อนาคตการรับชมโทรทัศน์ภายหลังจากทีวีดิจิทัล
/กระทั่งวันนี้ การรับชมโทรทัศน์ในประเทศไทย ยังไม่สามารถก้าวข้ามประเด็นถกเถียง ระหว่าง "ดิจิทัล อนาล็อก ดาวเทียม และเคเบิล"
9 เดือนเต็มภายหลังการประมูลทีวีดิจิทัล ที่ กสทช. สามารถนำเงินเข้ารัฐได้ถึง 50,862 ล้านบาท แต่อุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า "ทีวีดิจิทัล" กลับยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีสมรรถภาพ ในขณะที่รายได้โฆษณาและจำนวนของผู้รับชมส่วนมาก ยังคงกระจุกตัวอยู่กับอุตสาหกรรมเก่า ทีวีอนาล็อก ช่อง 3 5 7 9 11 และไทยพีบีเอส ปัจจุบันช่องทีวีอนาล็อก สามารถคิดอัตราโฆษณาได้ในราคาหลายแสนบาทต่อนาที ในขณะที่ช่องทีวีดิจิทัลบางช่อง ยังคงคิดอัตราโฆษณาในราคาที่หลักพันบาทต่อนาที
ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น อาจเป็นเพียงเส้นผมบังภูเขา ของปัญหาที่แท้จริงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น ทีวีดิจิทัล ทีวีอนาล็อก ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ที่เจนเนอเรชันใหม่ของผู้บริโภค เลือกที่จะ "ไม่รับชม" โทรทัศน์ในรูปแบบปัจจุบัน แต่หันไปเสพโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ (ใหม่กว่าทีวีดิจิทัล) ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต และสามารถรับชมผ่านอุปกรณ์อะไรก็ได้ ได้แก่ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ ในขณะที่โทรทัศน์ทั่วโลกได้กลายมาเป็นเป็นศูนย์รวมของประชากรสูงอายุ
ในสหรัฐอายุเฉลี่ยของผู้รับชมโทรทัศน์อยู่ที่ 54 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยของผู้รับชม CNN สถานีข่าวชื่อดัง อยู่ที่ 60 ปี และอายุเฉลี่ยของผู้รับชม Fox News สถานีข่าวชื่อดังอีกช่องหนึ่งอยู่ที่ 68 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ช่องโทรทัศน์ในสหรัฐได้มีการปรับตัวเพื่อนำเสนอเนื้อหาสาระที่ตรงต่อช่วงอายุของผู้รับชมมากขึ้น โดยสามารถสังเกตได้จากซีรีส์ดังในสหรัฐ ตัวเอกมักอยู่ในช่วงอายุที่สูงกว่า 50 และ 60 ปี และรูปแบบของโฆษณาที่ถูกนำเสนอผ่านโทรทัศน์ในสหรัฐ ได้ปรับเปลี่ยนมามุ่งเน้นสำหรับผู้บริโภคสูงอายุทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดีอายุเฉลี่ยของประชากรสหรัฐอยู่ที่ 37 ปี ไม่มีความแตกต่างกับอายุเฉลี่ยของประชากรไทย จึงอาจคำถามว่า เจนเนอเรชันใหม่ของผู้บริโภคในสหรัฐ หากไม่ได้รับชมโทรทัศน์ในรูปแบบเดิมแล้ว เลือกที่จะรับชมอะไร คำตอบก็คือ โทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ได้กล่าวถึงแล้วในขั้นต้น
ไม่เพียงเท่านี้การที่เจนเนอเรชันใหม่ของผู้บริโภคในสหรัฐเลือกที่จะไม่ดูโทรทัศน์ ได้มีผลต่อการวัดเรทติ้งของรายการโทรทัศน์ ซึ่งลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และปัจจุบันจำนวนครัวเรือนที่ไม่มีเครื่องรับโทรทัศน์เลยได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นที่น่าตกใจ ไม่ต่างกับครัวเรือนที่ไม่มีโทรศัพท์บ้าน ในยุคแรกที่โทรศัพท์มือถือเริ่มใช้งานอย่างแพร่หลาย
อีกมุมหนึ่ง ยอดขายของ DVD และ Blu-ray ในสหรัฐ ซึ่งเป็นช่องทางปัจจุบันของการขายภาพยนตร์และซีรีส์ก็ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยอดขายของภาพยนตร์และซีรีส์ในรูปแบบของ Download และ Streaming ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อการรับชมผ่าน อุปกรณ์ เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ มียอดขายขยายตัวอย่างรวดเร็ว และจะมีมูลค่าสูงกว่าอุตสาหกรรม DVD และ Blu-ray ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
การเสื่อมถอยของโทรทัศน์ในสหรัฐไม่ใช่เรื่องที่แปลก เมื่อเปรียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่าง ประเทศอังกฤษ สัดส่วนมูลค่าโฆษณาบนโทรทัศน์ ลดลงเหลือ 27% ในปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนการโฆษณาบนโลกอินเทอร์เน็ตได้ขยายตัว 44% ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนมูลค่าโฆษณาบนโทรทัศน์สูงถึง 62% และสัดส่วนโฆษณาบนโลกอินเทอร์เน็ตเพียง 3% จึงเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงพัฒนาการที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างประเทศไทย กับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
ด้วยส่วนแบ่งการตลาดโฆษณาที่ยังคงสูงของโทรทัศน์ในไทย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ทุกฝ่ายจะให้ความสำคัญกับการเกิดของทีวีดิจิทัล อย่างไรก็ดีได้มีบทวิเคราะห์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เปรียบเทียบการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลในฝรั่งเศสเมื่อ 9 ปีก่อนและให้เหตุผลว่าในเวลานั้นของฝรั่งเศสมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับไทยในปัจจุบัน ซึ่งฝรั่งเศส ต้องใช้เวลาถึง 3 และ 5 ปี กว่าช่องดิจิทัลใหม่จะได้สัดส่วนรายได้มากกว่า 5 และ 20% ของรายได้โฆษณาโทรทัศน์ทั้งหมด
เมื่อหวนกลับมามองประเทศไทย ย่อมต้องคำนึงด้วยว่า ผู้ประกอบการใหม่ในทีวีดิจิทัลกลับมีจำนวนมากกว่าช่องทีวีอนาล็อกเดิมหลายเท่าตัว สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือจะต้องใช้เวลาอีกกีปีกว่าผู้ประกอบการใหม่ในทีวีดิจิทัลจะมีส่วนแบ่งรายได้เพียงพอต่อการแข่งขันได้ในอุตสากรรม
แต่นั่นไม่ใช่คำถามที่แท้จริงของบทความนี้ ซึ่งมีอยู่ว่า กว่าจะถึงเวลาที่ทีวีดิจิทัลจะสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรม จะเป็นไปได้ไหมว่าการเสื่อมถอยของโทรทัศน์ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นก่อน และทำให้สิ่งที่ทุกฝ่ายกำลังถกเถียงระหว่าง ดิจิทัล อนาล็อก ดาวเทียม และเคเบิล กลับเป็นความว่างเปล่า เพราะประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะได้เปลี่ยนไปเสพโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต ก่อนที่จะถึงเวลาคืนทุนของทีวีดิจิทัล?
ความแตกต่างที่สำคัญ ระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว คือประเทศที่พัฒนาแล้วได้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีดิจิทัล ก่อนการกำเนิดของโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ในประเทศไทย ทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นหลังประเทศที่พัฒนาแล้วราว 10 ปี และเป็นการเกิดขึ้นหลังการกำเนิดของโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ในประเทศไทย เจนเนอเรชันใหม่ของผู้บริโภคล้วนรู้จักการเข้าถึง YouTube ผ่าน สมาร์ทโฟน แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ หลายปีก่อนที่จะเริ่มมีการพูดถึงทีวีดิจิทัลในไทย
อนาคตของการรับชมโทรทัศน์ ภายหลังจากทีวีดิจิทัล จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย จะไม่ซ้ำกับ Case Study จากประเทศอื่นๆเลย
Published in Krungthepturakij on September 2, 2014