Android สู่หุ่นยนต์ ก้าวต่อไปของกูเกิล-ไอซีที

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา การเปิดตัวของ Amazon Prime Air ที่ใช้อากาศยานไร้คนขับที่เรียกว่า โดรน ในการขนส่งสินค้า เพื่อสร้างระบบอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจ จนเกิดเป็นไวรัลวีดิโอ ที่มีการส่งต่อและมีผู้เข้าชมเกือบ 15 ล้านคนบนยูทูบ และที่สำคัญ UPS บริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ได้ออกมาเปิดเผยว่า กำลังทำการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพื่อที่จะทดแทนการขนส่งสินค้าด้วยมนุษย์ การบุกเบิกของทั้ง Amazon และ UPS อาจเป็นจุดเริ่มต้นสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมไอซีที ที่จะมีการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ ซึ่งควบคุมผ่านไอซีที และสามารถทำงานทดแทนมนุษย์ เพื่อการปฏิบัติการอย่างอัตโนมัติ โดยจะเป็นการเปิดมิติใหม่ ที่ไอซีทีจะสามารถทะลุทะลวงโลกดิจิทัลออกมาเชื่อมต่อกับโลกจริง (Physical World) ซึ่งมีหุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทำงานแทนมนุษย์ (Mechanization)

แต่ถึงกระนั้น พัฒนาการของหุ่นยนต์ ที่เชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมไอซีที ก็มิได้หยุดยั้งอยู่เพียง Amazon และ UPS เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้มีข่าวคราวของการล่าซื้อบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดย Google ซึ่งภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา Google ได้เข้าซื้อถึง 8 บริษัทที่พัฒนาหุ่นยนต์ ล่าสุดคือบริษัท Boston Dynamics ผู้ผลิตเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้กับกองทัพสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทที่แยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัย MIT ของสหรัฐ ในขณะที่เทคโนโลยีโดรนของ Amazon Prime Air เป็นหุ่นยนต์ภาคอากาศ ที่สามารถบินได้ ความโดดเด่นของ Boston Dynamics คือหุ่นยนต์ภาคพื้นดิน ที่ถูกจำลองมาจาก การเดิน การวิ่ง การกระโดด และการปีนป่าย ของสัตว์สองขา สัตว์สี่ขา และ สัตว์หกขา เพื่อที่จะสามารถบรรทุกน้ำหนัก และเดินทางผ่านภูมิประเทศชนิดต่างๆ จนรวมถึงสิ่งกีดขวาง ได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย หุ่นยนต์ของ Boston Dynamics ล้วนถูกออกแบบมาให้มีความทนทาน เพราะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้กับกองทัพสหรัฐ

ก่อนหน้าที่ Google จะเข้าซื้อ Boston Dynamics เป็นชื่อที่คุ้นหูอยู่แล้วในโลกโซเชียลมีเดีย หลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีของ Boston Dynamics ได้ถูกเผยแพร่เป็นไวรัลวีดิโอผ่านยูทูบ และมีผู้เข้าชมมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านครั้ง? โดยเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ที่มีชื่อคล้ายสัตว์ และมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับหุ่นยนต์จากภาพยนตร์เชิงวิทยาศาสตร์ ที่มีทั้งความล้ำสมัย และน่าสะพรึงกลัว แต่กลับใช้งานได้จริง

ที่เหมือนกับเป็นเหตุบังเอิญ Google ยังได้แต่งตั้ง Andy Rubin เป็นหัวหน้าของหน่วยงานใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ ที่สามารถใช้งานได้ในโลกจริง สำหรับ Andy Rubin เคยเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา Android ของ Google ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ขนาดเล็ก ให้มีศักยภาพไม่แพ้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และมีแพร่หลายอยู่ในมือคนเป็นล้านคน เป็นเรื่องที่แปลก เพราะว่า Android มีความหมายเป็นภาษาอังกฤษว่า หุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ ภาระหน้าที่ใหม่ของ Andy Rubin จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านจากโครงการที่ชื่อมีความหมายว่าหุ่นยนต์ มาสู่การพัฒนาหุ่นยนต์จริงๆ

ปัจจุบัน การหลอมรวมเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไอซีที ล้วนมุ่งเน้นการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ที่รวมถึง ตัวหนังสือ ภาพ เสียง และวีดิโอ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารทางเดียว สองทาง หรือหลายทาง จะสามารถเข้าถึงได้ด้วยอุปกรณ์หลากหลายชนิด ได้แก่ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ ฯลฯ แต่ถึงกระนั้น การหลอมรวมยังคงถูกจำกัดอยู่เพียงข้อมูลข่าวสารที่สามารถทำให้เป็นระบบดิจิทัลได้ แต่การหลอมรวมเทคโนโลยีในยุคต่อไป จะต้องมีการเชื่อมต่อจากโลกดิจิทัลออกมาสู่โลกจริง อย่างทะลุทะลวง โดยมีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ทำหน้าที่ Mechanization เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกจริง

ตัวอย่างการหลอมรวมเทคโนโลยีในปัจจุบัน ลูกค้าสามารถสั่งซื้อและดาวน์โหลดเพลง เพื่อบริโภคผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่ต้องลุกออกจากเก้าอี้ เพราะว่าทุกอย่างอยู่ภายในวงจรของระบบดิจิทัล และเพลงสามารถถูกแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าดิจิทัล ที่สามารถนำส่งผ่านสายอินเทอร์เน็ตได้ แต่หากลูกค้าต้องการซื้อสินค้าที่จับต้องได้ เช่น ถ้วยกาแฟ การสั่งซื้อด้วยอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน ไม่สามารถอยู่ภายในวงจรของระบบดิจิทัลทั้งหมด เพราะถ้วยกาแฟ ไม่สามารถถูกแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าดิจิทัล ที่ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดผ่านสายอินเทอร์เน็ตได้ แต่กลับต้องใช้การขนส่งด้วยรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งต้องบังคับด้วยมนุษย์ เพื่อที่จะนำสินค้ามาส่งถึงมือผู้ซื้อที่ปลายทาง

ในอนาคต Mechanization ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นภาคอากาศ เช่น Amazon Prime Air หรือ ภาคพื้นดินเช่นเทคโนโลยีของ Boston Dynamics การหลอมรวมเทคโนโลยี จะเป็นการเชื่อมต่อจากโลกดิจิทัล เข้าสู่โลกจริง เช่น ถ้วยกาแฟในตัวอย่างก่อนหน้า จะสามารถถูกนำส่งด้วยหุ่นยนต์ และถูกควบคุมผ่านไอซีทีทั้งหมด โดยเป็นระบบอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร

นอกเหนือจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์ การหลอมรวมเทคโนโลยีเข้าสู่โลกจริงที่สำคัญอีกประการ คือการพิมพ์สามมิติ ที่กำลังมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในตัวอย่างของถ้วยกาแฟ ลูกค้าจะสามารถใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ พิมพ์ถ้วยกาแฟออกมาจากอินเทอร์เน็ตเลย โดยไม่ต้องถูกจัดส่ง ด้วยหุ่นยนต์หรือมนุษย์ก็ตาม

พัฒนาการของเทคโนโลยีดังกล่าว เป็นเรื่องที่สมควรต้องติดตาม เพราะว่าก้าวต่อไปของเทคโนโลยีในครั้งนี้ จะส่งผลสู่การเปลี่ยนของหลายอุตสาหกรรม และเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ที่ไหวตัวทัน การหลอมรวมเทคโนโลยีในปัจจุบันซึ่งเป็นบริบทของดิจิทัล ได้ส่งผลสู่การเปลี่ยนแปลงเกือบทุกธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสาร

แต่การหลอมรวมเทคโนโลยีในยุคต่อไป จะเป็นการผลักดันจากอุตสาหกรรมไอซีทีเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ภาคโลจิสติกส์ ภาคการผลิต ฯลฯ ที่ต้องได้รับผลกระทบ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงสินค้าที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าดิจิทัลได้อีกต่อไป

Published in Krungthepturakij on December 24, 2013