Big Data ขุดทองในอากาศ โดยไม่ต้องลงทุน
/พฤหัส (26 มี.ค.) ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญในระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ นั่นคือการ SET ได้หลุดลงต่ำกว่า 1500 อีกครั้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เคยมีความหวังว่าจะทะยานขึ้นทะลุ 1650 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดเมื่อ พ.ค. 2556
สำหรับนักลงทุนที่มีประสบการณ์ ย่อมเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ เพราะ Price-Earning Ratio (P/E) สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะภายหลังการประกาศผลประกอบการ Q4 2557 ที่ Earning ของบริษัทส่วนใหญ่ ได้ลดลงอย่างน่าตกใจ
อย่างไรก็ดี P/E ของตลาดปัจจุบัน นับว่าอยู่ในจุดที่สูงอย่างเป็นประวัติการณ์ หากนับจากวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นต้นมา มีเพียงแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่จะมี P/E ของตลาดที่สูงกว่าในปัจจุบัน
แม้ว่าดัชนีของ SET หรือกระทั่งราคาหุ้น (Price) รายบริษัท จะเป็นผลลัพธ์จากเก็งกำไรในตลาดหุ้น และความผันผวนในอารมณ์ของนักลงทุน แต่ Earning เป็นผลลัพธ์จากการดำเนินการโดยตรงของบริษัท ซึ่งขึ้นอยู่กับโชคชะตา และความเก่งกาจของผู้บริหาร สรุปโดยง่าย หน้าที่ของผู้บริหารก็คือการเพิ่ม Earning โดยการหารายได้และลดค่าใช้จ่าย
หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสผ่านประสบการณ์ ทั้งในการลงมือกระทำจริง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และการศึกษาดูงานอย่างเข้มข้น ในการใช้ Big Data เพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย อย่างที่มีผลกับ Earning ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐ เป็นผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่ของโลก โจทย์สำคัญของบริษัทนี้ก็คือ จากจำนวนของวัวที่บริษัทสามารถผลิตได้ ควรจะแล่เนื้อออกเป็นชิ้นส่วนอะไรบ้าง เช่น สันใน สันนอก ทีโบน น่อง ฯลฯ เพื่อนำไปขายในตลาด แต่ความยากลำบากก็คือ วัวหนึ่งตัวสามารถถูกแล่เนื้อได้หลายหลายวิธี ซึ่งทำให้ได้ผลลัพธ์คือปริมาณของแต่ละชิ้นส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนมีราคาและความต้องการในตลาดที่ไม่เท่ากัน และตลาดย่อมมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา และบางชิ้นส่วนถูกนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีก
โดยอาศัย Big Data ซึ่งใช้การประมวลข้อมูลระหว่างไลน์ผลิตและตลาด เพื่อค้นหาจุดสมดุลที่สร้างคุณค่าสูงสุด บริษัทนี้สามารถกำหนดวิธีแล่เนื้อได้ถูกต้อง เพื่อให้ได้สัดส่วนของชิ้นส่วนที่ตรงต่อความต้องการของตลาด และสามารถเพิ่มมูลค่าจากแปรรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถเพิ่มรายได้อย่างมีนัยสำคัญ
อีกตัวอย่าง บริษัทผลิตรถยนต์ในเยอรมันนี เป็นผู้ส่งออกรถหรูรายใหญ่ของโลก ที่รู้จักกันดีในประเทศไทย ก็ได้อาศัย Big Data ประมวลข้อมูลของไลน์ผลิตด้วยหลักสถิติ เพื่อค้นหาวิธีลดขั้นตอนและข้อผิดพลาดของการสร้างเครื่องยนต์ รวมทั้งการนำชิ้นส่วนที่ผิดพลาดกลับมาหลอมเป็นวัตถุดิบเพื่อประกอบใหม่ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของบริษัท ทำให้สามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ
การใช้งาน Big Data เหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการพัฒนาผลกระกอบการของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ แต่ได้มีผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพด้าน Big Data ระดับโลกอยู่หลายหน่วยงาน ที่อาสาทำหน้าที่นี้ให้ฟรี หรือคิดค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิด แต่เพื่อแลกกับส่วนแบ่งของ Earning ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ หรือลดต้นทุน ตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดกันไว้
ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ Big Data คือการขุดทองขึ้นมาจากอากาศ ซึ่งพวกเขาพร้อมที่จะลงทุนเอง เพื่อทำให้กับบริษัทที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ โดยหวังผลตอบแทนจากส่วนแบ่งของกำไรที่เกิดขึ้น
สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน การทำธุรกิจแบบนี้ไม่ควรถูกมองข้าม เพราะอุปสรรคที่สำคัญของ Big Data คือการลงทุนในระบบและบุคลากรที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งหลายบริษัทในไทยคงต้องมีการยกเครื่องทั้งระบบ IT และบุคลากรครั้งใหญ่ ก่อนที่คิดจะริเริ่มลงทุนใน Big Data ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพเหล่านี้ย่อมมาพร้อมกับระบบในรูปแบบของ Cloud Computing และทีมงานนักวิทยาศาสตร์ดาต้า (Data Scientists) ที่มีประสบการณ์ในระดับโลกและสามารถปฏิบัติงานได้ในทันที
โจทย์ที่สำคัญของผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data มืออาชีพ คือการเพิ่ม Earning อย่างมั่นคงและถาวร อย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ของการแล่เนื้อวัว หรือการพัฒนาขั้นตอนของไลน์ผลิตรถยนต์ ล้วนส่งผลต่อการเพิ่มรายได้และลดต้นทุนในระยะยาว เป็นเวลาหลายปีหลังจากที่ได้ใช้ Big Data คิดค้นยุทธวิธีดังกล่าว การเพิ่ม Earning จาก Big Data จึงสามารถคาดหวังเป็นการเพิ่มราคาหุ้นและ Market Cap ตามตัวคูณของ P/E ได้
ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน การร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้เชี่ยวชายด้าน Big Data เพื่อการขุดทองจากอากาศ อาจเป็นทางออกที่ดีของหลายบริษัท ที่มีความต้องเร่งผลประกอบการ แต่ไม่มีความพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มในระยะนี้
Published in Krungthepturakij on March 31, 2015