3G กับ Blue Ocean Strategy
/สุขสันต์วันคริสต์มาสครับ และอีกไม่ถึงสัปดาห์ก็จะเป็นการส่งท้ายปีเก่า 2012 และต้อนรับปีใหม่ 2013 จึงขออนุญาตสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าด้วยครับ ปี 2012 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ได้มีเหตุการณ์สำคัญสองประการ ในโลกของเทคโนโลยี ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับของ Disruption ซึ่งจะมีอิทธิพลสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และอาจเริ่มเห็นผลได้ในปี 2013 ที่กำลังจะมาถึง
ประการแรก การจัดสรรคลื่นความถี่ 2100 MHz สำหรับให้บริการ 3G จะเป็นการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ที่ประชากรส่วนน้อยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ประชากรส่วนมากยังไม่สามารถเข้าถึงได้ 3G เป็นเทคโนโลยีไร้สาย สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่ง กสทช กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องครอบคลุม 80% ของประชากร ภายใน 4 ปี ดังน้ัน จะมี 3 โครงข่ายของ 3G ที่ครอบคลุมถึง 80% ของประชากร ซึ่งจะเป็นการครอบคลุมของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อย่างที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน
ประการที่สอง Smartphones และ Tablets ของ Android ที่ราคาต่ำกว่า 3,000 บาท จะเปิดโอกาสให้ประชากรส่วนมากของประเทศ ที่ไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ แต่จะสามารถใช้ Smartphones และ Tablets เป็นอุปกรณ์ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่า ในปี 2015 โทรศัพท์มือถือกว่าครึ่งหนึ่งในประเทศ จะเป็น Smartphones นอกจากนี้ ยังมี Firefox OS และระบบอื่นๆ ที่พยายามพัฒนา Smartphones และ Tablets ให้ได้ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท แนวโน้มของการใช้ Smartphones และ Tablets จึงเป็นการเข้าถึงอุปกรณ์ที่ใช้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต อย่างที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน
เหตุการณ์สำคัญท้ังสองประการ จะทำให้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถเห็นผลได้ในปี 2013 โดยผู้ใช้งานผ่าน 3G กับ Smartphones และ Tablets อาจมีจำนวนมากกว่า ผู้ใช้งานผ่านเทคโนโลยีอย่างมีสายและคอมพิวเตอร์
หากเปรียบเทียบในเชิงของ Blue Ocean Strategy ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศ อาจเปรียบเป็น Red Ocean ในขณะที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ และเป็นประชากรส่วนมากของประเทศ อาจเปรียบเป็น Blue Ocean โดยเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อาจมีคุณลักษณะ ที่แตกต่างจาก Red Ocean ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับธุรกิจ Content และบริการอื่นๆบนอินเทอร์เน็ต ที่จะเกิดขึ้นเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้
สำหรับ Red Ocean อาจเป็นกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในตัวเมือง มีฐานะ มีการศึกษา และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ หรือ Smartphones และ Tablets ที่มีราคาสูง ซึ่งกลุ่มนี้อาจมีไม่ถึง 30% ของประชากร ด้วยข้อจำกัดของโครงข่าย ก่อนหน้าการจัดสรรคลื่นความถี่ 2100 MHz และความสามารถในการเข้าถึงอุปกรณ์ อย่างไรก็ดี ที่เปรียบเป็น Red Ocean ก็เพราะเคยมีการแข่งขันจนเกิดการผูกขาดของบริการในแต่ละด้าน เช่น Google ผูกขาดกว่า 99% ของ Search Engines หรือ Facebook ผูกขาด กว่า 90% ของ Social Networks ซึ่งบริการอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ล้วนเคยมีการแข่งขันจนมีการแบ่ง Marketshare อย่างเสร็จสิ้นไปแล้ว และอาจเป็นข้อสังเกตุว่า ตลาด Red Ocean ของไทย กลับถูกผูกขาดโดยผู้ให้บริการข้ามชาติ (Multinational Corporations) จนไม่เปิดโอกาสสำหรับผู้ให้บริการของไทย
สำหรับ Blue Ocean อาจเป็นกลุ่มลูกค้าที่อยู่นอกเมือง มีฐานะและการศึกษาด้อยกว่า และเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่าน 3G กับ Smartphones และ Tablets ที่มีราคาค่ำ แต่กลุ่มนี้ อาจเป็นถึง 70% ของประชากร ซึ่งจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้เป็นครั้งแรก ด้วยจัดสรรคลื่นความถี่ 2100 MHz กับ Smartphones และ Tablets ที่มีราคาต่ำ ทั้งนี้ ยังไม่เคยมีผู้กระกอบการใดที่เคยเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนี้ และยังไม่เกิดการผูกขาดของบริการ จึงยังคงเป็นโอกาสสำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เคยพลาดโอกาสใน Red Ocean มาแล้ว นอกจากนี้ ยังคงเป็นโอกาสของผู้ให้บริการรายเล็ก หรือผู้ให้บริการของไทย ที่อาจมีความคล่องตัว ในการทำ Localization ให้เหมาะสมกับตลาดใหม่แห่งนี้ มากกว่า Multinational Corporations ที่ผูกขาดในส่วนของ Red Ocean
สำหรับรายละเอียดในด้านของ ธุรกิจ เทคโนโลยี และความรู้เฉพาะทาง เพื่อการทำ Localization ที่เหมาะสมกับ Blue Ocean อาจเป็นเคล็ดลับทางธุรกิจ ที่จะทำให้่เกิดผู้ชนะ และผู้ผูกขาดรายใหม่ใน Blue Ocean จึงเป็นเรื่องที่ควรเร่งศึกษา เพราะการเกิดของตลาดแห่งใหม่ ใช้เวลากว่าทศวรรษจึงจะมีโอกาสสักครั้งหนึ่ง
สุดท้ายนี้ ขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ ในปี 2013 ด้วยครับ
Published in Krungthepturakij on December 25, 2012