ใบอนุญาต 3G ราคาแพง เป็นการผลักภาระสู่ประชาชน

อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) กำลังจะกลายเป็นวีรบุรุษ ผู้ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง ในการจัดสรรใบอนุญาต 3G และกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมถึง 80% ของประชากรภายในเวลา 4 ปี ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่จะมีโอกาสเข้าถึงข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่านเทคโนโลยี 3G เนื่องจากในปัจจุบันนี้ มีเพียง 10% ของประชากรในประเทศที่มีโอกาสได้ใช้ Internet ความเร็วสูง และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านที่ก้าวสู่เทคโนโลยี 3G มาร่วมทศวรรตแล้ว ส่งผลให้ไทยต้องเสียโอกาสในการพัฒนาทางธุรกิจ การศึกษา และสังคม เทคโนโลยี 3G กำลังจะเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญของชาติ เช่นเดียวกับถนนหนทาง ที่สามารถเบิกความเจริญไปสู่ท้องที่ใหม่ และมีโอกาสต่อยอดทางนวัตกรรมอีกมากมาย เพราะเป็นแกนหลักของ Technology Convergence

อย่างไรก็ดีเทคโนโลยี 3G จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนจริงๆ ก็ต่อเมื่อสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึง ในเรื่องนี้นักวิชาการชาวต่างชาติ Prof. Craig Warren Smith อดีตศาสตรจารย์จาก Harvard University Kennedy School of Government ได้กล่าวไว้ว่า เราต้องพิจารณาให้ลึกลงไปว่าแม้การให้บริการจะขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 80% ของประชากรในประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีจำนวนประชากร 80% ของประเทศที่จะสามารถใช้ประโยชน์จาก 3G ได้อย่างแท้จริง ซึ่งด้วยลักษณะเทคโนโลยีของ 3G คือ DATA ความเร็วสูง ดังนั้นหากต้องการเพียงสนทนาระหว่างกันด้วยเสียง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ 3G และเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกระดับราคาค่าบริการของ 3G จะต้องไม่สูง เป็นธรรม คุ้มค่า และนำไปสู่บริการ DATA ที่เป็นประโยชน์ให้ประชากรหมู่มาก เนื่องจากหากมีค่าบริการที่สูงแล้วย่อมไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง ผลลัพธ์ก็ไม่แตกต่างกับกรณีปัจจุบันที่ Internet ความเร็วสูง เข้าถึงประชากรเพียง 10%

โดยในประเด็นเรื่องอัตราค่าบริการ 3G ที่จะสูงหรือไม่นั้น ย่อมถูกสะท้อนมาจากราคาใบอนุญาต 3G ที่ กทช. จะจัดสรรว่าจะกำหนดให้มีราคาแพงแค่ไหน โดยการที่ กทช. จะกำหนดให้ใช้วิธีการจัดสรรใบอนุญาตด้วยการประมูล และกำหนดราคาเริ่มต้นที่สูงมากเพื่อให้ผู้เข้าร่วมขอรับใบอนุญาตแข่งขันกันในเรื่องราคาใบอนุญาตให้สูงที่สุด ซึ่งในเรื่องนี้มีการถกเถียงกันมาก และมีข้อกังขาว่า กทช. ควรจัดสรรเช่นนี้เพื่อให้รัฐได้รับรายได้สูงสุดในการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อค่าบริการหรือไม่

มีนักวิชาการในประเทศกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ได้เข้าใจหลักของเศรษฐศาสตร์อย่างถ่องแท้ ได้อ้างว่าราคาใบอนุญาตที่สูงจะไม่ส่งผลต่อค่าบริการให้สูงตามไปด้วย โดยอธิบายว่าราคาใบอนุญาตเป็นเพียงต้นทุนจม (Sunk Cost) หมายถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นในอดีต และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่สามารถนำมาคำนวณรวมกับค่าบริการ ซึ่งหลักการที่นักวิชาการกลุ่มนี้อธิบายได้กลายเป็นประเด็นชี้เป็นชี้ตาย และนำมาอธิบายสนับสนุนให้ กทช. ประมูล โดยกำหนดราคาเริ่มต้นที่สูง

แต่ด้วยหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นจริงแล้ว ประเด็นของต้นทุนจม ที่หมายถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นในอดีต และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้นั้น จะเกิดขึ้นและนำมาใช้ได้เฉพาะในกรณีของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น (Competitive Market) เช่นในกรณีของราคาน้ำตาล ราคาเกลือ แต่สำหรับในธุรกิจโทรคมนาคมไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดโครงสร้างตลาดเช่นนี้ได้ เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงไม่ใช่ลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ สำหรับในประเด็นนี้ได้มีการศึกษาไว้โดยละเอียดในบทความเรื่อง Impact of License Fees on the Prices of Mobile Voice Service เมื่อปี 2003 ของ Johannes M. Bauer ซึ่งได้ศึกษาผลกระทบของราคาใบอนุญาตที่มีต่อค่าบริการใน 18 ประเทศ และสรุปว่ากรณีของต้นทุนจม ไม่สามารถนำมาใช้กับโครงสร้างตลาดของ 3G และราคาใบอนุญาตมีผลกับค่าบริการอย่างแน่แท้ และในบทความของ Bauer ได้แสดงความเป็นห่วงประเทศที่ราคาใบอนุญาตที่สูง และมีราคาอยู่ในระดับที่เทียบเท่ากับราคาของการลงทุนโครงข่าย ซึ่งประเทศไทยก็เข้าข่ายนี้ โดยจะมีผลทำให้อัตราค่าบริการที่เกิดขึ้นสูงตามไปด้วย และท้ายที่สุดผลกระทบก็จะตกอยู่ที่ประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการและนักธุรกิจอีกเป็นจำนวนมากที่มีความเห็นพ้องกับ Bauer ว่า ราคาใบอนุญาตจะเป็นภาระต่อประชาชน เช่น Dr Keiji Tachikawa ผู้ซึ่งเป็น President และ CEO ของ NTT Docomo ผู้ประกอบการรายใหญ่ในญี่ปุ่น ซึ่งได้ผลักดัน 3G จนประสบความสำเร็จและเป็นโครงสร้างต้นแบบของการจัดสรร 3G ของโลกเลยทีเดียว ได้ยืนยันชัดเจนว่าราคาใบอนุญาตที่สูงจะถูกผลักให้กลายเป็นภาระราคาค่าบริการของประชาชน

สำหรับประเทศไทยนั้น การที่ กทช. ได้กำหนดให้มีราคาเริ่มต้นของการประมูลที่สูงมากแล้ว ซ้ำร้ายยังได้กำหนดรูปแบบของการประมูลด้วยวิธีที่เรียกว่า N-1 หมายถึงว่า กทช. ประสงค์จะจัดสรรใบอนุญาตจำนวน 3 ใบ โดยจะจัดสรรครบ 3 ใบได้ต่อเมื่อมีผู้ผ่านคุณสมบัติจำนวนมากกว่าใบอนุญาตขึ้นไปเท่านั้น หากมีผู้ผ่านคุณสมบัติจำนวน 3 ราย เท่ากับใบอนุญาต จะจัดสรรให้เพียง 2 ใบ และเก็บอีกใบหนึ่งไว้รอการจัดสรรต่อไป ซึ่งด้วยวิธีการดังกล่าวที่ กทช. ได้คิดค้นขึ้น โดยมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่ใช้วิธีนี้ จะส่งผลให้เหลือผู้ประกอบการในตลาดเพียง 2 หรือ 1 ราย เท่านั้น และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยก็จะเข้าสู่รูปแบบของการผูกขาดอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง (Duopoly และ Monopoly) และเมื่อราคาใบอนุญาตที่ได้มามีราคาสูงก็จะมีผลต่อราคาค่าบริการในอัตราที่สูงสุดด้วยเช่นกัน ซึ่งด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดนี้ได้หักล้างข้อสนับสนุน และคำอธิบายของนักวิชาการบางกลุ่มดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ต้นทุนจม หรือSunk Cost ซึ่งหมายถึงราคาใบอนุญาตจะไม่มีผลต่อราคาค่าบริการอย่างสิ้นเชิง นั่นหมายความว่า ถ้ามีต้นทุนราคาใบอนุญาตที่แพงลิบ ก็จะทำให้อัตราค่าบริการแพงลิบเช่นกัน

นอกเหนือจากเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ยังมีนักวิชาการบางกลุ่มอ้างว่าจำเป็นต้องกำหนดราคาใบอนุญาตที่สูง เพราะเมื่อเทียบกับรายได้จากสัญญาสัมปทานแล้ว การเปลี่ยนมาจ่ายค่าใบอนุญาต 3G อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และชี้นำว่าราคาใบอนุญาตควรเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับรายได้เดิม แต่การชี้นำดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เพราะผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้สัมปทานเป็นระบบ 2G ซึ่งก็ยังคงต้องดำเนินการต่อไปจนครบกำหนดอายุสัมปทาน นั่นหมายถึงว่าก็ยังต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาตามกำหนดดังเดิม ไม่ได้เกี่ยวกับกับใบอนุญาต 3G แต่อย่างใด แต่ซ้ำร้ายเมื่อผู้ประกอบการหากประมูลใบอนุญาต 3G ไปได้ในราคาที่สูงลิบแล้วตามหลักวิชาการที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเป็นการยืนยันได้ว่าภาระนี้ก็ต้องตกสู่ประชาชนโดยตรง จึงเสมือนเป็นการชี้แจงว่าประชาชนต้องรับภาระเพื่อรักษาไว้ซึ่งรายได้ของรัฐที่มาจากสัมปทาน

ในขณะที่มีการผลักดันให้ผู้ประกอบการมองราคาใบอนุญาตเป็น Sunk Cost ซึ่งขัดต่อหลักวิชาการ ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐควรมองระบบสัมปทานเดิมเป็น Sunk Cost เพื่อให้ประเทศสามารถพัฒนาต่อไปได้ โดยให้เป็นภาระต่อประชาชนน้อยที่สุด เพราะ 3G ที่เป็นประโยชน์ราคาต้องไม่สูง จึงจะเป็นประโยชน์กับประชากร 80% ในประเทศ โดยการครอบคลุมพื้นที่อย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ

เวลานี้ปริมาณรายได้ที่ กทช ได้คะเนว่าจะเข้ารัฐจากใบอนุญาต 3G เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของ GDP และหารด้วยระยะเวลาใบอนุญาต ประเทศไทยถือว่ารัฐมีรายได้สูงสุดแล้วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเซีย ซึ่งหมายความว่า ประชาชนคนไทยต้องแบกรับภาระจากราคาใบอนุญาต โดยเสียสละให้กับรัฐสูงกว่าประเทศอื่นๆในเอเซียทั้งหมด แต่ภาครัฐของไทย จะสามารถนำรายได้นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าชาติอื่นในเอเซียหรือ

อย่างที่ได้กล่าวไว้ขั้นต้น กทช กำลังจะเป็นวีรบุรุษของชาติ ประเทศไทยเสียโอกาสในเรื่อง 3G มานานแล้ว แต่การจัดสรรต้องทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการสากลอย่างแท้จริงจึงจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริง สำคัญที่สุดราคาค่าบริการต้องเหมาะสมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ ตามหลักวิชาการแล้ว ราคาใบอนุญาติควรถูกที่สุด เพื่อไม่เกิดผลกระทบกับผู้บริโภค กทช ควรมองในแง่มุมของการนำ 3G ไปใช้ ให้เกิดประโยชน์ทาง ธุรกิจ การศึกษา และการพัฒนาสังคม ให้มากที่สุด แทนที่จะคำนึงถึงรายได้เข้ารัฐ เพราะภาระที่แท้จริงย่อมตกสู่ประชาชนในที่สุด

Published in Siamturakij on July 10-13, 2010