Crowdfunding โอกาส SME ไทย

ผมเป็นผู้ที่มีรสนิยมแตกต่าง ถูกจัดได้ว่าเป็น Niche หรือ Long Tail สินค้า Mainstream ที่ทุกคนสนใจกลับไม่เคยอยู่ในสายตา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าตามกระแสหรือที่เรียกว่านำกระแสก็ตาม

การเลือกซื้อสินค้าของผม ทำได้อย่างยากลำบาก เพราะสินค้าส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาสำหรับลูกค้า Mainstream ที่ซื้อสินค้าตามกระแส เพราะเป็นเรื่องยากและเต็มไปด้วยความเสี่ยง สำหรับผู้ผลิตรายหนึ่ง ที่จะกู้ยืมหรือระดมทุนด้วยวิธีอื่น มาเพื่อผลิตสินค้าสำหรับลูกค้า Niche

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมได้ค้นพบ Kickstarter.com ซึ่งเป็นบริการระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) ผู้ที่มีไอเดียที่จะผลิตสินค้าและนวัตกรรมที่น่าสนใจ แต่ไม่มีเงินทุน สามารถระดมทุนผ่าน Kickstarter.com ได้ และผู้ที่มีความสนใจและต้องการให้สินค้าจากไอเดียนั้นถูกผลิตขึ้นมาจริง สามารถให้เงินสนับสนุนได้ โดยอาจมีสิ่งตอบแทน เช่นของที่ระลึก หรือกระทั่งสิทธิในการเป็นเจ้าของรุ่นพิเศษของสินค้านั้น เมื่อถูกผลิตขึ้นมาจริง

ตัวอย่าง มีลูกค้า Niche อยู่กลุ่มหนึ่ง ที่ยังคงใช้กล้องถ่ายรูปฟิล์มอยู่ ซึ่งผมก็อยู่ในกลุ่มนั้น และในส่วนที่เป็น Niche ภายนั้น Niche นั้นอีกทีหนึ่ง คือกลุ่มที่ยังคงใช้เครื่องวัดแสงอยู่ Lumu คือนวัตกรรมที่เปลี่ยน iPhone เป็นเครื่องวัดแสงสำหรับกล้องฟิล์ม โดยนวัตกรรมนี้ ได้ระดมทุนโดย Crowdfunding ผ่าน Kickstarter.com ได้ถึง 244,085 ดอลลาร์ (ประมาณ 8 ล้านบาท) ผู้ที่สนับสนุนจะได้รับสิ่งตอบแทนได้แก่ ผู้ที่สนับสนุน 1ดอลลาร์ จะถูกแสดงชื่อขอบคุณบนเว็บไซต์ ผู้ที่สนับสนุน 29 ดอลลาร์จะได้เสื้อยืดที่ระลึก ผู้ที่สนับสนุน 79 ดอลลาร์ จะได้ Lumu ก่อนคนอื่นเมื่อพัฒนาสำเร็จ เป็นต้น

แต่อย่าเข้าใจผิดว่า Niche จะต้องหมายถึงโครงการที่มีขนาดเล็กเสมอไป คนที่รู้จัก Long Tail ย่อมต้องเข้าใจว่า การเข้าถึง Niche อย่างมีกลยุทธ์นั้นหมายถึงรายได้อันมหาศาล

Pebble Time คือนาฬิกา Smart Watch ที่ใช้ E-Paper เป็นจอภาพ และถูกเปิดตัวมาในจังหวะใกล้เคียงกับ Apple Watch ทั้งนี้ Niche ของ Pebble Time คือผู้ใช้ที่ต้องการจอภาพ E-Paper และ Features อื่นที่หาไม่ได้ใน Apple Watch ขณะนี้ Pebble Time กำลังระดมทุนจากมวลชนผ่าน Kickstarter.com ได้มูลค่าถึง 18,474,600 ดอลลาร์ (ประมาณ 608 ล้านบาท) ในขณะที่การระดมทุนยังไม่สิ้นสุด และยังเหลือเวลาอีก 12 วัน

คงจะเป็นการยาก หาก Lumu และ Pebble Time ต้องกู้ยืมหรือระดมทุนด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อมาผลิตสินค้าที่เป็น Niche อย่างนี้ แต่ผู้ที่สนับสนุนผ่าน Crowdfunding คือผู้ที่อยู่ในกลุ่ม Niche และมีความสนใจอยากเห็นสินค้าถูกผลิตขึ้นมาจริงๆ

สำหรับประเทศไทย Crowdfunding เป็นโอกาสที่สำคัญของ SME

โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการระดมทุน ที่ไม่ต้องไปเสี่ยงกับการกู้ยืมเงินและการที่ต้องแบ่งหุ้น หากเป็นกรณีของ Venture Capitalists ที่มาช่วยลงทุนในบริษัท

เร็วๆนี้ ยังได้มีความเคลื่อนไหวของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เตรียมการประกาศเกณฑ์ เกี่ยวกับ Crowdfunding ในประเทศไทย แต่ที่น่าสนใจมาก คือกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ยังจะเพิ่มรูปแบบของ การคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับนักลงทุน และการได้รับผลตอบแทนเป็นหุ้นหรือหุ้นส่วน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่ได้พบเห็นบ่อยนักในต่างประเทศ แต่เป็นการเปิดโอกาสที่สำคัญให้กับนักลงทุนที่ต้องการดอกเบี้ยหรือหุ้นทดแทนการสนับสนุนในโครงการต่างๆ

อย่างไรก็ดีผู้สนับสนุนและนักลงทุนควรพึงสังวรณ์ไว้ด้วยว่า ก.ล.ต. ไม่กำหนดความรับผิดชอบของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนแล้วดำเนินการไม่สำเร็จ นอกจากนี้ยังกำหนดผู้สนับสนุนสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อผลงาน จึงอาจมิใช่การลงทุนที่เป็นกอบเป็นกำ เมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์

นับเป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่จะมีระบบในการสนับสนุนทางการเงินและกระตุ้นการคิดค้นนวัตกรรมในกลุ่ม SME ของไทย และคงไม่ใช่เรื่องแปลก หากมี SME ที่นำเสนอโครงการที่ดีมาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ต้องคอยติดตามถึงการยอมรับในส่วนของผู้สนับสนุนและกระทั่งนักลงทุน ว่าในระยะแรกจะให้ความสำคัญกับ Crowdfunding ถึงเพียงใด

จะเป็นการดีเยี่ยมหากมีการเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการสนับสนุนและระดมทุนของธุรกิจ Start Up

Published in Krungthepturakij on March 17, 2015