รถยนต์ไร้คนขับ ครั้งแรกที่มีผู้เสียชีวิต
/ในแวดวงแห่งเทคโนโลยีชั้นสูง คงมีเพียงไม่กี่สิ่งอย่างที่น่าตื่นเต้นและสมควรติดตามไปยิ่งกว่า ความก้าวหน้าอย่างทะยานฟ้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แต่สำหรับในประเทศไทย เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ยังคงเป็นสิ่งที่ประชากรทั่วไปสามารถเข้าถึงและสัมผัสได้ยาก เพราะยังคงขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะไทย ได้ถูกพัฒนามาเป็นฐานของการผลิตรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก และรถยนต์ไร้คนขับ เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ความท้าทาย สำหรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ที่กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลง กับหลากหลายอุตสาหกรรม และส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้าง ถึงการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วไป ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
สิ่งที่ต้องจับตามอง คืออุบัติการณ์ของรถยนต์ไร้คนขับ จะส่งผลอย่างไรต่อพัฒนาการของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุทธศาสตร์การลงทุนของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
กระทรวงคมนาคมของสหรัฐ ได้นิยามรถยนต์ไร้คนขับไว้เป็น 5 ระดับ ดังนี้
ระดับ 0: รถยนต์ที่คนขับต้องควบคุมเองทั้งหมด
ระดับ 1: รถยนต์ที่มี ระบบอัตโนมัติที่สามารถควบคุม อย่างน้อยหนึ่งระบบ โดยแยกจากกัน เช่น ระบบควบคุมการทรงตัว หรือ ระบบเบรค
ระดับ 2: รถยนต์ที่มี ระบบอัตโนมัติที่สามารถควบคุม อย่างน้อยสองระบบ โดยควบคุมร่วมกัน เช่น ระบบควบคุมความเร็ว ร่วมกับ ระบบรักษาสถานะให้อยู่ในเลน
ระดับ 3: รถยนต์ที่คนขับ สามารถปล่อยวางจากการควบคุมรถยนต์ได้ ในบางสถานการณ์ และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง รถยนต์สามารถเตือนให้คนขับกลับมาควบคุมรถยนต์ได้ อย่างทันท่วงที Google Car ยังคงอยู่ในระดับนี้
ระดับ 4: รถยนต์ที่คนขับ สามารถปล่อยวางจากการควบคุมรถยนต์ได้ ในทุกสถานการณ์ ทั้งนี้ ในรถยนต์อาจไม่ต้องมีคนเลยก็ได้
หลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีการแถลงการณ์เพื่อการกำหนดเป้าหมายของการผลิตรถยนต์ไร้คนขับ ไม่ว่าจะเป็น ค่ายผลิตรถยนต์ ทั้งยักษ์ใหญ่รายเดิม ที่เราคุ้นเคยกัน หรือจะเป็นสตาร์ทอัพรายใหม่ ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป หากจะมีค่ายผลิตรถยนต์ อีกสักรายสองราย ที่ออกแถลงการณ์ กำหนดเป้าหมายของการผลิตรถยนต์ไร้คนขับ ในอนาคตอันใกล้นี้
เป้าหมายของค่ายผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ อยู่ระหว่าง ระดับ 3 และ ระดับ 4 นั่นก็คือ รถยนต์ที่คนขับ สามารถปล่อยวางจากการขับรถได้ ในบางสถานการณ์ จนถึง รถยนต์ที่คนขับ สามารถปล่อยวางจากการขับรถได้ ในทุกสถานการณ์
อย่างไรก็ดี ได้มีเหตุการณ์ระทึกขวัญ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในแวดวงของรถยนต์ไร้คนขับ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิต และทำให้หลายฝ่ายต้องกลับมาทบทวน ความคาดหวังจากรถยนต์ไร้คนขับ
สองเดือนที่ผ่านมา ในสหรัฐ รถยนต์ที่มีระบบไร้คนขับของ Tesla รุ่น Model S Autopilot ได้ประสบอุบัติเหตุ ชนท้ายรถบรรทุก 18 ล้อ ที่เลี้ยวตัดหน้าบนทางด่วน โดยคนขับรถ Tesla ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าว
จากการสัมภาษณ์ คนขับรถบรรทุก ได้ให้ข้อมูลว่า คนขับรถ Tesla ไม่ได้ลดความเร็วลงเลย และได้พุ่งชนรถบรรทุกของตนด้วยความเร็วอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ คนขับรถ Tesla กำลังชมภาพยนต์เรื่อง Harry Potter ในขณะที่กำลังขับรถ จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า คนขับรถ Tesla ได้ให้ความเชื่อมั่นกับระบบไร้คนขับมากเกินไป
อย่างไรก็ดี Tesla และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงว่า Model S Autopilot เป็นเพียงรถยนต์ไร้คนขับในระดับ 2 ซึ่งคนขับ ยังไม่สามารถปล่อยวางจากการควบคุมรถยนต์ได้ แต่คนขับหลายท่าน กลับเข้าใจผิดและให้ความเชื่อมั่นว่า Tesla เป็นรถยนต์ไร้คนขับในระดับ 3 ซึ่งคนขับ สามารถปล่อยวางจากการควบคุมรถยนต์ได้ ในบางสถานการณ์ จึงเป็นการใช้ระบบไร้คนขับอย่างไม่ถูกวัตถุประสงค์ และเกิดจากการเข้าใจผิด
สำหรับอุบัติเหตุในครั้งนี้ ระบบไร้คนขับของ Tesla รวมทั้งคนขับ ไม่สามารถสังเกตุเห็นรถบรรทุก เนื่องจากสีของรถบรรทุก เป็นสีเดียวกันกับท้องฟ้าในขณะนั้น
แต่ถึงกระนั้น อุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ ได้ทำให้เกิดคำถามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นของกฎหมายและการกำกับดูแล ในกรณีของ รถยนต์ไร้คนขับ ในระดับ 3 และ ระดับ 4 ที่คนขับ สามารถปล่อยวางจากการขับรถได้ ถึงขอบเขตของการรับผิด ระหว่างคนขับ และ ผู้ผลิตรถยนต์เช่น Tesla และรวมทั้งการมาตรการการรักษาความปลอดภัยในภาพรวม ที่จำเป็นต้องออกมา ก่อนที่รถยนต์ไร้คนขับจะถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ในอนาคตอันใกล้นี้
ที่น่าติดตาม เพราะการรับผิดของผู้ผลิตรถยนต์ไร้คนขับ หากถูกกำหนดอย่างขาดดุลยภาพ อาจเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจที่ไม่คุ้มค่า ต่อการที่ค่ายผลิตรถยนต์ จะมาลงทุนในระบบไร้คนขับ ต่อไปในอนาคต
อีกปัญหาหนึ่ง คือระบบไร้คนขับของ Tesla ยังคงถือเป็นการทดสอบสินค้าสาธารณะก่อนวางจำหน่าย (Public Beta) จึงมีคำถามถึงความเหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายของการทดสอบระบบไร้คนขับบนถนนสาธารณะ จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิต
อุบัติการณ์ดังกล่าว เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับในประเทศไทย ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์สูงกว่าสหรัฐ และอีกหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว
รถยนต์ไร้คนขับ เป็นเพียงบริบทหนึ่งของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ที่น่าสนใจ และสมควรติดตามในยุคปัจจุบัน หุ่นยนต์ที่ทดแทนมนุษย์ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในอีกหลายอุตสาหกรรม และส่งผลกระทบอย่างคาดไม่ถึง ต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก หลายสิ่งอย่าง กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่หลายคนเคยคิด
Published in Krungthepturakij on July 5, 2016