3G และเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ

สองปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าไปข้องเกี่ยวกับคนพิการ ซึ่งมีทั้งกลุ่มของผู้ที่พิการทางสายตา และผู้ที่พิการทางการได้ยิน ที่สำคัญ ยังได้สัมผัสกับ การใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึง 3G Smartphone ฯลฯ ของกลุ่มคนเหล่านี้ จึงทำให้ได้เรียนรู้ถึง โอกาสที่เทคโนโลยีเหล่านี้ จะสามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ให้กับผู้ที่พิการ ในแง่มุมที่คนธรรมดาทั่วไปอาจคาดคิดไม่ถึง iPhone นับจากรุ่น 3GS ที่ได้เปิดตัวเมื่อ 4 ที่แล้ว ได้ติดตั้งนวัตกรรม VoiceOver ซึ่งมีหน้าที่อธิบายสิ่งที่ปรากฎอยู่บนจอภาพด้วยเสียงสังเคราะห์ เพื่อให้ผู้ที่พิการทางสายตาสามารถรับรู้สิ่งที่ปรากฎอยู่บนจอภาพ และมีปฏิสัมพันธ์กับ iPhone ด้วยระบบสัมผัสได้ การอธิบายของ VoiceOver ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับระบบสัมผัส ทำให้ผู้ที่พิการ สามารถเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนจอภาพ รวมถึงตำแหน่ง คุณสมบัติ และหน้าที่ VoiceOver สามารถพูดเสียงสังเคราะห์ได้ถึง 36 ภาษา รวมถึงภาษาไทย และสามารถกำหนดความเร็วของเสียงได้

หากเคยสัมผัสกับผู้ที่พิการทางสายตา ในขณะที่กำลังใช้ iPhone จะพบว่าพวกเขาส่วนใหญ่ จะกำหนดความเร็วของเสียงสังเคราะห์ ให้เร็วเกินกว่าผู้ที่มีร่างกายปกติจะสามารถเข้าใจได้ และในบางครั้ง พวกเขาอาจฟัง SMS, อีเมล์ หรือเว็บเพจ ได้อย่างรวดเร็วกว่าการอ่านด้วยสายตาของผู้ที่มีร่างกายปกติเสียอีก

สำหรับผู้ที่จิตใจเมตตา และมี iPhone ตั้งแต่รุ่น 3GS ขึ้นไป การบริจาคให้กับผู้ที่พิการทางสายตา แทนที่จะเก็บเอาไว้เฉยๆ หรือขายเข้าตลาดมือสอง จะทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในโลกอินเทอร์เน็ตได้ผ่าน 3G และช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างที่อาจคาดคิดไม่ถึง iPhone สำหรับผู้ที่พิการทางสายตานั้น ไม่ใช่สิ่งของฟุ่มเฟือย แต่จะเป็นดวงตาของเขาเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง

สำหรับ Smartphone ในระบบอื่นๆ กลับไม่ได้พัฒนาการเข้าถึงสำหรับผู้ที่พิการอย่างจริงจัง แม้กระทั่ง Android ก็พึ่งจะเริ่มให้ความสำคัญกับคนพิการ จากรุ่น Android 4.0 เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว และกระทั่งในเวลาปัจจุบัน คุณภาพของนวัตกรรมก็ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับ iPhone ได้ จึงเป็นที่น่าเสียดาย เนื่องจาก iPhone รุ่นใหม่ ราคายังสูงอยู่ ในขณะที่ Android ราคาต่ำกว่า 3,000 บาท เริ่มมีขายในท้องตลาด

จากการสนทนากับผู้บริหารของ Apple จึงทราบว่า หนึ่งในสาเหตุที่ Apple ได้ให้ความสำคัญกับผู้ที่พิการ เกิดจากแรงผลักดันของผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่ง ที่อยู่ในทีมหลักของการพัฒนา iPhone จากแรกเริ่ม เขามีบุตรชายฝาแฝดอยู่สองคน ที่พิการทางสายตาโดยกำเนิดทั้งคู่ เขาจึงมีความพยายาม และได้ผลักดันให้ iPhone ที่เขาได้ร่วมพัฒนา สามารถถูกใช้งานได้โดยผู้ที่พิการทางสายตาทั้งโลก ซึ่งรวมถึงบุตรชายของเขาด้วย

สำหรับผู้ที่พิการทางการได้ยิน มีอยู่จำนวนมาก ที่ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้อย่างเชี่ยวชาญ แต่กลับสามารถใช้ภาษามือได้อย่างคล่องแคล่ว สำหรับผู้ที่พิการเหล่านี้ การสื่อสารด้วย SMS ในยุคก่อน 3G จึงไม่ใช่เรื่องที่ถนัด แต่การใช้ Smartphone ควบคู่กับ 3G ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถทำ Video Call กลับทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารด้วยภาษามืออย่างคล่องแคล่วและสะดวก

สำหรับผู้ที่ไม่เคยใกล้ชิดผู้ที่พิการทางการได้ยิน อาจมีความเข้าใจผิดที่ว่า ผู้ที่พิการเหล่านี้จะสามารถอ่านภาษาไทยได้อย่างคนธรรมดาทั่วไป แต่ในความจริงแล้ว ผู้ที่พิการโดยกำเนิด จะใช้ภาษามือเป็นภาษาแรก และภาษามือจะมีโครงสร้างของภาษาที่แตกต่างจากภาษาเขียน ในขณะที่ภาษาเขียนกับภาษาพูดจะมีโครงสร้างเดียวกัน คนพิการที่ไม่เคยใช้ภาษาพูดมาก่อน จึงอาจไม่มีความคุ้นเคย และเกิดความแตกฉานในภาษาเขียน ดังนั้นการสื่อสารด้วยภาษาผ่านระบบโทรคมนาคม ก่อนยุคของ 3G สำหรับผู้ที่พิการทางการได้ยิน อาจทำได้ยากกว่าผู้ที่พิการทางสายตาด้วยซ้ำ ซึ่งยังสามารถสื่อสารโดยใช้ระบบเสียงได้

เป็นที่น่าเสียดาย ที่ยังมีผู้เข้าใจผิด ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 3G Smartphone ฯลฯ จะเกิดประโยชน์กับเฉพาะผู้ที่มีฐานะ อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ฯลฯ เท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว การใช้เทคโนโลยีอย่างถูกวิธี สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส คนพิการ ฯลฯ ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ ซึ่งการที่บุคคลเหล่านี้ จะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ กลับไม่ใช่ส่ิงฟุ่มเฟือยเลย แต่จะเปิดโอกาสให้พวกเขา มีเครื่องมือทดแทน ที่ทำให้สามารถบริโภคบริการโทรคมนาคม และข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ การเข้าถึง 3G Smartphone ฯลฯ อาจสร้างแตกต่างให้กับคนพิการ ได้มากยิ่งกว่ากับคนธรรมดาเสียอีก

Published in Krungthepturakij on April 2, 2013