ใครเป็นผู้กำกับดูแลคอนเทนท์ในยุคดิจิทัล

เมื่อกลางเดือน ก.ค. ได้มีโอกาสได้ขึ้นเวทีเสวนาเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ จัดโดยสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียง (ประเทศไทย) ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เนื้อหาส่วนหนึ่งของรายการ ได้พูดคุยถึงบทบาทของการกำกับดูแลกันเองของสภาวิชาชีพฯต่างๆ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพ ในการสนับสนุน ตักเตือน และลงโทษ ผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันเอง ก่อนที่จะถึงการกำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กสทช. นอกจากนี้ การกำกับดูแลกันเองยังมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การกำกับดูแลร่วมกัน ระหว่างผู้กระกอบวิชาชีพและ กสทช. เพื่อเพิ่มความมีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อ การกำกับดูแลกันเองโดยสภาวิชาชีพฯ และการกำกับดูแลโดย กสทช.ได้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2251 และพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 ซึ่งการตีความและบังคับใช้ในปัจจุบันยังคงจำกัดขอบเขตของการแพร่ภาพและกระจายเสียงโดยมุ่งเน้นรูปแบบของช่องรายการที่มีการเผยแพร่ผ่านคลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ดาวเทียม และสายเคเบิล แต่มิได้มีการตีความและบังคับใช้โดยครอบคลุมถึงการแพร่ภาพและกระจายเสียงในยุคอินเทอร์เน็ต ที่มีรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ ออนดีมานด์ และยังสามารถเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

ปัจจุบันสื่อในยุคอินเทอร์เน็ต มีบทบาทที่สำคัญและสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง แม้จะถูกบุกเบิกด้วย User Generated Content แต่ได้ถูกพัฒนามาเป็นช่องทางหลักของหลายช่องรายการ ทั้งนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของคำถามที่เกิดขึ้น ระหว่างเวทีเสวนา เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อผ่านช่องทางของอินเทอร์เน็ต เช่น YouTube ซึ่งปัจจุบันยังคงมิได้ถูกกำกับดูแลโดย กสทช หรือ สภาวิชาชีพฯ การกำกับดูแลของทั้ง กสทช และ สภาวิชาชีพฯ ยังคงถูกจำกัดอยู่เพียงการแพร่ภาพและกระจายเสียงในรูปแบบเดิม

แต่ถึงกระนั้น มีความสับสนในวงกว้าง ว่าทีวีดิจิทัล ที่กำลังดำเนินการจัดสรรโดย กสทช. คือการแพร่ภาพในยุคอินเทอร์เน็ต ทั้งที่จริงแล้ว เป็นแพร่ผ่านคลื่นความถี่ภาคพื้นดินในรูปแบบเดิม และปราศจากความเป็น อินเตอร์แอคทีฟ ออนดีมานด์ แต่เป็นการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การกำกับดูแลสื่อผ่านช่องทางของอินเทอร์เน็ต ยังคงเป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลการกระทำผิดต่อกฎหมาย และมีความแตกต่างกับการกำกับดูแลของ กสทช. และ สภาวิชาชีพฯ โดยมิได้มีบทบัญญัติเรื่อง จรรยาบรรณวิชาชีพ การกำกับดูแลกันเอง หรือการกำกับดูแลร่วมกัน เมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายบนอินเทอร์เน็ต จะถูกดำเนินการโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่เมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายหรือผิดจรรยาบรรณบนช่องสถานี จะถูกดำเนินการโดย สภาวิชาชีพฯ และ กสทช.

แม้ว่าปัจุบันเป็นยุคของการหลอมรวมสื่อ การแพร่ภาพและกระจายเสียง สามารถกระทำได้โดยผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต แต่การกำกับดูแลในปัจจุบัน ยังคงแบ่งแยกช่องทางของสื่อ ถึงแม้ว่าเนื้อหาจะเป็นประเภทเดียวกัน หรือกระทั่งจะเป็นรายการเดียวกัน แต่จะถูกกำกับดูแลอย่างแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับช่องทางของสื่อที่ใช้เผยแพร่ ว่าจะเป็นสื่ออินเทอร์เน็ต หรือสื่อในรูปแบบเดิม รอยต่อระหว่างสองหน่วยงานของรัฐ ถึงแม้จะเป็นเหตุผลของข้อกฎหมาย แต่สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบในวิชาชีพสื่อ ย่อมเป็นความสับสน และการได้รับความคุ้มครองอย่างไม่สม่ำเสมอไม่ทั่วถึง

ในขณะที่การกำกับดูแลภายใต้ สภาวิชาชีพฯ หรือ กสทช. จะเป็นรูปแบบที่ใหม่กว่า อยู่ภายใต้กฎหมายที่ทันสมัยกว่า และครอบคลุมแม้กระทั่งจรรยาบรรณวิชาชีพของวิชาชีพสื่อ แต่อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสื่อที่ใหม่กว่า กลับถูกกำกับดูแลโดยรูปแบบดั้งเดิม ยิ่งไปกว่านั้น สภาวิชาชีพฯ ต่างๆ และ กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัว สามารถออกกฎระเบียบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่น่าเสียดาย ที่ขอบเขตของการกำกับดูแล อาจต้องถูกจำกัดอยู่เพียงแต่สื่อในรูปแบบเดิม ทั้งที่ในยุคต่อไป ที่เป็นยุคดิจิทัล สื่ออินเทอร์เน็ตยิ่งจะมีบทบาทที่สำคัญ ในการเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง

การกำกับดูแลคอนเทนท์ในยุคดิจิทัล จึงยังมิใช่การกำกับดูแบบที่สมบูรณ์แบบ เพราะยังคงมีรอยต่อระหว่าง กสทช. และ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ยังคงสร้างความสับสนให้กับบุคคลทั่วไป ในอดีตที่ผ่านมา รอยต่อดังกล่าวอาจมิใช่ประเด็นสำคัญ

แต่ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เมื่อสื่อในยุคอินเทอร์เน็ตเริ่มมามีบทบาทที่สำคัญ จนมากกว่าสื่อในรูปแบบเดิม ร่อยต่อระหว่างการกำกับดูแล จะส่งผลสู่วงกว้าง จนทำให้ต้องมีการแก้ไขในที่สุด

Published in Krungthepturakij on August 6, 2013