ทรู-ฮัทช์ ประโยชน์สำหรับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

กรณี ทรู-ฮัทช์ อาจเป็นการนำเสนอข่าวสารเพียงมุมเดียวของสื่อมวลชน จากการตั้งประเด็นคำถาม และข้อสังเกต ของสื่อมวลชน นักวิชาการ และองค์กรอิสระ ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบ ของ ทรู-ฮัทช์ โดย หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ผลสำคัญของ ทรู-ฮัทช์ ที่มีต่อผู้บริโภค และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กลับมิได้ถูกกล่าวถึง ในขณะที่ ความ ผิด-ถูก ยังคงต้องพิสูจน์ ด้วยขั้นตอนของกฎหมาย หรือกระทั่งการเมืองต่อไป แต่ประโยชน์ของ ทรู-ฮัทช์ อย่างแท้จริง ที่มีต่อประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องกล่าวถึง และทำให้กระจ่างชัด

ไม่จำเป็นต้องอธิบาย ถึงประโยชน์ของ 3G ในการพัฒนาประเทศ แก้ไข Digital Divide และความจำเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีไร้สาย ในการเข้าถึงพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลของประเทศไทย

ความพยายามของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช) ที่ขณะนี้ตามกฎหมายใหม่ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กสทช. ไม่ใช่ครั้งแรก ที่จะมีบริการ 3G ในประเทศไทย

3G มีให้บริการมาอย่างน้อย 2 ปีแล้ว แต่เป็นการใช้คลื่นความถี่เดิม AIS ใช้คลื่น 3G ในย่าน 900Mhz ในขณะที่ DTAC และ TrueMove ใช้คลื่น 3G ในย่าน 850Mhz การให้บริการบนคลื่นความถี่เดิม ได้ทำอย่าง Scale เล็ก โดย TrueMove มีการลงทุนสูงสุด ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่หลักในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี การให้บริการ อยู่บนเงื่อนไขที่ยังอิงกับระบบสัมปทาน ประกอบกับคลื่นความถี่ที่มีอยู่จำกัด คือ 5Mhz ของ TrueMove จึงไม่อำนวยต่อการให้บริการทั้งประเทศ

ทรู-ฮัทช์ คือการปรับเงื่อนไขทางธุรกิจ และข้อจำกัดของคลื่นความถี่ให้ True สามารถเป็นผู้ให้บริการรายแรกของไทย ซึ่งไม่เพียงแต่มีความมุ่งมั่น แต่ยังเพรียบพร้อมด้วยศักยภาพ ที่จะให้บริการ 3G ทั้งประเทศ และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงบางพื้นที่ ความมุ่งมั่นในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดประโยชน์ แต่โดยเฉพาะทรูบริษัทเดียว เพราะเป็นการบีบกระตุ้น ให้ผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งในหลายๆ มาตรวัด ยังจะมีศักยภาพที่สูงกว่า ต้องมาทุ่มทำ 3G โดยใช้คลื่นความถี่เดิม ดั่งที่มีการประกาศข่าว ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีแต่การทดลองทำอย่างจำกัดพื้นที่

กรณี ทรู-ฮัทช์ จึงถือเป็น Catalyst หรือตัวเร่งปฎิกิริยาที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้บริโภค จะได้ประโยชน์โดยตรง เพราะไม่เพียงแต่ ทรู เพียงรายเดียว แต่ผู้ประกอบการทุกๆราย จะต้องมาแข่งกันทำ 3G

ทั้งนี้ อย่าสำคัญผิด ว่าการจัดสรร 3G โดย กสทช ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการสรรหา ที่จะดำเนินการในอนาคต จะไม่มีความจำเป็น แต่ยังมีอีกหลายปัญหา ในอุตสากรรม ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ด้วยคลื่นความถี่เดิมซึ่งคลื่น 2,100 Mhz ที่รอการจัดสรรของ กสทช. เป็นคลื่นใหม่ที่ดีกว่า และเป็นมาตรฐานสากล สำหรับการให้บริการ 3G อย่างไรก็ดี ยังคงอีกหลายเดือน หรือปี ก่อนขั้นตอนของ กสทช จะเริ่มต้นขึ้นได้ และยังมีปัญหาในข้อกฎหมาย จากการเร่งพิจารณา พ.ร.บ. กสทช ซึ่งอาจส่งผลต่อขั้นตอน การปฏิบัติหน้าที่ ของการจัดสรร 3G ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่มิอาจประมาณได้ ณ​ เวลาปัจจุบัน

ความผิดพลาดของ พ.ร.บ. กสทช ยังได้ส่งผลกระทบ ต่อการให้บริการ 3G โดย TOT ในกรณีของ MVNO ว่าจะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นการตัดโอกาสที่สำคัญ ของการให้บริการ 3G ในประเทศไทย ในอีกช่องทางหนึ่ง

ที่กล่าวมา คือข้อเท็จจริง ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และโอกาสของการให้บริการ 3G ที่จะเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียว แต่ทุกๆราย ที่จะแข่งขัน และให้บริการ 3G อย่างทั่วถึง ทุกๆ พื้นที่ในประเทศไทย ทั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งแรก ที่ปัญหา Digital Divide จะหมดไป และเป็นการเยียวยา ความล้าหลังของประเทศ ในด้าน ICT ซึ่งมาตรวัดส่วนใหญ่ ให้ประเทศไทยเป็นอันดับท้ายๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลข่าวสารที่ความสำคัญเพียงนี้ กลับไม่ถูกนำเสนอ ตั้งคำถาม หรือข้อสังเกต โดยสื่อมวลชน นักวิชาการ และองค์กรอิสระ ทั้งๆที่เป็นประเด็นของสังคมอย่างแท้จริง ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

การพิสูจน์ ในความ ผิด-ถูก เป็นขั้นตอนของกฎหมาย และกระทั่งการเมืองสืบเนื่องต่อไป​ แต่ประเด็นที่สำคัญอย่างแท้จริง ที่รับรู้และสัมผัสได้ สำหรับคนไทยทุกๆ คน คือ ประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้น สำหรับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย

Published in Transport Journal in March 2011