จากพื้นดินสู่ท้องฟ้า: 3G และ WiFi บนเครื่องบิน

การให้บริการ 3G ที่คลื่นความถี่ 2100 MHz เริ่มใกล้ความเป็นจริงทุกช่วงขณะ ในขณะที่การทดลองให้บริการ 4G LTE ก็เป็นกระแสข่าวที่ไม่แพ้กัน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลากำลังจะเป็นความควาดหวัง และความเป็นจริงสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ เป็นอานิสงส์จากเทคโนโลยีไร้สาย ที่รวมถึง WiFi, 3G และกระทั่ง 4G LTE ที่เร็วๆนี้ จะได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นอานิสงส์จากอุปกรณ์ในการเข้าถึง ที่รวมถึง Smartphone และ Tablet ที่ราคาถูกลง และสามารถเป็นเจ้าของได้โดยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ อินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงของเทศกาลวันหยุดยาว ที่คนไทยจำนวนมากต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ไม่นานมานี้ การบินไทย ได้ประกาศให้บริการ อินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน โดยจะเริ่มต้นจาก Airbus A330, Airbus A380 ฯลฯ

การให้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ในสากลโลก กลับมีการให้บริการมาหลายปีแล้ว โดยมีการให้บริการในสองรูปแบบที่แตกต่างกัน

รูปแบบแรก คือการให้บริการผ่านดาวเทียม โดยสัญญาณอินเทอร์เน็ต จะถูกส่งผ่านดาวเทียม มายังเครื่องรับสัญญาณของเครื่องบิน ซึ่งจะทำการแปลงสัญญาณเป็น WiFi สำหรับให้บริการในห้องของผู้โดยสารภายในเครื่องบิน ผู้โดยสาร โดยทั่วไป จะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยใช้อุปกรณ์ที่มี WiFi ได้ บริการอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินส่วนใหญ่ในโลก ซึ่งรวมถึงของการบินไทย ได้ใช้รูปแบบนี้ ในปัจจุบัน เป็นการใช้คลื่น Ku และ L Band ที่อาจมีต้นทุนต่อความเร็วที่สูง ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อจำกัดทางความเร็วของการใช้งาน และราคาที่สูงสำหรับผู้บริโภค แต่มีข้อได้เปรียบคือ สามารถใช้บริการได้ทั้งโลก แม้กระทั่งในเที่ยวบินที่มีการเดินทางข้ามประเทศ หรือมหาสมุทร

รูปแบบที่สอง คือการให้บริการ Aircraft to Ground (ATG) คือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยที่เครื่องบินจะติดต่อกับภาคพื้นดินโดยตรง ไม่ผ่านดาวเทียม ในรูปแบบนี้ ผู้ให้บริการจะใช้เสาสัญญาณ 3G จากภาคพื้นดิน ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ยิงสัญญาณขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งต่างกับเสาสัญญาน 3G ทั่วๆไป ที่ถูกออกแบบให้ยิงคลื่นสัญญาณลงสู่พื้นดิน เครื่องบินจะมีเครื่องรับสัญญาน 3G ชนิดพิเศษ และจะแปลงสัญญาณเป็น WiFi เพื่อให้บริการต่อภายในห้องของผู้โดยสาร ข้อได้เปรียบของ ATG คือต้นทุนต่อความเร็วที่ต่ำกว่า จึงสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตในเครื่องบิน โดยมีความเร็วที่ไม่ต่างจากการให้บริการ 3G บนภาคพื้นดิน

ผู้ให้บริการหลัก ของ ATG คือ Gogo Inflight Internet ในสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่า Aircell ทั้งนี้ 85% ของเครื่องบินภายในประเทศของสหรัฐ ได้มีการติดตั้งระบบของ Gogo Inflight Internet และมีค่าใช้บริการ $4.95 สำหรับ 90 นาที และ $9.95 สำหรับ 3 ชั่วโมง มีการคาดคะเนว่า 8% ของผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินในสหรัฐ มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตในเครื่องบิน Gogo Inflight Internet ใช้เสาสัญญาณ 3G 160 ต้นสำหรับการให้บริการทั่วประเทศ

ข้อจำกัดของ ATG คือการที่ต้องอาศัยเสาสัญญาณ 3G จากภาคพื้นดิน จึงไม่สามารถให้บริการข้ามประเทศ หรือข้ามมหาสมุทรได้ การให้บริการข้ามมหาสมุทร ยังคงต้องอาศัยการให้บริการผ่านดาวเทียมตามรูปแบบแรก Gogo Inflight Internet จึงมีให้บริการสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การให้บริการผ่านดาวเทียม ตามรูปแบบแรก กำลังจะมีพัฒนาการของ Ka Band ซึ่งมีต้นทุนต่อความเร็วที่ต่ำกว่า ที่จะนำไปสู่ความเร็วที่สูงขึ้นของการใช้งาน และราคาที่ต่ำลงสำหรับผู้บริโภค ซึ่ง OnAir ที่เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับการบินไทย ก็มีแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้ Ka Band ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แม้แต่ Gogo Inflight Internet ก็ได้วางแผนที่จะเริ่มใช้งาน Ka Band สำหรับการให้บริการข้ามประเทศและข้ามมหาสมุทร

นอกเหนือจากการให้บริการ WiFi ให้ห้องของผู้โดยสารนั้น ยังมีเทคโนโลยี Femtocell ที่สามารถแปลงสัญญาณจากภายนอกเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบแรก หรือรูปแบบที่สอง ให้เป็นสัญญาณ GSM ที่รวมถึง 2G, 3G และ 4G LTE ภายในเครื่องบินได้ แต่อาจยังติดอุปสรรคทางกฎหมาย จึงไม่สามารถให้บริการได้ในประเทศไทย

3G และ WiFi บนเครื่องบิน เป็นสิ่งใหม่ในประเทศไทย ที่อาจส่งผลสู่ความเจริญก้าวหน้าทางธุรกิจ ที่รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ และเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง ของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลา ที่ไม่อาจรวมเฉพาะภาคพื้นดิน เพราะการเดินทางทางอากาศเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สำหรับการดำเนินธุรกิจ การตัดขาดจากโลกอินเทอร์เน็ต ในช่วงเวลาที่อยู่บนเครื่องบิน อาจส่งผลสู่ความเสียบเปรียบในเชิงธุรกิจก็เป็นได้

Published in Krungthepturakij on April 16, 2013