ดิจิทัลอีโคโนมี: ความสำเร็จที่สัมผัสได้ ในสายตาต่างชาติ
/เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ เวิร์ด อีโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economics Forum) ได้จัดทำรายงาน เน็ตเวิร์ค เรดิเนส อินเด็กซ์ (Network Readiness Index) ซึ่งเป็นการจัดอันดับ ความพร้อมของแต่ละประเทศ ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการพัฒนาและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ
ซึ่งจากปีก่อนหน้านี้ (2015) World Economics Forum ได้ใช้ชื่อธีมว่า ไอซีทีเพื่อการเติบโตที่เข้าถึงได้อย่างทั่วถึง (ICTs for Inclusive Growth) แต่ในปีนี้ (2016) ได้ใช้ชื่อว่า นวัตกรรมในเศรษฐกิจดิจิทัล (Innovating in the Digital Economy) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ต่างชาติ ได้มองว่าเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นบริบทที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งไม่ต่างกับมุมมองและยุทธศาสตร์ของประเทศไทย
ยิ่งไปกว่านั้น World Economics Forum ยังได้ยกระดับความพร้อมของประเทศไทยขึ้นเป็นอันดับที่ 62 และอยู่หลังประเทศจีนเพียง 2 อันดับ สำหรับปี 2016 ซึ่งเป็นการพัฒนาขึ้นจากปี 2015 และ 2014 ที่ประเทศไทย เคยถูกจัดเป็นอันดับที่ 67 จากทุกประเทศในโลก เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง พัฒนาการของประเทศ ในด้านของดิจิทัลอีโคโนมี ที่สัมผัสได้ ในสายตาของต่างชาติ ที่ได้จัดทำการเปรียบเทียบความพร้อมของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมิติที่ประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ ได้รวมไปถึง บทบาทของภาครัฐ ในการสนับสนุน ดิจิตอลอีโคโนมี ด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายต่างๆ ซึ่งประเทศไทย ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นอันดับที่ 94 สำหรับปี 2016 จากเดิมที่เคยอยู่อันดับที่ 113 สำหรับปี 2015
และในอีกมิติหนึ่ง ที่ประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ ก็เป็นบทบาทของภาครัฐอีกเช่นกัน คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิตอลโดยภาครัฐ ซึ่งประเทศไทย ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นอันดับที่ 90 สำหรับปี 2016 จากเดิมที่เคยอยู่อันดับที่ 113 สำหรับปี 2015
นอกเหนือจากนี้ การวัดอันดับความสำคัญของเทคโนโลยีไอซีที ต่อวิสัยทัศน์ของภาครัฐ สำหรับประเทศไทยนั้น ก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นอันดับที่ 72 สำหรับปี 2016 จากเดิมที่เคยอยู่อันดับที่ 96 สำหรับปี 2015
การที่ขึ้นมาราว 20 อันดับ ในช่วงเวลาเพียงปีเดียว ในมิติที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของภาครัฐ เป็นการชี้วัดว่า ต่างชาติสามารถสัมผัสได้ ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม จากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี ยังคงมีสิ่งหนึ่ง ที่มิอาจที่จะมองข้าม ก็คือ ในปี 2016 เพื่อนบ้านของไทย สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ถูกจัดอันดับความพร้อม ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ไว้อยู่อันดับที่ 1 และ 31 ตามลำดับ ซึ่งสำหรับ สิงคโปร์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจาก 2015 แต่มาเลเซีย ถูกยกขึ้นมาจากอันดับที่ 32 ในปี 2015
ความสำเร็จของประเทศไทย ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เราก็ยังคงตามหลัง สิงคโปร์ และ มาเลเซีย เป็นอันดับ 3 จาก 10 ประเทศในอาเซียน
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ทั้งสองประเทศ ได้มียุทธศาสตร์ดิจิทัลอีโคโนมี มาก่อนประเทศไทยอย่างเป็นเวลานานกว่าทศวรรษแล้ว จนกระทั่ง สิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ของไทย สามารถมีความพร้อมทางดิจิตอลเป็นอันดับ 1 เหนือกว่าประเทศอื่นใดในโลกนี้ ทั้งหมดทั้งปวง
จึงแสดงให้เห็นว่า การที่ประเทศไทย คาดหวังจะเป็นศูนย์กลางทางดิจิทัลของอาเซียน ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังต้องก้าวข้ามทั้งสองประเทศนี้ไปก่อน และสิงคโปร์ ก็ได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกทางดิจิทัลอีโคโนมีไปแล้ว
แต่ถึงกระนั้น ดิจิทัลอีโคโนมี ของประเทศ ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็น งาน Startup Thailand และ Digital Thailand ก็พึ่งผ่านพ้นไปเพียงไม่กี่เดือน หรือ การตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็พึ่งผ่านการเห็นชอบอย่างเป็นทางการ
และในปัจจุบัน กฎหมายดิจิทัล 3 ฉบับ ก็ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา โดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
แต่อีกไม่กี่เดือน เมื่อกฎหมายดิจิทัล ทั้ง 3 ฉบับ และที่เหลือที่กำลังตามมา ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ถูกจัดตั้งอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และ แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ถูกขับเคลื่อนไประยะหนึ่งแล้ว
เป็นสิ่งที่สมควรติดตามอย่างยิ่ง เมื่อ World Economics Forum ได้กลับมาจัดอันดับความพร้อมของประเทศไทยอีกครั้งในปี 2017 ว่าอันดับของประเทศไทย จะมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ยิ่งกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่ เมื่อเครื่องยนต์ของดิจิทัลอีโคโนมีของประเทศ ได้ถูกขับเคลื่อนอย่างเต็มสูบ จนอานิสงส์ได้ปรากฏทั่วทุกหย่อมหญ้าแล้ว
ถึงไทยจะเริ่มช้า แต่มาช้าดีย่อมกว่าไม่มา
Published in Krungthepturakij on July 19, 2016