ขาลงของธุรกิจโทรทัศน์ ไม่ใช่แค่เรื่องของดิจิตอล แต่ไทยต้องเสียมากกว่าดุลย์การค้า?
/ในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายหลังจากที่ประเทศไทย ได้เข้าสู่ยุคของดิจิตอลอย่างเต็มตัว ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน และบริการจากโลกอินเทอร์เน็ต ที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกแห่งหน โดยประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในประเทศไทย ได้ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสินค้า, บริการ หรือ ไลฟ์สไตล์ ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถเข้าถึงได้ ในยุคดิจิตอล เช่นปัจจุบัน คนไทยไม่ต้องคอยนาน ก็สามารถที่จะเข้าถึงไลฟ์สไตล์เหล่านี้ได้เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มิอาจที่จะปฏิเสธได้เลย ก็คือ ไลฟ์สไตล์ ในประเทศไทย ยังคงตามหลังประเทศที่พัฒนาแล้ว การศึกษาเทรนด์ทั้งในอดีตและปัจจุบันของต่างประเทศ จะทำให้สามารถคาดคะเนถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการเกิดขึ้นใหม่ของเทคโลยีแตกกระจาย (Disruptive Technology)
สำหรับผู้เขียนเอง ได้เคยผ่าน ยุคที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีอินเทอร์เน็ตและประเทศไทยยังไม่มี และยุคที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีไอโฟนและประเทศไทยยังไม่มี ทั้งสองสิ่งเป็น Disruptive Technology ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งนำไปสู่การปฏิวัติของหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งในที่สุดการปฏิวัติเหล่านั้น ก็ได้มาเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีรูปแบบและผลกระทบที่ไม่แตกต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า มูลค่าโฆษณาบนสื่อโทรทัศน์ในประเทศไทย กำลังลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่มูลค่าของสื่อดิจิตอลกลับกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ย่อมเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิตอล โดยมี Disruptive Technology และ ไลฟ์สไตล์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคในประเทศไทย และถือเป็นเรื่องใหม่ ที่สร้างความแตกตื่นตกใจ ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับธุรกิจโทรทัศน์ในประเทศไทย ที่เคยยิ่งใหญ่ มั่นคง และ เกรียงไกร ในประเทศนี้ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งยังมีผู้กระกอบการรายใหม่ที่ทุ่มทุนเข้ามาประมูลช่องทีวีเพิ่มเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แต่ขาลงของธุรกิจโทรทัศน์กลับไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งสำหรับบางประเทศได้เกิดขึ้นมานานเป็นทศวรรษแล้วด้วย สำหรับผู้ที่ศึกษาเทรนด์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ย่อมต้องทราบดีว่า โทรทัศน์เป็นธุรกิจตะวันตกดินในหลายประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว และอายุเฉลี่ยของผู้ที่รับชมโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกาก็คือกลุ่มของ Generation Baby Boomer หรือที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ในขณะที่มูลค่าโฆษณาบนสื่อดิจิตอลในอังกฤษก็ได้แซงหน้ามูลค่าบนโทรทัศน์มาเกือบทศวรรษแล้ว
ในแง่มุมหนึ่ง อาจถูกมองเป็นเรื่องที่ดี เพราะย่อมหมายความว่า ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในประเทศไทย ได้พัฒนาจนก้าวทันไลฟ์สไตล์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สิ่งที่มิอาจจะมองข้ามก็คือ “อะไร" คือสิ่งที่มาแทนที่ธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งคำตอบโดยผิวเผินย่อมต้องหนีไหม่พ้น บริการในยุคดิจิตอล เช่น เฟซบุ๊ค, ยูทูป ฯลฯ ที่ให้บริการด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ตเน็ต
แต่อีกแง่มุมที่ต้องพิจารณาในเชิงที่ลึกกว่า คือ ใครเป็นเจ้าของบริการเหล่านั้น เขาให้บริการจากในประเทศไทยหรือไ่ม่ อยู่ภายใต้กฎหมายไทยหรือไม่ และเงินที่พวกเขาได้ เช่นค่าโฆษณา เป็นเงินที่รั่วไหลออกจากประเทศ และทำให้ไทยต้องเสียดุลย์การค้าหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาให้บริการในลักษณะของผู้มีอำนาจเหนือตลาดโดยอาศัยความได้เปรียบของการเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติหรือไม่ และจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจของไทยสามารถเข้ามาแข่งขันได้หรือไม่
หากเป็นยุคก่อนหน้านี้ ธุรกิจโทรทัศน์ จะต้องเป็นธุรกิจของคนไทย และรายได้ของพวกเขาก็จะมีส่วนที่หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมายไทย ทั้งในเรื่องของเนื้อหาและการแข่งขัน
ปัญหาความลักลั่นของธุรกิจในยุคดิจิตอล เป็นเทรนด์ที่ได้เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วมาหลายปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอำนาจอธิปไตย และความเหลื่อมล้ำทางการค้า โดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น อังกฤษ, ออสเตรเลีย ฯลฯ ได้มีมาตราการเช่น ภาษีกูเกิล (Google Tax) ออกมากำกับดูแล ในขณะที่เพื่อนบ้านของไทยเช่น อินโดนีเซีย ก็ได้มีมาตรการออกมา จนกระทั่งสามารถคิดภาษีย้อนหลังกับกูเกิลได้สำเร็จ
ซึ่งประเทศไทยเอง ก็มีหน่วยงานเช่น กสทช ที่ได้ประกาศเจตนารมย์ ที่จะกำกับดูแลในส่วนนี้
อย่างไรก็ดี โทรทัศน์ ไม่ใช่ธุรกิจเดียว ที่กำลังถูกตีให้แตกกระจาย (Disrupt) ด้วยเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว เทรนด์ที่ได้เกิดขึ้นมาเป็นทศวรรษแล้ว ก็คือการที่ธุรกิจโมเดิร์นเทรด กำลังถูกทดแทนด้วยธุรกิจอีคอมเมอร์ซ จนกระทั่ง วาเร็น บัฟเฟต์ พ่อมดการเงินระดับโลก ได้เทขายหุ้นของธุรกิจโมเดิร์นเทรด แม้ในวันนี้ ยอดขายของโมเดิร์นเทรดในประเทศไทยจะยังไม่ได้ลดลง และมีห้างใหม่ที่กำลังเปิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การศึกษาเทรนด์ในต่างประเทศ ย่อมทำให้สามารถคาดคะเนถึงอนาคตที่ต้องจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างที่มิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
สิ่งสุดท้ายที่มิอาจจะมองข้าม ก็คือ ธุรกิจอีคอมเมอร์ซ ที่กำลังจะมาทดแทนธุรกิจโมเดิร์นเทรดของไทย เป็นผู้ให้บริการจากในประเทศหรือไม่ หรือว่าท้ายที่สุด จะเกิดความลักลั่นที่ไม่แตกต่างกับสิ่งที่กำลังมาแทนธุรกิจโทรทัศน์
Published in Krungthepturakij on June 20, 2017