CDMA vs. GSM: เทคโนโลยี หรือ กลไกตลาด

ถกเถียงกันมานาน ระหว่าง CDMA หรือ GSM อะไรจะดีกว่า หรือเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ของประเทศไทย มากกว่า ความแตกต่างคือวิธีการใช้คลื่นความถี่ โดย CDMA เป็น Code Division Multiple Access ส่วน GSM เป็น Time Division Multiple Access โดยหลักแล้ว เมื่อเทียบในกลุ่มเทคโนโลยี 2G จะถือกันว่า CDMA สามารถประยุกต์ใช้คลื่นความถี่ได้ดีกว่า จึงเหมาะสมกับบริการด้าน DATA อย่างไรก็ดี เมื่อมาเป็นยุค 3G แล้ว GSM กลับเปลี่ยนมาใช้เป็น Code Division Multiple Access ซึ่งเรียกเป็น WCDMA หรือ Wideband Code Division Multiple Access ซึ่งจะถูกพัฒนามาเป็น HSDPA หรือ High-Speed Downlink Packet Access ซึ่งมีความเร็วสูงยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยเทคโนโลยีที่น่าจะเหนือกว่า แต่แล้วทำไม CDMA ถึงไม่ประสบความสำเร็จ

จากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 5 พันล้านคนทั่วโลก เพียง 10-15% เท่านั้นที่ใช้ CDMA ในขณะที่ 85-90% กลับใช้ GSM ทั้งนี้ต้องคำนึงว่า CDMA เป็นเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐ โดยที่ กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรใช้ CDMA แต่สำหรับประเทศอื่นๆทั่วโลกแล้ว CDMA กลับไม่แพร่หลายเลย สำหรับในประเทศไทยแล้ว มีผู้ใช้ CDMA อยู่เพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าสถิติของโลกอีก

ในเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) เรียกกรณีนี้ว่า Network Effects ซึ่งต้องคำนึงถึงอุปกรณ์รองรับ ​(End-User Devices) หรือองค์ประกอบเสริมที่เพิ่ม Value ให้เติมเต็ม เช่นกรณีของ Mac vs. PC เมื่อหลายปีก่อน ไม่จำเป็นต้องเถียงว่า Mac หรือ PC ดีกว่า แต่เมื่อ PC มีโปรแกรมให้ใช้มากกว่า ก็ย่อมที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ Network Effects มักเป็น Positive Feedback กล่าวคือ เมื่อ PC มีโปรแกรมมากกว่า ย่อมมีผู้ใช้มากกว่า และย่อมทำให้มีฐานลูกค้าที่ใหญ่กว่า ก็เลยมีผู้สนใจที่จะผลิตโปรแกรมให้มากกว่า

อุปสรรคของ CDMA คือทางเลือกของอุปกรณ์ เนื่องจาก CDMA เป็นตลาดรอง ผู้ผลิตอุปกรณ์ส่วนใหญ่ ล้วนให้ความสำคัญกับ GSM ก่อนที่จะรองรับ CDMA แม้กระทั่ง Apple ก็พึ่งจะเปิดตัว iPhone สำหรับ CDMA หลังจากที่ได้เปิดตัว iPhone สำหรับ GSM มาแล้วกว่า 3 ปี แต่ถึงกระนั้น iPad สำหรับ CDMA ยังไม่ได้มีการประกาศ หรือเปิดตัวแต่อย่างใด

ในขณะที่ผู้ใช้ GSM ในปัจจุบัน สามารถเลือกเปลี่ยนผู้ให้บริการ ที่เป็นระบบ GSM ด้วยกัน ง่ายดายเพียงการเปลี่ยน SIM Card แต่การเปลี่ยนผู้ให้บริการข้ามระบบ กลับทำได้ยาก เพราะต้องเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือใหม่ การเปลี่ยนจาก CDMA มาสู่ GSM มีทางเลือกมากขึ้น ทั้งอุปกรณ์มือถือ และผู้ให้บริการ ในขณะที่ การเปลี่ยนจาก GSM มาสู่ CDMA กลับจำกัดทางเลือก โดยมีมือถือให้เลือกน้อยลง และผู้ให้บริการซึ่งเหลือเพียงรายเดียว

กรณี Network Effects ของ CDMA vs. GSM จึงไม่ต่างกับ Mac vs. PC เมื่อหลายปีก่อน โดยเป็นกลไกของตลาด ที่มีอิทธิผลเหนือความสำเร็จของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับพฤติกรรมของผู้บริโภคไทย ซึ่งมักซื้อโทรศัพท์มือถือ แยกกับ Sim Card และผู้ใช้่บริการส่วนใหญ่เป็นระบบ Prepaid ซึ่งมีการเปลี่ยนข้ามผู้ให้บริการอยู่ตลอดเวลา CDMA จึงไม่เหมาะสม และเป็นอุปสรรคต่อพฤติกรรมของคนไทย

อย่างไรก็ดี CDMA ก็มีข้อดีของตัวเอง และที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐ ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นมา จุดเริ่มต้น และพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งแตกต่างกับไทยโดยสิ้นเชิง เพราะในสหรัฐ ส่วนใหญ่ซื้อมือถือจากผู้ให้บริการ รวมกับ Sim Card และส่วนใหญ่เป็นระบบ Postpaid ปัญหาที่กล่าวมาจึงเกือบไม่มีผล

ในการลงทุนเทคโนโลยีประเภทโครงข่าย กลไกตลาด ย่อมมีอิทธิพลเหนือข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีเสมอ ในสาขาวิชา Microeconomics ได้มีการศึกษา เรื่องราวประเภทนี้มาโดยละเอียด ตั้งแต่ โทรศัพท์พื้นฐาน เครื่องแฟกซ์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอย ไม่มีใครหลีกเลี่ยงกลไกของตลาดได้ ซึ่งปัจจัยพื้นฐาน เมื่อวิเคราะห์ทางทฤษฎีแล้ว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย จะเป็นกี่ทศวรรษก็ตาม

Published in Transport Journal in February 2011