นวัตกรรม Cloud Computing กับประเทศไทย
/คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า IT ได้มามีความสำคัญต่อระบบธุรกิจอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังเป็นการลงทุนที่มีโอกาสสิ้นเปลืองสูง เพราะคาดเดาการใช้งาน (Utilization) ที่แท้จริงได้ยาก และยังต้องมีการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ที่ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ Technology สลับซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน แทนที่จะนำมาซึ่งความได้เปรียบทางกลยุทธ์ (Strategic Advantage) IT ที่บริหารผิดพลาด กลับจะเป็นภาระและอุปสรรคต่อธุรกิจที่แท้จริงของบริษัท การตัดสินใจพื้นฐานที่สำคัญ (Fundamental Decision) ในทุกธุรกิจ คือการที่จะทำเองหรือ Outsource นวัตกรรม Cloud Computing ไม่ต่างกับการ Outsource ระบบ IT รูปแบบ (Model) ที่ประสบความสำเร็จของ Cloud Computing คือการ Outsource ในส่วนของทรัพยากรประมวลผล (Computing Resources) ซึ่งรวมไปถึง CPU, Memory, Hardisk หรือกระทั่ง Bandwidth ซึ่งหากจะเป็นรูปแบบของการทำเอง คือการซื้อ Server ที่มีปริมาตรของ Computing Resources ตามที่กล่าวมา แต่ก็มีปัญหาดังกล่าวคือ คาดเดาการใช้งานได้ยาก และยังต้องบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง การใช้ Cloud Computing จ่ายเงินเมื่อต้องใช้ทรัพยากรเท่านั้น ซึ่งถึงแม้ราคาต่อหน่วยจะแพงกว่า แต่ไม่จ่ายเกินกว่าที่ใช้งานจริง จึงสามารถบริหารค่าใช้จ่ายให้ต่ำกว่าการซื้อ Server ได้ไม่ยาก
Cloud Computing ในปัจจุบันมีอยู่หลายรูปแบบ Amazon ให้บริการทรัพยากรประมวลผล หรือเรียกในอีกมุมมองหนึ่งว่า เป็นการ Outsource ทาง Hardware หรือ Physical Layer ซึ่งรูปแบบนี้มีการให้บริการอย่างแพร่หลาย Amazon มีส่วนแบ่งการตลาดกว่าครึ่ง คู่แข่งที่สำคัญคือ Google และ Microsoft ซึ่งมีรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างกัน เพราะนอกเหนือจากทรัพยากรประมวลผล ยังบังคับใช้เทคโนโลยีในระดับ Software หรือ Application Layer อีกด้วย กล่าวคือ หากใช้ Cloud Computing ของ Google และ Microsoft ยังต้องเลือกใช้ระบบ Software และ Application ของ Google และ Microsoft อีกด้วย ในขณะที่ Cloud Computing ของ Amazon จะใช้ Software และ Application อะไรก็ได้ ซึ่งรวมไปถึงอิสระในการเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ (Operating Systems) ตามความเหมาะสม
หากเทียบในภาษาชาวบ้านเปรียบเสมือน Amazon ให้บริการเช่ารถตู้อย่างเดียว แต่ Google และ Microsoft ให้เช่ารถตู้และบังคับแถมคนขับ
ทั้งสองรูปแบบมีข้อดีและข้อเสีย ที่แตกต่างกัน Software หรือ Application Layer ของ Google และ Microsoft ก็มีข้อดีในระบบของตัวเอง แต่ก็ปราศจากอิสระ และยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูก Vendor Lock-In อย่างไรก็ดีรูปแบบของ Amazon ประสบความสำเร็จกว่าคู่แข่งอย่างล้นหลาม ซึ่งอาจแสดงถึงความเหมาะสมต่อความต้องการข้อตลาดที่มากกว่า
ในขณะที่การใช้บริการ Cloud Computing สามารถทำได้โดยง่ายดายกว่าการซื้อ Server ทั่วๆไป การให้บริการ Cloud Computing กลับทำได้ยาก เพราะต้องใช้เงินทุนมหาศาลเพราะแข่งขันกันด้วย Economy of Scale จึงจะได้ต้นทุนที่เหมาะสม ทั้งในการสร้่าง Data Center ขนาดเท่าสนามฟุตบอลซึ่งลงทุนเป็นพันๆล้านดอลล่าร์สหรัฐ ประจวบกับอุปกรณ์ Server และ ทรัพยากรประมวลผลเป็นล้านๆหน่วย ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Cloud Computing ไม่กี่รายในโลกได้แก่ Amazon, Google หรือ Microsoft ที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งล้วนให้บริการ Cloud Computing อย่างเป็นธุรกิจข้ามชาติ เพื่อแย่งชิงตลาดโลก เนื่องจาก Cloud Computing เป็น Digital Service ถึงแม้โครงข่ายหลัก (Infrastructure) จะอยู่ในสหรัฐ ผู้ใช้บริการจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก แม้จะมีปัญหา Latency เนื่องจากระยะทาง แต่สำหรับบริการทั่วๆไป ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
ล่าสุด Amazon ได้เปิดตัว Data Center ใหม่ใน สิงคโปร์ เพื่อต้องการเป็น Cloud Computing ที่ใหญ่ที่สุดใน Asia-Pacific ซึ่งรวมไปถึงญี่ปุ่น สำหรับการเข้าถึงในประเทศไทยแล้ว ปัญหา Latency ได้หมดไปเพราะได้ลดระยะทางลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ Data Center ในสหรัฐ
ในมุมมองของผู้ประกอบการแล้ว บริการ Digital Service เช่นนี้น่าเป็นห่วงเพราะสามารถทำตลาดและให้บริการข้ามประเทศได้ โดยไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งอาจพัวพันไปถึงความมั่นคงของชาติ เพราะ Cloud Computing เป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและข่าวสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ให้บริการเช่น Amazon อาจไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการ Data Center ในเมืองไทย ซึ่งรวมถึงระบบเดิมที่ให้บริการอย่าง Co-Location หรือกระทั่งระบบใหม่ที่เริ่มทดลองให้บริการรูปแบบต่างๆของ Cloud Computing นั้น ยังมีโอกาสที่จะต่อสู้เพื่อรักษาตลาดของตัวเองได้ โดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านพรหมแดน ความจับต้องได้ หรือการที่อยู่ภายใต้กฎหมายไทยเหมือนกัน สร้างความมั่นใจ สะดวกสบาย และการให้บริการที่ตรงความต้องการลูกค้าบางกล่มมากกว่า ตัวอย่างที่สำคัญคือ Cloud Computing ของธุรกิจข้ามชาติล้วนคิดเงินค่า Bandwidth ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจสูงมากสำหรับบริการบางประเภท ในขณะที่ Data Center ของไทยไม่คิดราคาในส่วนนี้ ในอีกตัวอย่างหนึ่ง ประเทศไทยมีปัญหาคอขวด (Bottle Neck) ที่การเชื่อมโยงระหว่างประเทศ การให้บริการจาก Data Center ของไทย ภายในประเทศ ย่อมให้ Bandwidth และ Latency ที่สูงกว่า Data Center ที่สิงคโปร์อย่างแน่นอน
ปัจจุบันเป็นยุค Globalization ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ Digital Services ซึ่งข้ามพรมแดนได้อยู่แล้วหรือ การเจรจา FTA และ WTO ซึ่งจะเปิดตลาดยิ่งขึ้นไปอีก ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจเป็นผลดี ผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้ Cloud Computing ระดับโลกที่ดีที่สุด ในอีกแง่มุมอาจเป็นการสังหารธุรกิจ Data Center เดิมที่มีอยู่ คราวนี้ไม่ใช้การสังหารจากภายในประเทศ แต่เป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่สังหารธุรกิจ IT ของไทย ในฐานะที่ความพร้อมต่ำสุด และขาดความสามารถทางการแข่งขัน
Cloud Computing กำลังจะมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบธุรกิจ ซึ่งอีกไม่นาน ควรจะมีค่าที่สามารถวัดได้เป็นสัดส่วนคัญของ GDP การฉกฉวยโอกาสระหว่างการเปลี่ยนแปลง อาจเป็นหนทางสู่การได้เปรียบทางกลยุทธ์ท่ามกลางการแข่งขันในยุคหน้าที่จะก้าวเดินต่อไป
Published in Transport Journal in January 2011