AI ภัยคุกคาม ที่ต้องสะพรึงกลัว?
/AI หรือ Artificial Intelligence ซึ่งแปลเป็นไทยว่า สมองกล เป็นเทคโนโลยี ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการตัดสินใจในเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว หนือความสามารถของมนุษย์ โดยที่ไม่ต้องอาศัยมนุษย์เป็นผู้ควบคุม นอกจากนี้ AI ยังสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องอาศัยมนุษย์เป็นผู้ป้อนข้อมูลหรือเขียนโปรแกรมให้ใหม่
ความแตกต่างระหว่าง AI และระบบคอมพิวเตอร์ในยุคเดิม คือ คอมพิวเตอร์ในยุคก่อนหน้า สามารถตัดสินใจแทนมนุษย์ ได้เฉพาะในเรื่องที่ไม่มีความสลับซับซ้อน และยังคงต้องอาศัยมนุษย์เป็นผู้ควบคุม นอกจากนี้ ยังเป็นการตัดสินใจในเรื่องที่มนุษย์ได้กำหนดมาแล้ว ด้วยการป้อนข้อมูลหรือเขียนโปรแกรม และคอมพิวเตอร์จะไม่มีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยตนเอง
คอมพิวเตอร์ในยุคเดิม แม้จะสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องง่ายๆ ที่มนุษย์ได้โปรแกรมมาแล้ว ซึ่งแตกต่างกับ AI ที่ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำกว่ามนุษย์ แม้จะเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน และเรื่องที่เกินขอบเขตจากที่มนุษย์ได้เขียนโปรแกรมเอาไว้แล้ว
ความหวาดกลัวใน AI ได้ถูกสะท้อนอยู่ในจินตนาการของนิยายและภาพยนตร์วิทยาศาสตร์หลายเรื่อง นับจาก 2001: A Space Odyssey (1968) ที่ AI ที่ชื่อ HAL 9000 ได้ตัดสินใจสังหารมนุษย์ทุกคนบนสถานีอวกาศเพื่อปกปิดความผิดของตัวเอง และใน The Terminator (1984) ที่ AI ที่ชื่อ Skynet ที่ทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์กับมนุษยชาติ เพื่อปกป้องความอยู่รอดของตัวเอง
ความก้าวหน้าของ AI ในปัจจุบัน แม้ยังอาจห่างไกลจากจินตนาการจากภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง แต่ในปัจจุบัน เริ่มมีความหวาดกลัว จากภัยคุกคาม ในบางบริบทของ AI ที่มาจากการพัฒนา AI อย่างขาดความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำทาง เศรษฐกิจและสังคม ที่มาจาก AI ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น หรือกระทั่งความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง AI และความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์จาก AI
อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง เทสลามอเตอร์ส เพย์แพล และอีกหลายบริษัท และเคยร่วมลงทุนในธุรกิจ AI อย่างเช่น DeepMind มีความเห็นว่า AI เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับมนุษย์ และยังสามารถนำไปสู่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ ก็เป็นได้ ซึ่งแม้กระทั่ง บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ และ สตีเฟน ฮอว์คิง นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ก็มีความเห็นที่ไม่แตกต่างกัน ที่ว่า AI เป็นภัยคุกคาม ที่ต้องสะพรึงกลัว
การแย่งชิงอาชีพจากมนุษย์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคของคอมพิวเตอร์ แต่หลายคนคาดเดาว่าผลกระทบจะรุนแรงยิ่งกว่า ในยุคของ AI
สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีคมนาคมของอินเดีย ได้ประกาศจะห้ามใช้รถที่ขับด้วยตนเองโดยใช้ AI (Self Driving Car) เพื่อปกป้องอาชีพของชาวอินเดีย
นับเป็นความก้าวหน้าทางแนวคิด ที่เริ่มชัดเจนขึ้น ที่เป็นการป้องกันความเหลื่อมล้ำที่จะมากับเทคโนโลยี
ก่อนหน้านี้ เราอาจได้เห็นท่าทีที่แตกต่าง ของรัฐบาลของหลายประเทศ ในการบริหารจัดการ อูเบอร์ และบริการที่คล้ายกัน ซึ่งมีทั้งที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน ข้อโต้แย้งที่สำคัญสำหรับการสนับสนุน อูเบอร์ คือบริการที่ดีกว่าสำหรับประชาชนในยุค 4.0 และการสร้างรายได้ให้กับคนขับอูเบอร์ ส่วนข้อโต้แย้งที่ไม่สนับสนุน คือบริการที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ดี อูเบอร์ นี่เอง ซึ่งเป็นผู้สร้างอาชีพให้กับคนขับอูเบอร์ กว่าล้านอาชีพทั่วโลก กลับเป็นหนึ่งในแกนนำที่ร่วมพัฒนา AI สำหรับรถที่ขับด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อประสบความสำเร็จ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ แน่นอนประชาชนจะได้บริการที่ดียิ่งขึ้นไปอีก เมื่อ AI พิสูจน์ตนเองว่าสามารถขับรถได้ดีกว่าและปลอดภัยกว่ามนุษย์ และ อูเบอร์ เอง ก็จะได้ลดต้นทุน จากการที่ไม่ต้องเสียส่วนแบ่งรายได้ให้กับคนขับ แต่หลายล้านอาชีพ โดยเริ่มต้นจากคนขับอูเบอร์ มีความเป็นไปได้ที่จะต้องถูกแย่งชิงไปโดย AI
แต่ถึงกระนั้น อูเบอร์ ไม่ใช่แค่บริษัทเดียว แกนนำอื่นๆ ที่ร่วมพัฒนา AI ประกอบไปด้วย แอปเปิล กูเกิล เทสลา และเกือบทุกค่ายรถยนต์ ที่ไม่ต้องการตกขบวน ในยุค 4.0 หากอูเบอร์จะไม่ทำหรือทำไม่สำเร็จ บริษัทอื่นๆ ก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีนี้ออกมาอยู่ดี เพื่อความสามารถทางการแข่งขันและความอยู่รอดต่อไปสำหรับวันข้างหน้า
ในอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่ผู้นำทางความคิดทุกราย จะต้องหวาดกลัว AI เสมอไป มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง เฟซบุค, เอริก ชมิดต์ ผู้บริหาร แอลฟาเบต และ เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อนตั้ง อเมซอน กลับมองว่า AI เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และมิใช่สิ่งที่น่าสะพรึงกลัว อย่างที่ทุกคนคิด
สำหรับเวทีแข่งขันในระดับโลกแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีน เพิ่งประกาศนโยบาย จะเป็นผู้นำของโลกทางด้าน AI ภายในปี 2030 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น แต่ระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของจีน จะต้องถูกขับเคลื่อนด้วย AI ในขณะที่ รัฐบาลสหรัฐ ภายใต้ ดอนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่แสดงถึงความรับรู้ และยังไม่เคยมีนโยบายทางด้าน AI โดยยังคงง่วนอยู่กับนโยบายในการแย่งชิงอาชีพของชาวอเมริกัน คืนจากประเทศที่กำลังพัฒนาและค่าแรงต่ำ
AI เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะได้มาเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา ต้องคอยติดตามดูว่า ทิศทางในการรับมือของประเทศจะเป็นเช่นไร เพราะในโลกนี้ มีทั้งประเทศที่ต่อตัาน ที่สนับสนุน และกระทั่งประเทศที่ยังไม่รับรู้
Published in Krungthepturakij on August 1, 2017