3G กับความมั่นคงของชาติ ที่กำลังซ้ำรอย

เป็นประเด็นร้อนพอสมควร จากกระแสข่าวไทยคม ที่รัฐบาลเห็นว่า ต้องซื้อคืนจากต่างชาติ เหตุผลหลัก คือ เรื่องความมั่นคง ก่อนอื่นต้องศึกษาว่า เพราะอะไร และทำไม รัฐบาลจึงย้ำและยืนยันว่าต้องซื้อคืนจากต่างชาติ ในขณะที่ตามกฎกติกาของกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทั่งดูรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตามที่ปรากฏในตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่าไทยคมเป็นของคนไทย

คำถามที่น่าคิดก็คือ รัฐบาลใช้หลักเกณฑ์ในการตีความอย่างไร จึงเห็นว่า ไทยคมเป็นของต่างชาติ 

หรือว่ากฎกติกาของกระทรวงพาณิชย์ และกฎหมายที่มีอยู่ ไม่สามารถตรวจสอบและไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองธุรกิจสำคัญจากการครอบงำของคนต่างชาติ

หากเป็นเช่นนั้นแล้วสิ่งที่รัฐบาลยืนยันว่าต้องซื้อคืนจากต่างชาติ จะกลายเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะในข้อเท็จจริง รัฐบาลต้องแก้กฎกติกาให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการครอบงำโดยต่างชาติอย่างที่เป็นอยู่

ทำให้นึกถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คือ กทช. กำลังพิจารณาจัดสรรใบอนุญาต 3G ซึ่งเป็นกิจการโทรคมนาคมเช่นเดียวกับไทยคม ที่จะมีผลครอบคลุมประชาชนผู้ใช้บริการทั้งประเทศเช่นกัน

การตรวจสอบการครอบงำของต่างชาติ ด้วยการห้ามถือครองหุ้นเกิน 49% ซึ่งเป็นการตรวจสอบภายใต้กติกาของกระทรวงพาณิชย์ ที่กำหนดตาม พรบ.ประกอบกิจการของคนต่างด้าวเท่านั้น กติกานี้พิสูจน์ได้ว่ามีช่องว่างอย่างชัดเจน

ดังนั้นหากบริษัทต่างชาติ ใช้ช่องทางเดียวกับกรณีของไทยคมในการเข้าครอบงำกิจการโทรคมนาคมของไทยโดยผ่านนวัตกรรม 3G ก็ยังทำได้อยู่ และจะทำอย่างแน่นอน แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย

ทุกวันนี้ การที่ดาวเทียมถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ ด้วยแนวโน้มของเทคโนโลยี และสถิติการเข้าถึงผู้ใช้บริการ แต่จะมีใครนึกถึงหรือไม่ว่า ในอนาคตเทคโนโลยี 3G จะยิ่งสามารถสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติได้อย่างทวีคูณ ยิ่งกว่า

ดาวเทียมมีจุดเด่น คือ สามารถนำเสนอข่าวสารอย่างทั่วถึงโดยผ่านการยิงสัญญาณ โดยสามารถเชื่อมต่อ และยิงสัญญาณจากต่างประเทศมายังประเทศไทยได้ จึงยากแก่การควบคุม และสามารถเป็นภัยต่อความมั่นคงได้

แต่เมื่อพิจารณากรณีของเทคโนโลยี 3G ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งขณะนี้สามารถเข้าถึงประชาชนกว่า 80% ของประเทศ และในไม่ช้าเมื่อมี 3G เข้ามาให้บริการ โทรศัพท์มือถือจะเปลี่ยนเป็น Mobile Broadband ที่ทำให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้อย่างง่ายดาย นำเสนอข่าวสารได้อย่างแทบไม่มีข้อจำกัด ที่สำคัญสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเพียง 25% ในประเทศที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่เมื่อมี 3G จะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในพริบตา

นอกจากนี้เทคโนโลยีของดาวเทียมเป็นการสื่อสารทางเดียว ในขณะที่ 3G เป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร 2 ทาง การ Broadcast ข้อความภาพและเสียง สามารถทำบน 3G ได้เช่นกัน และมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าดาวเทียม เพราะมีจำนวนช่องไม่จำกัด มีการโต้ตอบอย่าง Interactive มีการสร้าง Community มีการส่งต่อแบบปากต่อปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถืออยู่ติดตัว ทำให้สามารถดักฟังบทสนทนา สามารถขโมยข้อมูลที่สำคัญเช่นการเงิน หรือสามารถติดตามกระทั่งล่วงรู้ตำแหน่ง ที่ตั้ง การเคลื่อนไหวทุกอย่างของผู้ใช้ อย่าง Real Time ด้วยความก้าวหน้าของโทรศัพท์ Smart Phone และกระทั่ง Mobile Social Media อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวัน

เทคโนโลยี 3G จะมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ มากยิ่งกว่าดาวเทียมอย่างแน่นอน จะเห็นได้จาก เหตุการณ์ที่ผ่านมา เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบ รัฐต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ให้ระงับสัญญาณชั่วคราวในบางพื้นที่ ยิ่งในสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ รัฐจำเป็นต้องสามารถควบคุมผู้ประกอบการได้ แต่หากผู้ประกอบการเป็นต่างชาติ ย่อมเป็นเรื่องที่เสี่ยง และยากแก่การควบคุมเป็นอย่างยิ่ง

ต้นตอของปัญหาความมั่นคง หนีไม่พ้นเรื่องอำนาจควบคุมของกิจการโดยคนต่างด้าวที่ไม่ได้แสดงอยู่ในหลักฐานการจดทะเบียนบริษัทตามกฎระเบียบของกระทรวงพาณิชย์ หรือของตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งการดูว่าเป็นต่างด้าวหรือไทย ไม่ใช่แค่ดูหลักฐานการถือหุ้น แต่ต้องดูถึงอำนาจบริหาร หรืออำนาจชี้เป็นชี้ตาย การแต่งตั้งผู้บริหารว่าล้วนอยู่กับต่างชาติทั้งสิ้นหรือไม่

ช่องว่างของกฎหมายในปัจจุบัน หน่วยงาน กทช. ย่อมตระหนักในข้อนี้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กทช. ได้ออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวม และการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม ซึ่ง กทช. ระบุชัดเจนว่า ผู้มีอำนาจควบคุม คือ "ผู้ถือหุ้น หรือบุคคลอื่น ซึ่งโดยพฤติกรรมมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาต อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าอิทธิพลดังกล่าวจะสืบเนื่องจากการเป็นผู้ถือหุ้น หรือได้รับมอบอำนาจ ตามสัญญา หรือการอื่นใดก็ตาม"

และโดยเฉพาะร่างประกาศเกี่ยวกับการครอบงำกิจการของคนต่างด้าว ซึ่ง กทช. ได้มีการวางกรอบกฎเกณฑ์เพื่อตรวจสอบการถือหุ้นที่ผิดกฎหมายของต่างด้าว การถือหุ้นลักษณะแอบแฝง มีการถือหุ้นผ่านตัวแทน หรือ nominee เป็นชั้นๆ ซึ่งได้มีการรับฟังความเห็น และมีความตั้งใจจะประกาศใช้มาหลายปีแล้ว ซึ่งหากข้อกำหนดนี้ มีการประกาศใช้ออกมา ย่อมสามารถขจัดปัญหาเรื่องต่างด้าว คุ้มครองประเทศ ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง

จึงฝากให้ กทช. ดำเนินการออกมาตรการที่ชัดเจน จริงจัง ให้สมกับความห่วงใยที่มีต่อกิจการโทรคมนาคมของไทย

อย่างไรก็ดี การคาดหวังให้กฎของกทช. มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง คงเป็นไปได้ยาก แต่ในกรณีของใบอนุญาต 3G ที่กำลังจะมีขึ้น เป็นโอกาสดีที่จะต้องผลักดันให้มีการนำคำนิยามในเรื่อง “ผู้ถือหุ้น” ตามหลักเกณฑ์เรื่องการควบรวมกิจการมาบังคับใช้ และที่สำคัญต้องออกประกาศเรื่องการครอบงำกิจการของคนต่างด้าวด้วย

ไม่เช่นนั้นคงน่าเสียดายที่หลักเกณฑ์ของ กทช. ที่จัดทำด้วยความห่วงใยประเทศจะกลับกลายเป็นเรื่องสูญเปล่า และในอนาคตรัฐอาจต้องแก้ปัญหาที่ปลายเหตุดังเช่นกรณีที่ผ่านๆ มา เช่น กรณีไทยคม ซึ่งในอนาคตหากต้องการซื้อคืนจากต่างชาติคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเหลือเกิน

เพราะในกรณีของ 3G ซึ่งเป็น Ubiquitous Technology ที่จะติดตามไปทุกหนแห่ง อาจจะไม่ใช่เพียงเอกชนต่างชาติที่มีอำนาจควบคุม แต่อาจเลยไปถึงการเปิดโอกาสให้รัฐบาลต่างชาติมีอำนาจควบคุมด้วย

ถึงตอนนั้นประเทศไทย คนไทยจะไม่มีทั้งอำนาจต่อรองด้านการเงิน และไม่มีอำนาจต่อรองทั้งด้านบริการ ด้านความมั่นคง และที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ก็ไม่สามารถขอซื้อคืนกลับมาเป็นของคนไทยได้อีกต่อไป