จาก โซเชียลมีเดีย สู่ บิ๊กดาต้า เพื่อชัยชนะทางการเมือง

ในยุคปัจจุบัน การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ หรือ ยูทู๊บ คงไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับประเทศที่มีการเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งในประเทศไทย ที่มีผู้ใช้งานเกือบ 20 ล้านคนแล้ว ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ถูกยกย่องว่า เป็นนักการเมืองระดับแนวหน้าคนแรก ที่ได้บุกเบิกการใช้งานโซเชียลมีเดียในการหาเสียง จนกระทั่งได้รับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในปี 2008 ในสมัยนั้น โอบามา มี คริส ฮิวจ์ส ผู้ร่วมก่อตั้ง เฟสบุ๊ค เป็นผู้บริหารโซเชียลมีเดียอยู่บนเว็บไซต์ barackobama.com ระหว่างการหาเสียง มีอาสาสมัครรวมถึงฐานเสียงที่ได้สร้างโพรไฟล์อยู่บนเว็บไซต์กว่าสองล้านคน และมีอย่างน้อย 200,000 อีเว้นต์ที่ได้เกิดขึ้นจากการบริหารผ่านเว็บไซต์นี้ นอกจากนี้ ยังมีกว่า 400,000 บทความ และ 400,000 วีดีโอ ในสี่วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ยังมีการโทรศัพท์ กว่าสามล้านครั้ง โดยใช้ วีโอไอพี ผ่านหน้าเว็บไซต์นี้

สำหรับการใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ บนเฟสบุ๊ค โอบามา มีผู้ติดตามกว่าหนึ่งล้านคน และบนทวิตเตอร์ มีผู้ติดตามกว่าสี่ล้านคน และบนยูทูบ มีวีดีโอกว่า 400,000 วีดีโอ

โปรดอย่าลืมว่า สถิติที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ได้เกิดขึ้นในปี 2008 ซึ่งยังคงเป็นยุคแรกเริ่มของโซเชียลมีเดีย ภายหลังจากความสำเร็จของ บารัค โอบามา ในปี 2008 การหาเสียงบนโซเชียลมีเดียได้กลายมาเป็นประเพณีปฏิบัติ ในประเทศที่มีการเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง และไม่ใช่เรื่องที่ใหม่อีกต่อไป แม้กระทั่งในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในปี 2012 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ก้าวข้ามยุทธวิธี โซเชียลมีเดีย และประยุกต์สู่การผู้บุกเบิก บิ๊กดาต้า เพื่อชัยชนะทางการเมือง ในครั้งนี้ โอบามา ได้แต่งตั้ง แดน แวกเนอร์ เป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์ความต้องการและความเห็นทางการเมืองของฐานเสียงกลุ่มต่างๆ ที่ได้สร้างโพรไฟล์อยู่บนโซเชียลมีเดีย ของ โอบามา ซึ่งได้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า ในยุค 2008 หลายเท่าตัว

การวิเคราะห์ฐานเสียงด้วย บิ๊กดาต้า ทำให้ โอบามา สามารถทำเซ็กเมนเทชั่นอย่างละเอียด (ไมโครเซ็กเมนเทชั่น) และสามารถส่งข้อความอย่างเฉพาะเจาะจงสู่เซ็กเมนต์ต่างๆ เพื่อที่จะเรียกความพึงพอใจของฐานเสียง และยังสามารถทำซิมมูเลชั่นเพื่อคาดเดาผลตอบรับของฐานเสียง ต่อข้อความต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ ฐานเสียงแต่ละคน จะได้รับข้อความ ที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อความพึงพอใจของตน และได้ถูกคำนวณแล้ว โดย บิ๊กดาต้า ว่าจะเพิ่มโอกาสให้เกิดการตอบสนองสูงสุด

บทบาทของ บิ๊กดาต้า มิได้จำกัดอยู่เพียงการหาเสียงบนโซเชียลมีเดียของ โอบามา เท่านั้น แต่การหาเสียงทั้งหมด การจัดสรรเวลา ทุนทรัพย์ และทรัพยากรอื่นๆ ของทีม ได้ถูกคำนวณไว้โดย บิ๊กดาต้า ทั้งสิ้น เพื่อความมีประสิทธิภาพสูงสุด

บิ๊กดาต้า ของ โอบามา มิได้เป็นเพียงฐานข้อมูลสถิติธรรมดาทั่วไป แต่ โอบามา ได้พยายามสร้างโพรไฟล์ของฐานเสียงทุกคนอย่างละเอียด ซึ่ง นอกเหนือจาก ชื่อ ที่อยู่ อายุ หรือ อาชีพแล้ว ยังอาจรวมถึง การสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน การเป็นสมาชิกของคลับต่างๆ มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ที่เป็นเจ้าของ ฯลฯ โพรไฟล์เหล่านี้ สามารถนำมาคำนวณอย่างละเอียด โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของ โอบามา เพื่อที่จะคาดเดาโอกาสที่แต่ละคนจะลงคะแนนให้กับ โอบามา หรือการตอบสนองกับข้อความต่างๆ จากทีมหาเสียง

สำหรับ โอบามา บิ๊กดาต้า ย่อมมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการทำโพล เพราะนอกจากจะเป็นการหยั่งเสียงในภาพรวม ที่มีฐานข้อมูลที่ใหญ่กว่า บิ๊กดาต้า ยังสามารถเจาะลึก ทำไมโครเซ็กเมนเทชั่น หรืิอทำซิมมูเลชั่น เพื่อคาดเดาการตอบสนองของแต่ละบุคคลโดยละเอียด ที่สำคัญ บิ๊กดาต้า สามารถใช้ฐานข้อมูลที่ใหญ่กว่าการทำโพล ซึ่งสำหรับ โอบามา แล้ว คือฐานเสียงหลายล้านคน ที่มีข้อมูลโดยละเอียดสำหรับแต่ละบุคคล ในขณะที่การทำโพล อาจมีการสำรวจเพียงหลักพันหรือหมื่นคน เพื่อเป็นการหยั่งเสียงโดยคร่าว และไม่สามารถยังสามารถเจาะลึก ทำไมโครเซ็กเมนเทชั่น ซิมมูเลชั่น หรือคาดเดาการตอบสนองได้โดยละเอียด เช่นเดียวกับ บิ๊กดาต้า

สำหรับการเลือกตั้งในปี ใน ปี 2012 คะแนนโหวตกว่า 5 ล้านเสียง ของ โอบามา ได้ถูกยอมรับอย่างกว้างขวางแล้วว่าเป็นผลสำเร็จของ บิ๊กดาต้า ภายใต้การนำของ แดน แวกเนอร์ ที่เป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์

ชัยชนะทางการเมืองของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ทำให้หลายอุตสาหกรรมเริ่มให้ความสนใจใน บิ๊กดาต้า ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่เคยช่วยเหลือโอบามา ต่างแยกย้ายไปเปิดบริษัทของตัวเอง เช่น Civis Analytics, BlueLabs ฯลฯ เพื่อให้บริการ บิ๊กดาต้า กับอุตสาหกรรมต่างๆ และกลายเป็นผู้มีชื่อเสียง ในโลกเทคโนโลยี ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกการใช้งาน บิ๊กดาต้า

สำหรับเวทีการเมืองในประเทศไทย ถึงแม้ว่าโซเชียลมีเดียจะไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว แต่การที่จะได้ก้าวข้ามโซเชียลมีเดียเพื่อประยุกต์สู่การบุกเบิกบิ๊กดาต้ากลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ บิ๊กดาต้า ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในเชิงลึก ซึ่งยังมีความขาดแคลนในประเทศไทย และเป็นสาขาวิชาที่ไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมหรือได้รับความนิยมสำหรับบุคลากรในประเทศไทย ในอีกหลายเดือนข้างหน้า เราคงได้ยินคำว่า บิ๊กดาต้า อยู่บ่อยครั้ง แต่ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในประเทศไทย ต้องมีการวางแผนและลงทุนทรัพยากรต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ

Published in Krungthepturakij on November 12, 2013