหรัฐ และในอีกทางหนึ่ง ข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองเกือบทั้งยุโรป ก็อยู่ในมือของสหรัฐอเมริกา โดยเป็นลูกค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ถูกกล่าวถึงในบทความนี้

การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศ จะไม่ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่มิใช่พลเมืองอเมริกัน ย่อมหมายความว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองยุโรป ที่ใช้บริการเหล่านี้ อาจมิได้รับการปกป้องโดยรัฐบาลของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนชาวไทยแล้ว เรื่องนี้ย่อมมีผลกระทบไม่แพ้พลเมืองยุโรป เพราะประชาชนส่วนใหญ่ เป็นผู้ใช้บริการของบริษัทเหล่านี้ ที่มาจากสหรัฐอเมริกาเช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่คนไทยส่วนใหญ่ กลับมิได้มีการตระหนักในเรื่องนี้เลย และอาจคิดเสียด้วยว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของตนนั้น ปลอดภัยกว่า เมื่ออยู่ในมือของชาติมหาอำนาจ

Published in Krungthepturakij on February 14, 2017