OTT ธุรกิจแสนล้านที่ไม่ต้องลงทุน
/คงจะเป็นเรื่องแปลก หากจะมีใครสักคนในประเทศไทย ที่ใช้สมาร์ทโฟนและยังไม่รู้จัก App ที่เรียกว่า Line หรือ WhatsApp ปัจจุบัน มีผู้ใช้งาน Line กว่า 200 ล้านคนทั่วโลก ในขณะที่มีผู้ใช้งาน WhatsApp กว่า 300 ล้านคน แม้แต่ในประเทศไทยยังมีผู้ใช้งาน Line เกือบ 20 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 30% ของประชากรไทยทั้งประเทศ
บริการหลักของ Line และ WhatsApp ที่นอกเหนือจากบริการเสริมในเชิงของ Social Network ที่รวมถึง Sticker ฯลฯ นั้น คือความสามารถในการส่งข้อความในรูปแบบของตัวหนังสือ ภาพ เสียง และวีดิโอ และความสามารถในการมีบทสนทนาด้วยเสียงหรือวีดิโอ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
จากมุมมองของผู้บริโภค อาจเปรียบได้ว่า Line และ WhatsApp สามารถให้บริการที่คล้ายคลึงกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยผ่าน App ของ Line และ WhatsApp และไม่มีค่าบริการเพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าบริการ Data ในรูปแบบของ 3G หรือ 4G ที่ผู้บริโภค ต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมอยู่แล้ว
ในโลกของเทคโนโลยี รูปแบบทางธุรกิจของ Line และ WhatsApp ได้ถูกนิยามว่าเป็นธุรกิจ Over-The-Top หรือ OTT ซึ่งมีความหมายว่า Line และ WhatsApp เป็นการให้บริการในรูปแบบของ App ผ่านสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต และผ่านโครงข่าย 3G หรือ 4G โดยที่ไม่ต้องลงทุนสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมหรืออุปกรณ์เป็นของตัวเอง นอกไปจากนี้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมหรือผู้ผลิตอุปกรณ์ ยังไม่มีความสามารถที่จะรับรู้หรือควบคุมรายละเอียดของข้อมูลจาก ธุรกิจ OTT ที่วิ่งผ่านระบบตัวเอง
จุดเริ่มต้นของ OTT คือการที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม เริ่มให้บริการ Data ความเร็วสูง เช่น 3G หรือ 4G และ ผู้ผลิตอุปกรณ์เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต ได้อนุญาตให้มีการพัฒนา App ที่ให้บริการในรูปแบบของ OTT ผ่านอุปกรณ์และโครงข่าย โดยอาจนึกกลับไปถึงวันที่ Apple ได้เปิด App Store สำหรับ iPhone
Line และ WhatsApp จึงเป็นการลงทุนธุรกิจที่มีมูลค่าเพียง 10 ถึง 100 ล้านบาท แต่กลับสามารถให้บริการที่คล้ายคลึงกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่ต้องมีการลงทุนเป็นมูลค่ากว่าแสนล้านบาท
ข้อได้เปรียบอีกประการ คือการที่ OTT ไม่ต้องต้องเป็นเจ้าของโครงข่าย ทำให้ Line และ WhatsApp สามารถเปิดให้บริการได้พร้อมกันในหลายประเทศ จึงสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และมีผู้ใช้งานได้หลายร้อยล้านคนในเวลาอันสั้น
อิทธิพลของ OTT ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจโทรคมนาคม จากเดิมที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเป็นผู้ผูกขาดการให้บริการบทสนทนาด้วยเสียงหรือวีดิโอ และการส่งข้อความในรูปแบบของตัวหนังสือ ภาพ เสียง และวีดิโอ ในปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกใหม่ คือการเลือกใช้ Line และ WhatsApp สำหรับบริการในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คือผู้ให้บริการโทรคมนาคม กำลังถูกเปลี่ยนบทบาท มาสู่การให้บริการ Data ในรูปแบบของ 3G หรือ 4G มากขึ้น ในขณะที่บริการที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากกว่า กลับเป็นบทบาทของ OTT เช่น Line และ WhatsApp
พัฒนาการที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และ การที่ OTT สามารถให้บริการอย่างข้ามพรมแดนมาจากประเทศอื่น เช่น Line ที่ให้บริการมาจาก ญี่ปุ่น และ WhatsApp ที่ให้บริการมาจากสหรัฐ ได้ส่งผลให้เกิดช่องว่างในการกับกำดูแล ดังเช่นตัวอย่างของหน่วยงานภาครัฐของไทย ที่ไม่สามารถขอข้อมูลบทสนทนาจากผู้ให้บริการ Line ที่ญี่ปุ่นได้ ซึ่งแนวโน้มในอนาคต จะเป็นปัญหามากขึ้น เมื่อบริการของ OTT ได้เพิ่มความหลากหลาย และมีจำนวนผู้ใช้งานที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก และการที่มากำกับดูแลผู้ให้บริการโทรคมนาคมแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ดีการทำธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุน ก็มิใช่จะเป็นเรื่องง่าย เนื่องจากมีการกีดกันทางการค้า (Barriers to Entry) ที่ต่ำ ใครๆ ที่มีความรู้ความสามารถ ย่อมที่จะเข้ามาทำกิจการนี้ได้ โดยที่ไม่ต้องลงทุนเป็นหลักแสนล้าน เช่นในตัวอย่างของธุรกิจโทรคมนาคม Barriers to Entry ที่ต่ำ ทำให้มีคู่แข่งที่มาก และเป็นการต่อสู้อย่างไร้พรมแดน ธุรกิจของ OTT จึงอาจไม่มีความยั่งยืนเทียบเท่ากับธุรกิจที่ต้องมีการลงทุน ดังจะเห็นได้จาก การเปลี่ยนจากยุคของ Facebook มาเป็น WhatsApp และ Line ในเวลาไม่กี่ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะมีบริการ OTT ที่ใหม่กว่า และเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยมากกว่า ที่อาจสามารถช่วงชิงลูกค้าจาก Line ไปได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมยังคงเป็นรายเดิม หรือผู้ที่ผลิตอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแทบเล็ตยังคงเป็นรายเดิมเช่นกัน
ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างของ OTT ที่เกี่ยวของกับธุรกิจโทรคมนาคม ในด้านของธุรกิจวิทยุโทรทัศน์ยังคงมีผู้ให้บริการเนื้อหาที่ไม่ต้องลงทุนโครงข่ายเช่น YouTube, Hulu, Netflix ฯลฯ และในอนาคต อาจมีอุตสาหกรรมอื่นที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจในรูปแบบของ OTT ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการแพร่กระจายของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสมรรถนะที่สูงขึ้นของอุปกรณ์ในการเข้าถึง
ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ล้วนเป็นผลประโยชน์กับผู้บริโภค ที่มีสิทธิจะได้เลือกบริการที่มีความแตกต่างในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยยิ่งขึ้นต่อไป
Published in Krungthepturakij on September 3, 2013