3G และ HSPA: ต่างชาติมองประเทศไทย
/หลายเดือนที่ผ่านมา ได้พบกับนักลงทุน และผู้บริหารของบริษัทคู่ค้าต่างชาติ อยู่หลายราย แต่ประเด็นแรกๆที่ถูกซักถาม คือความเป็นไปของกระบวนการที่จะทำให้มี 3G ใช้ทั้งประเทศ และเหตุใดที่ความพยายามในสมัยของ กทช ต้องมาล้มไป และกระทั่งความคืบหน้าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ที่กลุ่มบริษัทเอกชนมีความพยายามจะทำ 3G บนคลื่นเดิม ว่าทำไมต้องมีกลุ่มคนออกมาต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ความข้องใจของชาวต่างชาติ ไม่ใช่ประเด็นข้อกฎหมาย ความถูกผิดต่อรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ แต่เป็นเพราะเหตุใด คนไทยด้วยกันเอง มักออกมาขัดขวาง สิ่งที่จะเกิดประโยชน์ให้กับประเทศ ทั้งในด้าน ธุรกิจ สังคม และ การศึกษา เมื่อราว 2 ปีก่อน บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติ ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในด้าน Smartphones และ Tablet PCs ได้เคยจัดเกรดประเทศไทยไว้เป็น Tier 2 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ฮ่องกง สิงค์โปร์ ไต้หวัน ฯลฯ ในขณะที่ Tier 1 คือสหรัฐ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตก อันดับของ Tier หมายถึงอันดับความน่าลงทุนและประกอบธุรกิจ แต่มายุคสมัยนี้ ประเทศไทยตกลงไปอยู่กลุ่ม Tier 3 ในขณะที่ Tier 4 คือกลุ่มประเทศภาวะสงครามหรือก่อการร้าย ที่บริษัทนี้จะไม่ลงทุนและประกอบธุรกิจด้วย
Venture Capitalists ต่างชาติก็เช่นกัน ได้นำ Capital หลายพันล้านดอลล่าร์ เพื่อลงทุนใน บริษัท Technology Startups (Dot Coms) ใน South East Asia หากเป็น 2 ปีก่อน เป้าหมายหลักจะเป็นเวียดนาม แต่ในปัจจุบัน เป้าหมายหลักได้เปลี่ยนเป็นอินโดนีเซีย โดยประเทศไทย ได้แต่ถูกมองข้ามมาตลอด
ปัญหาใหญ่ของประเทศคือ Digital Divide หรือการที่ประชากรเกือบ 90% ไม่สามารถเข้าถึง Internet ได้ เมื่อเทียบกับ ฮ่องกง สิงค์โปร์ หรือไต้หวัน ประเทศไทยมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล การจะลงทุนลากสายเพื่อให้ประชากร 80% ขึ้นไป เข้าถึง Internet ได้ ต้องใช้เงินทุนมหาศาล ซึ่ง กทช เคยคำนวนว่าเป็นอย่างน้อย 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นกว่าร้อยเท่าของงบประมาณกระทรวง ICT จึงเรียกได้ว่าไม่สามารถเกิดขึ้นเลยสำหรับประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีไร้สาย ซึ่งอาจใช้เงินทุน 2 หมื่นล้านบาท จากการคำนวนของ กทช เพีื่อที่จะเข้าถึงประชากร 80% ปัจจุบัน HSPA (High Speed Packet Access) หรือ 3.5G เป็นเทคโนโลยีไร้สาย ที่ให้ความเร็วถึง 14,400 kbit/s ซึ่งในบางครั้ง ยังเร็วกว่า Broadband อย่างมีสาย ที่มีให้บริการอยู่ในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทย จะสามารถแก้ไขปัญหา Digital Divide ได้
แต่ถึงกระนั้่น HSPA ก็ได้มาประสบปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้สำเร็จ แม้กระทั่งความพยายามที่จะทำ 3G บนคลื่นเดิม ก็ยังมีกลุ่มคนออกมาต่อต้าน ในสายตาของคนต่างชาติ ย่อมไม่ใช่เรื่องกฏหมายแล้ว แต่เป็นเจตจำนงของกลุ่มคนเหล่านี้ ที่มีต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ถึงคนที่ไม่เห็นด้วย จะเป็นส่วนน้อย แต่บังเอิญเป็นส่วนที่เสียงดัง และสื่อให้ความสนใจ จึงทำให้ภาพที่สะท้อนออกมาไม่ต่างกับเป็นความเห็นของคนส่วนมาก เมื่อชาวต่างชาติมองแล้ว ย่อมที่จะถอดใจ เพราะเข้าใจว่าคนไทยในภาพรวมไม่เห็นแก่ความเจริญก้าวหน้าของชาติ และมองทุกอย่างเป็นเรื่องของ Conflict ทั้งหมด
ปัจจุบัน เป็นยุค Globalization ไม่ควรลืมว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลก แต่ละประเทศมีการแข่งขันกัน ด้วยความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งหากเป็น ICT แล้ว มาตรวัดส่วนใหญ่ ยกให้ไทยเป็นประเทศรั้งท้ายใน South East Asia โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเสรี สิงค์โปร์ มาเลยเซีย เวียดนาม มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ 73%, 56% และ 24% ตามลำดับ ในขณะที่ข้อมูลของไทยหาได้ยาก เพราะดัชนีชั้นนำของโลก เช่น Comscore ไม่เห็นประโยชน์ในการ Index ประเทศไทย แต่คาดว่าอยู่ที่ราว 10% ของประชากร
ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง เราสามารถมองข้าม ปล่อยเลยตามเลย ให้ 3G ล้มแล้วล้มอีก หรือแสดงเจตจำนงให้ชัด ว่าถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทยจะต้องมี 3G ใช้ ซึ่งเสียงส่วนน้อย ถึงจะดังกว่า ก็ย่อมสู้เสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ และอย่างน้อย อาจทำให้ประเทศไทยดูดีขึ้น และน่าลงทุนหรือประกอบธุรกิจ ในสายตาของคนต่างชาติ
Published in Transport Journal in February 2011