ประสบการณ์ Omni Channel จากใจกลางกรุงลอนดอน (2)

สืบเนื่องจากประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ของการประยุกต์ใช้ Omni Channel จากใจกลางกรุงลอนดอน จึงละเว้นมิได้ ที่ต้องกล่าวถึง เทคโนโลยี QR Code ซึ่งเป็น Key Enabler ที่สำคัญของ Omni Channel ในยุคปัจจุบัน และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศอังกฤษ ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะสามารถนำไปสู่นวัตกรรม Machine to Machine (M2M) ที่กำลังจะเป็นอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ ในอีกไม่นานข้างหน้านี้

QR Code คือบาร์โค้ดสองมิติ ที่สามารถอ่านได้ด้วยโทรศัพท์มือถือที่มีกล้อง สมาร์ตโฟน และเครื่องสแกน​​​ QR อื่นๆ

สำหรับคนไทย ประสบการณ์ QR Code ที่คุ้นเคยที่สุด ย่อมต้องหนีไม่พ้นการ Add เพื่อนใน Line โดยอาศัยกล้องบนโทรศัพท์มือถือทำการสแกน QR Code ที่อยู่บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือของเพื่อน

QR Code ไม่ใช่เทคโนโลยีที่แปลกใหม่ แม้กระทั่งในประเทศไทย ก็ริเริ่มมีใช้งานมาแต่ยุคแรกของโซเชียลมีเดีย เพียงแต่ในประเทศไทย Qr Code มีการแพร่กระจายตามลักษณะของกระแสนิยม แต่หาได้มีความสม่ำเสมอ ในขณะที่สำหรับประเทศอังกฤษ QR Code กลับเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญสำหรับ Omni Channel โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องการสื่อสารข้อมูลจากอุปกรณ์หนึ่ง ไปสู่อีกอุปกรณ์หนึ่ง อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องตั้งค่าให้ทั้งสองอุปกรณ์สามารถสื่อสารถึงกันและกันได้

ยกตัวอย่างเช่น ในร้านค้าที่ได้ติดตั้งแท็บเล็ตเพื่อที่จะให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงช่องทางของอีคอมเมิร์ซ ในขณะที่ยังอยู่ภายในร้าน แต่หากลูกค้ามีความประสงค์ที่จะเข้าสู่อีคอมเมิร์ซโดยอาศัยอุปกรณ์สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตของตนเอง ก็จะสามารถใช้ QR Code เพื่อสื่อสารข้อมูลของสินค้านั้นๆ จากแท็บเล็ตของร้าน เข้าสู่อุปกรณ์ของลูกค้าได้ ซึ่งลูกค้าอาจทำการสั่งซื้อในทันทีผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ หรือเก็บข้อมูลของสินค้าเอาไว้ เพื่อนำไปศึกษาต่อที่บ้าน

ข้อได้เปรียบของ QR Code คือการที่เป็นบาร์โค้ดและสามารถถูกพิมพ์ใส่กระดาษได้ การสื่อสารด้วย QR Code จึงไม่จำเป็นต้องเป็นการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์และอุปกรณ์เสมอไป ร้านค้าจำนวนมากในลอนดอน ได้พิมพ์ QR Code ไว้ที่ฉลากของสินค้าที่อยู่บนชั้นวางของ ซึ่งลูกค้าสามารถใช้สมาร์ตโฟนของตนสแกน เพื่อเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของสินค้านั้นๆ และเชื่อมต่อเป็นระบบอีคอมเมิร์ซได้

แม้กระทั่งการขนส่งมวลชนสาธารณะอย่างเช่นรถไฟ ในประเทศอังกฤษ ยังได้ประยุกต์ใช้งาน QR Code โดยที่ผู้โดยสารสามารถแสดง QR Code บนสมาร์ตโฟนของตนเข้าสู่เครื่องสแกน QR Code ของสถานีรถไฟ เพื่อความคล่องตัวในการเดินทางที่ไม่ต้องพกพาตั๋วที่เป็นกระดาษ

นอกจากอังกฤษแล้ว ในประเทศใกล้เคียงอย่างเช่นเบลเยียม ได้มีความร่วมมือระหว่างกลุ่มธนาคารและผู้ให้บริการโทรคมนาคม ในการให้บริการการโอนเงินและจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยอาศัย QR Code ได้อย่างง่ายดายในรูปแบบที่เปรียบเสมือนการ Add เพื่อนใน Line อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่บทความที่จะเขียนชื่นชมความสำเร็จของเทคโนโลยี QR Code ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากหลายทศวรรษที่แล้ว หากแต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงความต้องการ (Demand) ของนวัตกรรมใหม่ที่กำลังจะตามมา นั่นก็คือ M2M หรือการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะใกล้ ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนา Omni Channel ในยุคปัจจุบัน นวัตกรรมเหล่านี้ พร้อมที่จะมาแทนที่ QR Code เพื่อให้ประสบการณ์ที่ดีกว่าสำหรับลูกค้า เมื่อมีการแพร่กระจายที่เพียงพอ

Near Field Communication (NFC) เป็นรูปแบบหนึ่งของเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารระยะใกล้ ที่จะสามารถทำได้มากยิ่งกว่า QR Code เพราะเป็นการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ ที่สามารถเป็นอินเทอร์แอคทีฟ แทนที่จะเป็นการนำเสนอภาพนิ่ง อย่างเช่น QR Code เพื่อที่จะถูกสแกนด้วยกล้อง NFC ได้มีการประยุกต์ใช้มาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มสมาร์ตโฟนที่ใช้ระบบแอนดรอยด์ เหลือเพียงแต่ไอโฟน ที่พึ่งจะมารองรับ NFC ตั้งแต่รุ่น iPhone 6 ในปีที่ผ่านมา การแพร่กระจายของ NFC จึงยังมีข้อจำกัด แต่หลากหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ ได้เดิมพันลงทุนกับความสำเร็จของเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ยังมีอีกมากมายหลายรูปแบบของเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ มีการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณระยะใกล้ ในรูปแบบที่คล้าย iBeacon ซึ่งคอยสื่อสารกับสมาร์ตโฟนของลูกค้าเมื่อเดินทางเข้ามาใกล้ในระยะ 50 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่เพียงพอที่ทำให้รู้ว่าลูกค้าได้เข้ามาอยู่ในร้านหรือใกล้ร้าน เพื่อที่จะยื่นโปรโมชั่นที่พิเศษสุด สำหรับลูกค้าผู้นั้น เมื่อเขาได้เข้ามาอยู่ในร้าน

ข้อควรสังเกตของเทคโนโลยีเหล่านี้ คือล้วนมีความเกี่ยวพันกับพัฒนาการของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือและสมาร์ตโฟน ในปัจจุบัน แทบทุกเครื่องมีกล้อง จึงสามารถใช้สแกน​​​ QR Code ได้ แต่ในอนาคตอันใกล้ สมาร์ตโฟนจะมีการควบรวมของเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อการสื่อสารและวัดผลอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อการแพร่กระจายสู่จุดที่เหมาะสม จะนำไปสู่ปฏิบัติการที่เข้มข้นยิ่งขึ้นของ Omni Channel ต่อไป

สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณ ทีมงานของ Accenture ที่รบกวนเป็น Host ในการศึกษาดูงาน และให้ความรู้โดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก

Published in Krungthepturakij on February 17, 2015