อธิปไตยทางดิจิตอล อีกภัยคุกคามทางไซเบอร์

สองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ได้เขียนถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่มักจะอยู่ภายใต้เรดาร์ของการกำกับดูแลภายในประเทศไทย อันได้แก่

1. การลักลอบเข้าถึงระบบข้อมูลสารสนเทศหรือระบบการสื่อสาร เพื่อโจรกรรมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล อันมีความสำคัญต่อความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือของชาติ

2. การแผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง และหรือ

3. การทำลายระบบข้อมูลสารสนเทศหรือระบบการสื่อสาร

และยังได้กล่าวถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่อยู่นอกเหนือเรดาร์ของการกำกับดูแลในประเทศ กล่าวคือ การที่อุปกรณ์ทางดิจิตอล เช่น สมาร์ทโฟน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หรือโดรน ลักลอบส่งข้อมูลอันมีความสำคัญ กลับไปยังผู้ผลิตอุปกรณ์ในประเทศอื่น ที่เรียกกันว่า “Phone Home” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “โทรกลับบ้าน”

อย่างไรก็ดี แม้แต่ภัยสามประการแรก ที่การกำกับดูแลของไทย ให้ความสำคัญ ก็ยังคงมีการเข้าใจผิด ถึงแนวทางการปฏิบัติ ที่จะทำให้ประเทศ และสังคมไทย สามารถมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยในข้อ 2. การแผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการดิจิตอล และมีประสบการณ์มาช้านาน ย่อมต้องทราบดีว่า ปัญหาที่สำคัญของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของไทย มีต้นเหตุมาจากการสูญเสียอธิปไตยทางดิจิตอล หรือที่เรียกกันว่า “Digital Sovereignty” เมื่อข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ ที่ประชาชนคนไทยบริโภคในโลกดิจิตอล ได้รับการเผยแพร่มาจากดาต้าเซ็นเตอร์ที่อยู่ต่างประเทศ โดยอยู่นอกเหนือเขตอำนาจของศาลไทย ซึ่งก็หมายความว่าผู้ให้บริการทางดิจิตอลที่คนไทยนิยมใช้เหล่านี้ บางรายอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย

ที่ผ่านมา จึงเป็นการขอความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัทชั้นนำในโลกเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ เพื่อขอให้ยุติการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่ขัดต่อกฎหมายภายประเทศ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ มีสิทธิที่จะปฏิเสธ โดยอ้างว่ากฎหมายของประเทศเขาไม่เหมือนกับกฎหมายของเรา แต่ในบางครั้ง บริษัทเหล่านี้ ก็ยินยอมที่จะปฏิบัติตาม แต่แน่นอน กระบวนการการขอความร่วมมือระหว่างประเทศ มิได้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เท่ากับการกำกับดูแลผู้ให้บริการที่อยู่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการขอความร่วมมือแล้ว ยังมีกลไกที่สามารถป้องกันเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เพื่อมิให้สามารถถูกเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยได้ แต่กลไกนี้มีข้อจำกัดในเชิงของเทคโนโลยี กล่าวคือ การบล็อกเนื้อหาในปัจจุบัน จำเป็นต้องบล็อกทั้งเว็บไซต์ โดยที่มิสามารถบล็อกเพียงหน้าหนึ่งหน้าใดอีกต่อไป เพราะในปัจจุบัน บริษัทชั้นนำในโลกเทคโนโลยีล้วนใช้ HTTPS เพื่อเข้ารหัสการเข้าถึงเนื้อหา ดังนั้น มีเพียงแต่ผู้ให้บริการเช่น Facebook หรือ YouTube และผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้น ที่จะรู้ว่าเนื้อหาใดกำลังถูกรับชมโดยผู้บริโภคแต่ละคนอยู่ สำหรับบุคคลภายนอก แม้กระทั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จะเห็นแต่เพียงว่า ผู้บริโภคกำลังใช้บริการ Facebook หรือ YouTube อยู่ แต่จะไม่รู้ว่ากำลังรับชมเนื้อหาอะไร

ดังนั้น ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีนี้ หากต้องการบล็อกบางเนื้อหาบน Facebook หรือ YouTube เพืื่อไม่ให้ถูกเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทย จะทำได้แต่เพียงการบล็อกทั้ง Facebook หรือ YouTube และมิสามารถบล็อกบางเนื้อหาโดยเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งจะมีผลกระทบที่จะทำให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาอื่นๆ บนบริการเหล่านี้ได้

ปัญหาของอธิปไตยทางดิจิตอล มิใด้มีขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แม้แต่ในนานาอารยะประเทศ ก็มีการต่อสู้ของ กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เอเซีย หรือออสเตรเลีย เพื่อเรียกคืนอธิปไตยทางดิจิตอลที่ได้สูญเสียไป ให้กับบริษัทชั้นนำในโลกเทคโนโลยี ที่มักจะเป็นบริษัทข้ามชาติมาจากสหรัฐอเมริกา โดยการต่อสู้มีตั้งแต่

1. การออกกฎหมายบังคับให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ต้องมามีตัวตนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมาย เช่นการออกข้อบังคับมิให้ส่งข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนของชาติ ออกไปนอกประเทศ เช่นกรณีของสหภาพยุโรป vs Facebook

2. มาตรการทางภาษี ที่ลงโทษบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ เพื่อกดดันให้ต้องมามีตัวตนอยู่ภายใต้กฎหมาย และเสียภาษีอย่างถูกต้อง เช่นกรณีของ Google Tax ในรูปแบบของอังกฤษ

3. มาตรการทางภาษี ที่ลงโทษบริษัทในชาติที่ลงโฆษณากับบริษัทบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ เพื่อให้บริษัทในชาติ เป็นผู้กดดันให้บริษัทข้ามชาติ ต้องมามีตัวตนอยู่ภายใต้กฎหมาย เช่นกรณีของ Google Tax ในรูปแบบของอินเดีย

ปัญหาของอธิปไตยทางดิจิตอล มีตัวอย่างของประเทศต่างๆ ที่มีการต่อสู้และได้ผลได้ระดับหนึ่งแล้ว อาจถึงเวลาที่ประเทศไทย จะเริ่มมีผลักดันเพื่อให้เกิดยุทธศาสตร์ในด้านนี้ด้วย

Published in Krungthepturakij on August 29, 2017