Big Data กับข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อกูเกิล-เฟซบุ๊คถูกฟ้องร้อง
/สวัสดีปีใหม่ 2014 ครับ ปีนี้จะเป็นอีกปีที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ "ไอที" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับให้บริการองค์กร นวัตกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ Big Data ซึ่งได้เคยกล่าวถึงอยู่หลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา กำลังจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2014 ที่จะมีการลงทุนทางด้าน Big Data ทั่วโลก เป็นมูลค่ากว่า 400,000 ล้านดอลลาร์ แม้กระทั่งในประเทศไทย หลายภาคส่วนของธุรกิจ Enterprise ได้เริ่มให้ความสำคัญกับ Big Data เพื่อเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการเอาชนะคู่แข่งทางธุรกิจ
อย่างไรก็ดีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีข่าวคราวของการรวมตัวกันฟ้องร้องแบบกลุ่ม (Class Action Lawsuit) โดยมีบริษัท Facebook เป็นจำเลย ในคดีความที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Big Data ในการกระทำ Analytic กับข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า เพื่อที่จะเรียนรู้พฤติกรรม และทำให้ Facebook เพิ่มประสิทธิภาพในการขายโฆษณา ให้กับผู้ซื้อโฆษณาซึ่งเป็นบุคคลที่สาม
การฟ้องร้องในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะได้อ้างว่า เป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้า แต่ยังอ้างถึงการใช้วิธีการที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม เพื่อทำลายคู่แข่งและเอาเปรียบคู่แข่งขัน การฟ้องร้องในครั้งนี้ ยังได้เรียกร้องค่าเสียหายจาก Facebook เป็นมูลค่าสามแสนบาทต่อลูกค้าหนึ่งคน แม้กระทั่ง Google ก็ยังเคยตกเป็นจำเลย สำหรับการฟ้องร้องในคดีความที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ Analytics กับข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า เมื่อมีการกล่าวหาว่า Google ได้กระทำ Analytic กับการสื่อสารของลูกค้าที่ได้เกิดขึ้นผ่านระบบของ Google อย่างเช่น Gmail เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเสนอโฆษณา
ถึงแม้ว่าทั้งสองบริษัท จะปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่หากกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐได้มีการตัดสินคดีความออกมาทางใดทางหนึ่ง ย่อมต้องมีผลต่อการกำหนดบรรทัดฐานทางกฎหมาย สำหรับการทำ Analytic ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของลูกค้า ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดของการลงทุนในเทคโนโลยี Big Data ข้อมูลหลายประการของลูกค้า ย่อมมีโอกาสที่จะถูกตัดสินว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายในหลายประเทศ ให้การคุ้มครองเพียงแต่บทบาทของ Big Data และ Analytic ในปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้ สำหรับนักกฎหมายที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี Google อาจถือได้ว่าเป็นบริษัทต้นแบบของการทำ Big Data และ Analytic แม้กระทั่ง คำว่า Analytic อาจถูกริเริ่มโดยบริการของ Google ที่เรียกว่า Google Analytics ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์ในเชิงลึก พฤติกรรมของลูกค้าที่ใช้บริการเว็บไซต์ต่างๆ รายได้หลักของ Google มาจากการขายโฆษณา ซึ่ง Google มีเทคโนโลยีในการทำ Analytic อย่างพิเศษ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเสนอโฆษณาให้กับลูกค้า โดยเพิ่มโอกาสที่โฆษณา จะมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่ปลายทาง
จากยุคแรกเริ่ม Google นำเสนอโฆษณา โดยกำหนดให้ตรงกับคำค้น (Key Word) ที่ลูกค้าใช้ค้นหาบนเสิร์ชเอนจิ้น (Google Adwords) และให้ตรงกับเนื้อหาของเว็บไซต์ที่ลูกค้าเข้าชม (Google Adsense) ต่อมา Google ได้นำ
เสนอนวัตกรรม Google AdChoices ที่กำหนดโฆษณาให้ตรงกับพฤติกรรมของลูกค้าโดยตรง ซึ่งเป็นข้อมูลของลูกค้าที่ Google ได้เก็บสะสม ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมในการเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ และอาจรวมถึงสิ่งที่ลูกค้าได้กระทำระหว่างที่เข้าชมเว็บไซต์เหล่านั้น นอกจากนี้ยังอาจมีการใช้ข้อมูลอื่นๆ เช่น ตำแหน่งสถานที่ของลูกค้า อุปกรณ์ในการเข้าถึง ฯลฯ ซึ่ง Google มีระบบ Analytics ที่สามารถศึกษาโปรไฟล์ของลูกค้าอย่างแม่นยำและอัตโนมัติ
ในโลกอินเทอร์เน็ต ได้เกิดข้อกังขา ในกรณีที่ว่า พฤติกรรมในการเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ ที่ Google ได้เก็บสะสม จะสามารถถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าได้หรือไม่ และการกระทำ Analytis ในระดับใด จึงจะไม่เป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้า อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของ Facebook การฟ้องร้องได้อ้างว่า Facebook ได้กระทำ Analytic กับการสื่อสารของลูกค้าผ่านการส่งข้อความใน Facebook เพื่อที่จะเรียนรู้พฤติกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในการขายโฆษณา ของ Facebook โดยทำการวิเคราะห์เว็บไซต์ที่ลูกค้าได้กล่าวถึง ในข้อความต่างๆ และเทียบเคียงเป็นการกด Like เพื่อที่จะศึกษาเป็นโปรไฟล์ความต้องการของลูกค้า
สำหรับประเทศไทย สิทธิในความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล เป็น สิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ได้บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 35 และในขณะนี้ ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... โดยมีการกำหนดมาตรการรวมถึงความผิดที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และยังได้กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูและของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
กฎหมายดังกล่าว จะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่จะมีการกำกับดูแลทางด้านข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรงด้วยกฎหมายเฉพาะทาง และเมื่อมีผลใช้บังคับ ย่อมเป็นผลดีต่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ย่อมเพิ่มภาระหน้าที่ รวมถึงความเสี่ยงทางกฎหมายให้กับหน่วยงานที่จะประสงค์ใช้ Big Data เพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ
Big Data ย่อมหมายข้อมูลที่มีปริมาณมากมายอย่างมหาศาล แต่สำหรับการแข่งขันทางธุรกิจ Enterprise ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง คดีความต่างๆ ในระดับโลก รวมถึงกฎหมายกำลังยกร่างในประเทศไทย เป็นสิ่งที่สมควรจะศึกษา เพราะไม่เพียงแต่จะเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางกฎหมาย
แต่ยังคงเป็นเรื่องของจริยธรรม ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
Published in Krungthepturakij on January 7, 2014