Big Data กับความลับส่วนบุคคล และการดักฟังข้ามชาติ
/เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปเป็นผู้อภิปรายรับเชิญ ในสัมมนา Asia/Pacific Big Data Conference 2013 ที่จัดขึ้นโดย IDC เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ได้เห็นความตื่นตัวของธุรกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะจากกลุ่มการเงิน ที่มีความสนใจในการที่จะประยุกต์ใช้ Big Data และ Analytics เพื่อแสวงหาความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ ทั้งนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจาก การปฏิวัติเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทย ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยรวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับเทคโนโลยี 3 จี 4 จี และ ทีวีดิจิทัล ของภาครัฐ และพัฒนาการของ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และ สมาร์ททีวี ที่เป็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ค กว่า 24 ล้านคน และผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนกว่า 49% ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลสะท้อนจากการปฏิวัติเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทยดังกล่าว
จากจำนวนของผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น และอุปกรณ์ในยุคดิจิทัลที่มีสมรรถนะสูงขึ้น ข้อมูลหรือ Data ย่อมมีปริมาณที่สูงขึ้นอย่างเป็นทวีคูณ ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้น ของแต่ละบุคคล จากการใช้ชีวิตประจำวันในยุคดิจิทัลได้รวมไปถึง การใช้โทรศัพท์ การส่งข้อความ การถ่ายภาพ การถ่ายวีดีโอ การใช้เสิร์ชเอนจิน การเข้าชมเว็บไซต์ การเลือกซื้อสินค้า การสมัครสมาชิก การเป็นเพื่อนหรือการมีสัมพันธ์ระหว่างบุคคล พิกัดสถานที่ ฯลฯ ข้อมูลดังกล่าว สามารถถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยการกระทำ Analytics เพื่อที่จะศึกษา นิสัย พฤติกรรม ความต้องการ ฯลฯ ของแต่ละบุคคล เพื่อที่จะคิดค้นยุทธวิธีในการนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล โดยจะเพิ่มโอกาสสูงสุดที่บุคคลผู้นั้นจะเลือกซื้อสินค้า
ดังที่เคยกล่าวถึงหลายครั้ง ปริมาณของข้อมูลที่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นทวีคูณในยุคดิจิทัล ไม่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยเทคโนโลยีขึ้นพื้นฐานอีกต่อไป จึงต้องใช้เทคโนโลยีของ Big Data เพื่อที่จะสามารถกระทำ Analytics ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี การกระทำ Analytics ด้วย Big Data มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องรักษามาตรฐานของจริยธรรม เนื่องจากข้อมูลที่เป็นความลับส่วนบุคคลสามารถถูกกระทำ Analytics ได้จากการสังเกตโดยตรง หรือจากการคาดคะเนทางอ้อมด้วยหลักสถิติ ยกตัวอย่างเช่น จากข้อมูลการสมัครสมาชิกอาจทำให้สังเกตได้โดยตรงว่าบุคคลผู้หนึ่งมีอายุเท่าไหร่หรือมีอาชีพอะไรในขณะที่ จากข้อมูลการเลือกซื้อสินค้า การใช้เสิร์ชเอนจิน การเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ อาจสามารถใช้หลักสถิติเพื่อคำนวณทางอ้อมได้ด้วยความแม่นยำ 98% ว่าบุคคลผู้หนึ่งน่าจะป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือกระทั่งจากสถิติของการใช้ถ้อยคำในการส่งข้อความ อาจสามารถใช้หลักสถิติคำนวณทางอ้อมได้ด้วยความแม่นยำ 95% ว่าบุคคลผู้หนึ่งน่าจะเข้าสู่การหย่าร้างในอีกไม่กี่สัปดาห์
ภัยที่อันตรายที่สุดต่อการละเมิดความลับส่วนบุคคล กลับมิใช่ข้อมูลที่สามารถสังเกตได้โดยตรง แต่เป็นข้อมูลที่สามารถคาดคะเนทางอ้อมได้ด้วยหลักสถิติ เนื่องจากในขณะที่แต่ละบุคคล อาจสามารถมีความระมัดระวัง ที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับที่สามารถสังเกตได้โดยตรง แต่การที่แต่ละบุคคล จะสามารถควบคุมการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลของตน เพื่อที่จะมิให้เกิดเป็นรูปแบบหรือ Pattern ที่สามารถนำไปคำนวณด้วยหลักสถิติ เป็นสิ่งที่ยากมาก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นเลือกที่จะไม่ใช้อุปกรณ์ในยุคดิจิทัลเลยเท่านั้น เนื่องจากพฤติกรรมต่างๆ ในโลกที่ดิจิทัลที่ทำให้เกิดเป็น Pattern นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในขณะที่บุคคลผู้นั้นย่อมไม่รู้ตัว และในบางครั้ง การกระทำ Analytics ด้วย Big Data อาจสามารถทำให้ล่วงรู้ความลับส่วนบุคคลที่บุคคลผู้นั้นอาจมิเคยรู้เกี่ยวกับตัวเองเลยก็เป็นได้
ภัยอันตรายอีกประการหนึ่ง คือในยุคดิจิทัลที่ไร้พรมแดนระหว่างประเทศ ผู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะสามารถนำเทคโนโลยี Big Data มาใช้ เพื่อการกระทำ Analytics ในประเทศไทย กลับเป็นธุรกิจข้ามชาติ ได้แก่ผู้ให้บริการ เสิร์ชเอนจิน โชเชียลเน็ตเวิร์ค ฯลฯ ที่มีความล้ำหน้ากว่าธุรกิจภายในประเทศ ทั้งในด้านของเทคโนโลยี บุคลากร และกำลังทุน และยังสามารถให้บริการในประเทศไทยได้โดยสามารถหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายไทย เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีนิติบุคคลในประเทศ ตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีของ Line ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับส่งข้อความที่มีผู้ใช้กว่า 18 ล้านคนในประเทศ ผู้ให้บริการ Line ซึ่งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น สามารถมองเห็นการส่งข้อความระหว่างกันของคนไทยกว่า 18 ล้านคน ในขณะเดียวกัน สามารถปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐของไทย เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะว่า Line อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายญี่ปุ่น
แต่ถึงกระนั้น ยังอาจเป็นความเคราะห์ดีของประชากรไทย ที่ธุรกิจข้ามชาติในยุคดิจิทัล ส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ให้ความสำคัญกับการรักษาความลับส่วนบุคคล เนื่องจากกฎระเบียบและประเพณีปฏิบัติในประเทศเหล่านั้น ล้วนมีพัฒนาการที่สูงกว่ากฎระเบียบและประเพณีปฏิบัติในประเทศไทย ที่พึ่งจะปฏิวัติเข้าสู่ยุคดิจิทัลในไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การรักษาความลับส่วนบุคคลในกรณีพื้นฐาน ย่อมมีความแตกต่างกับการปกป้องความลับที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีข่าวคราวของการดักฟังการใช้โทรศัพท์ของประธานาธิบดี และผู้มีอำนาจทางการเมืองของประเทศอินโดนีเซีย โดย เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน จอมแฉ ได้อ้างว่าเป็นผลงานของรัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย หากเรื่องราวดังกล่าวเป็นความจริง การกระทำ Analytics ด้วย Big Data บน เสิร์ชเอนจิน โชเชียลเน็ตเวิร์ค ฯลฯ เพื่อค้นหาความลับของผู้นำประเทศ หรือผู้มีอำนาจทางการเมือง อาจไม่ได้อยู่ไกลเกินจริง และเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายของ Big Data ที่มีการครอบคลุมสูงสุด ล้วนเป็น ธุรกิจข้ามชาติ ที่สามารถหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายไทยได้
ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสำคัญกับ Big Data กับอานุภาพของการกระทำ Analytics เพื่อแสวงหาความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ หลายฝ่ายอีกเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจกำกับดูแล ย่อมสมควรที่จะให้ความสำคัญกับการรักษาความลับส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรมีการกำหนดจรรยาบรรณของการกระทำ Analytics เนื่องจากสามารถเข้าถึงความลับส่วนบุคคลได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะมีผลต่อประชากรไทยอย่างกว้างขวาง อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญ คือการกำกับดูแลธุรกิจข้ามชาติที่มิได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย แต่เป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการประยุกต์ใช้ Big Data ให้เกิดประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น Big Data ยังสามารถเป็นเครื่องมือเพื่อการดักฟัง ฯลฯ เพื่อความได้เปรียบด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยในปัจจุบัน อาจยังไม่ได้มีการป้องกันเลย
Published in Krungthepturakij on November 26, 2013