สัมภาษณ์ ดร. อธิป ปิดดีล iPhone ให้ TrueMove ใน 7 วัน
/“ทรูมูฟ คว้าสิทธิทำตลาดไอโฟนในไทย” ถือเป็นข่าวแรงเบียดโค้งสุดท้ายปี’51ในแวดวงไอซีทีแต่มีไม่กี่คนที่ทราบว่าเบื้องหลังความสำเร็จของดีลครั้งนี้ คือ ทักษะในการเจรจาระดับอินเตอร์ของ “อธิป อัศวานันท์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ซึ่งเป็นทายาทมือกฎหมายแถวหน้ากลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น
นักวิจัยระดับโลกคืนบ้านเกิด
แม้จะมีคุณพ่อ (อธึก อัศวานันท์) เป็นนักกฎหมายที่โด่งดังระดับแถวหน้า แต่ "อธิป" กลับเลือกเส้นทางการศึกษาในสายวิชาการมาโดยตลอด และยังมีผลงานบนเวทีระดับโลก เมื่อผลงานวิจัยหัวข้อ "ออนไลน์ คอมมูนิตี้" สามารถคว้ารางวัล "เดอะ เบสต์ รีเสิร์ช" จาก International Conference on Information Systems (ICIS 2002) ประเทศสเปน
ตลอดระยะเวลาการศึกษา 5 ปี ในระดับปริญญาเอกนั้น เขาได้รับทุนการศึกษาทั้ง 100% และเงินเดือน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ "คาร์เนกี้ เมลอน" และ US Department of Defense and National Science Foundation กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา
"อธิป" เล่าว่า ขณะที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทนั้น ออนไลน์เพิ่งเข้ามาในโลกคอมพิวเตอร์ ดอทคอม กำลังน่าสนใจ โดยรูปแบบการวิจัย เขาได้นำเอาความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาค กับทฤษฎี เกม มาใช้ในการบริหารออนไลน์ คอมมูนิตี้ ภายในเงื่อนไข เกณฑ์ต่างๆ แล้วศึกษาผลที่เกิดจากการวางเงื่อนไขแต่ละแนวทาง และภายหลังได้ใส่เรื่องเสิร์ช เอ็นจิ้น เข้าไป
"หลังจากสำเร็จการศึกษา นอกเหนือจากผลงานได้รับรางวัลที่สเปนแล้ว ยังได้มีโอกาสตีพิมพ์ในวารสาร Ia premium journal in Information Systems (A-Journal) ซึ่งต้องขับเคี่ยวแข่งขันกับคนเก่งๆ ในหลายมหาวิทยาลัย และเคยไปร่วมงานที่ยักษ์ไอทีอย่าง เอชพี ระยะหนึ่ง แต่กลับมาเมืองไทย เพราะคิดว่าถ้านำความรู้กลับมาใช้ประโยชน์พัฒนาประเทศได้ ดีกว่าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา"
ดังนั้นเขาจึงพกพาความรู้จากปริญญา 5 ใบ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ในสาขาเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์, ระดับปริญญาโท ด้านอินฟอร์เมชั่น เน็ตเวิร์ค และปรัชญา, ระดับปริญญาเอกสาขาบริหารคอมพิวเตอร์ เข้ามาร่วมงานกับทรู เมื่อปี 2547
หนังสือจุดเริ่มต้นความรู้
"อธิป" เล่าย้อนไปถึงแรงบันดาลใจ และการบ่มเพาะให้เขากลายเป็นคนที่ได้รับการยอมรับในเวทีวิชาการระดับโลก จนมาถึงการทำงานก็คือ มาจากที่คุณพ่อ มีหนังสือให้อ่านมาก และเขาเป็นเด็กที่ป่วยด้วยโรคหอบ ทำให้เล่นกีฬาอย่างเพื่อนๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นโลกของเขาจึงอยู่กับตัวเองค่อนข้างมาก
หนังสือที่เขาอ่าน เป็นหนังสือประเภทเปิดโลก ให้เรียนรู้ได้กว้างอย่างเอ็นไซโคพีเดีย และเมื่อเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ประมาณปี 2526 ก็ได้รับคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม ซึ่งจอยังเขียวๆ แต่ราคาหลายแสนบาท เป็นอุปกรณ์คู่กาย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มของการสนใจเทคโนโลยี
เขานั่งเขียนโปรแกรม ชอบฟอร์แมท สนใจคอมพิวเตอร์ กราฟฟิก ขณะเดียวกัน ก็ชอบตัวเลข สถิติ นั่นจึงมีผลทำให้เขาขอไปศึกษาต่างประเทศ อีกทั้งยอมรับด้วยว่า เมื่อศึกษาอะไร จะต้องรู้ให้ลึกซึ้งถึงแก่นในวิชา หรือศาสตร์นั้นๆ เพราะ "ชอบแข่งขันกับตัวเอง"
"ทรู" เปิดทางสร้างฝัน
ด้วยนามสกุล ในกลุ่มซีพี จรดทรู ไม่มีใครไม่รู้จัก หากเส้นทางสู่การทำงานในองค์กรนี้ ไม่ใช่เพราะใคร แต่เป็นเพราะองค์กรเปิดโอกาสให้เขานำความรู้ที่มีทั้งในเชิงลึกอย่างละเอียด และกว้าง มาใช้ได้อย่างเต็มที่
"ถ้าไปองค์กรเล็กๆ ก็ไม่สามารถใช้ศักยภาพได้ทุกด้านอย่างเต็มที่ ส่วนจะไปองค์กรข้ามชาติที่มาตั้งในไทย ก็ต้องรับแนวทางการวางกลยุทธ์จากสำนักงานใหญ่ หรือในภูมิภาค ที่นี่จึงเป็นที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งตรงกับความตั้งใจที่นำความรู้ทางด้านวิชาการมาผสมผสานกับตัวเลขจริง ๆ ได้อย่างไร"
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เคยสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ในสหรัฐ มีลูกศิษย์เป็นชาวต่างชาติ หรือฝรั่ง เมื่อเข้าทำงานก็มีลูกน้องเป็นฝรั่ง ดังนั้นเมื่อมาทำงานในไทย ความคุ้นเคยดังกล่าว ทำให้สามารถติดต่อกับฝรั่งได้คล่องตัวกว่าหลายๆ คน เพราะรู้แนวคิดของฝรั่ง บางคนอาจบอกว่าเพราะภาษาอังกฤษที่แตกฉาน แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเพราะเข้าใจแนวคิดของพวกเขามากกว่า
นำทีม "ปิดดีล" แอ๊ปเปิ้ล
ดังนั้นในระยะหลังๆ เมื่อดีลยากๆ รวมถึงล่าสุดที่ถูกจับตาจากภายนอก และบริษัทอยากได้ดีลนี้มาก เช่น นำไอโฟน จากแอ๊ปเปิ้ล มาทำตลาดในไทย เขาจึงได้รับมอบหมายให้นำทีมไปเจรจาเพื่อให้ได้ดีลนี้มา ซึ่งมีหลายบริษัทที่เข้าไปเจรจา หากยังไม่มีข้อสรุป ขณะที่เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมาก
"อธิป" บอกว่า ดีลนี้ใช้เวลาเตรียมตัวหลังได้รับมอบหมาย และปิดดีลนี้ได้ภายใน 1 สัปดาห์ เป็นไปตามภารกิจสำคัญ ที่เขาต้องสร้างนวัตกรรม ตลอดจนหาพันธมิตรเสริมแกร่งให้ทรูมูฟ โดยตำแหน่งเขาขึ้นตรงกับซีอีโอ หากในการทำตลาดไอโฟน เป็นบทบาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับเขา
ความสำเร็จต่างๆ นี้ สำหรับเขาแล้ว "ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน" แต่เป็นการหล่อหลอม สนับสนุนทั้งจากครอบครัว ตัวเองที่มีความสนใจ ซึ่งคงไม่ง่ายที่ทุกคนที่มีความฝันจะไปถึงเส้นชัยได้
รัฐต้องสร้างเยาวชนไทยไต่บันไดโลก
"อธิป" ยังขยายมุมมองมาสู่ภาพที่กว้างขึ้นว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดความพร้อมสำคัญคือ "เงินทุน" ขณะที่ต่างประเทศ จะมีแหล่งเงินทุนเข้ามาเสนอให้กับนักศึกษาที่เก่งๆ ให้เลือกทั้งเงินเดือน หรือเงินก้อนโต
ฉะนั้นถ้ารัฐให้การสนับสนุนช่องโหว่ดังกล่าว ก็จะส่งเสริมประเทศพัฒนาได้อย่างแข็งแกร่ง เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง โดยเยาวชนที่เก่งๆ ในพื้นที่ห่างไกล จะเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทั่วโลก เนื่องจากมหาวิทยาลัยทั้งในสหรัฐ และยุโรป ก็จะนำบทความหรือผลงานวิจัยลงเว็บของมหาวิทยาลัยทั้งนั้น แต่รัฐก็ต้องเน้นพัฒนาระบบการเรียนภาษาอังกฤษของเยาวชนไทย ให้มีศักยภาพพอที่จะอ่านบทความวิชาการให้เข้าใจด้วยตัวเองได้
"คนเก่งๆ ของไทยขาดการศึกษาในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เมื่อเรียนวิศวกรรมตอนปริญญาตรี พอไปศึกษาต่อส่วนใหญ่ก็เรียนต่อเอ็มบีเอกันทั้งนั้น อาจเป็นเพราะเราไม่มีโรล โมเดล ขณะที่อินเดียจะมีผู้ก่อตั้งอินโฟซิส เป็นโรล โมเดล หรือสหรัฐ ก็มีบิลล์ เกตส์, สตีฟ จ็อบ"
Published in Krungthepturakij on January 5, 2009