การกำหนดราคาของ Bitcoin
/สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากการที่ ราคาของ Bitcoin ได้ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด อย่างเป็นประวัติการณ์ ที่ 2,679 USD ต่อหน่วย หรือเทียบเป็น 91,219 บาทนั้น ก็ได้เกิดปรากฎการณ์ ของราคา Bitcoin ที่ได้ลดลงอย่างเป็นที่น่าตกใจ ภายใน 48 ชั่วโมง โดยเหลือเพียง 2,059 USD หรือเทียบเป็นการสูญเสียมูลค่าถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 วัน ก่อนที่ ราคาจะเริ่มทยอยกลับคืนสู่ระดับที่สูงสุด ในหลายวันต่อมา
ความผันผวนของราคา Bitcoin นั้น ทำให้เกิดคำถาม สำหรับผู้ที่เริ่มต้นสนใจ Bitcoin ว่าใครเป็นผู้กำหนดราคา และมีใครที่จะสามารถมารับประกันไหมว่า มูลค่าที่เราได้ลงทุนเข้าไปใน Bitcoin จะไม่ลดลง หรือกระทั่งอันตรธานหายไป
ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ ผู้ที่สนใจใน Bitcoin จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของค่าของเงินเสียก่อน และวิวัฒนาการของเงิน จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน
หลายคน ยังคงจินตนาการถึงภาพของเงิน ที่มีสินทรัพย์เช่นทองคำหนุนหลัง ทั้งนี้ รัฐบาลของแต่ละประเทศ จะประกันมูลค่าของเงินตรา ด้วยทองคำที่เก็บเอาไว้ในคลัง
ซึ่งความจริงนั้น เงินตรา ที่หนุนหลังด้วยทองคำ ได้เป็นภาพของอดีตไปแล้ว เพราะในปัจจุบัน เงินตราประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกตรึงไว้กับทองคำ และได้วิวัฒนาการเข้าสู่การเป็น เงินเฟียต (Fiat Currency System) ซึ่งรัฐบาล เป็นผู้กำหนดค่าของเงิน ด้วยการพยุงอัตราแลกเปลี่ยน และมีการรับประกันบางอย่าง เช่น เงินตราของประเทศนั้นๆ สามารถใช่จ่ายภาษีได้ และชำระหนี้สินกับรัฐบาลได้
อย่างไรก็ดี มีตัวอย่างอยู่หลายครั้ง ที่เงินเฟียต ของบางประเทศ ไม่สามารถรักษามูลค่าของตัวเองได้ ด้วยปัญหาจากเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เสถียรภาพของรัฐบาล และการพิมพ์เงินเพิ่มของรัฐบาล ที่ไม่ได้สอดคล้องกับประสิทธิภาพของการผลิตในประเทศนั้น
สำหรับ Bitcoin แล้ว ไม่มีทั้งรัฐบาลและหน่วยงานกลาง ที่จะมารับประกันการมีคุณค่าของ Bitcoin หรือกระทั่งรัฐบาลและหน่วยงานกลางที่จะมาพยุงอัตราแลกเปลี่ยนของ Bitcoin
มูลค่าของ Bitcoin จึงขึ้นอยู่กับ Demand และ Supply ในตลาดล้วนๆ ซึ่งสำหรับ Demand นี้ ย่อมขึ้นอยู่กับจำนวน User ที่ต้องการจะใช้ Bitcoin, จำนวน Vendor ที่พร้อมจะรับ Bitcoin เป็นวิธีจ่ายเงิน และความมั่นใจในเสถียรภาพของ Bitcoin ต่อไปในอนาคต
จะสังเกตุได้ว่า ทุกครั้งที่ Bitcoin ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่ง ในเชิงบวก และสร้างความสนใจ ให้เกิด User ใหม่ มูลค่าของ Bitcoin ก็จะทะยานสูงขึ้นทุกครั้ง และในขณะที่มีข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับ Bitcoin ที่ทำให้ User เกิดความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของ Bitcoin มูลค่าของ Bitcoin ก็จะลดลงทุกครั้ง
แต่สำหรับ Supply นั้น Bitcoin ถูกกำหนดไว้แต่แรกเริ่มว่า Supply ของ Bitcoin จะมีไม่เกิน 21 ล้านหน่วยบนโลกใบนี้ ดังนั้น Supply ของ Bitcoin จะมีอยู่อย่างจำกัด และ ไม่มีรัฐบาลและหน่วยงานกลางใด ที่สามารถพิมพ์เพิ่มได้ Supply ของ Bitcoin จึงเปรียบได้กับ Supply ของที่ดินในแต่ละประเทศ ที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อีก
การกำหนดเพดาน Supply ของ Bitcoin จึงคงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ได้ทำให้มูลค่าของ Bitcoin นั้น ได้สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่ราคาดิน ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าในโลกดิจิตอล อะไรๆ ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า เพราะเมื่อไม่กี่มีที่ผ่านมา ราคาของ Bitcoin นั้น ยังต่ำกว่า 1 USD ต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการรับประกันว่า Demand ของ Bitcoin จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเป็นไปได้เสมอ ที่ในอนาคตอันใกล้ User และ Vendor อาจจะเปลี่ยนไปใช้รูปแบบของการจ่ายเงินอื่นๆ และ Bitcoin ก็อาจประสบปัญหาทางด้านกฎหมาย หรือกระทั่ง ถูกอาชญากรรมโดยแฮกเกอร์ ทั้งนี้ Bitcoin ที่หมดความนิยม ย่อมหมายถึงมูลค่าที่ก็ต้องหมดลงตามไป
ความแตกต่างระหว่าง Bitcoin และที่ดิน ก็คือยังไงๆ มนุษย์ก็ต้องการที่ดิน แต่ในอนาคต มนุษย์อาจไม่ต้องการ Bitcoin แล้ว และสิ่งที่ไม่สามารถจะลืมได้เลย ก็คือ Bitcoin ที่ถูกขโมย แทบจะไม่มีทางเอากลับคืนมาได้เลย
ไม่ว่า Bitcoin จะคงอยู่ต่อไปอย่างมีความยั่งยืนหรือไม่ ความสนใจใน Bitcoin สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในโลกดิจิตอล ถึงระบบจ่ายเงินที่ไร้พรมแดน และปราศจากการถูกควบคุมโดยองค์กรกลาง ความสำเร็จของ Bitcoin จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางการเงินอีกหลายประการ ในโลกดิจิตอล
Published in Krungthepturakij on June 6, 2017