ธนคม : ธุรกิจใหม่ ...หลอมรวมธนาคารและโทรคม

เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ถูกรับเชิญไปเป็นวิทยากรเรื่อง Mobile Financial Services ที่ GSMA Mobile Asia Expo 2014 ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน Mobile Financial Services คือบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ประกอบไปด้วยบริการทางการเงินที่คล้ายธนาคาร (ฝากเงิน ถอนเงิน และโอนเงิน) และบริการชำระเงิน

การหลอมรวมระหว่างธุรกิจธนาคารและธุรกิจโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ได้มีตัวอย่างของบังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ที่ Mobile Financial Services ได้กลายมาเป็นช่องทางหลักของประชากรในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ปัจจัยที่สำคัญ คือประเทศเหล่านี้เข้าถึงบริการทางการเงินที่ต่ำและประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่เคยมีแม้กระทั่งบัญชีเงินฝากของธนาคาร แต่ประเทศเหล่านี้กลับมีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือสูง และจำนวนสาขาของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือยังมีมากยิ่งกว่าจำนวนสาขาของธนาคารหลายเท่าตัว

รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ จึงประกาศนโยบายสนับสนุนผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีบทบาทสำคัญในการให้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรส่วนใหญ่

ในบังกลาเทศ ประชากรเพียง 15% สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านช่องทางปกติ ได้แก่ สาขาของธนาคารและตู้เอทีเอ็ม ซึ่งหมายถึงประชากร 85% ที่ไม่มีแม้กระทั่งบัญชีเงินฝากของธนาคาร ในขณะเดียวกัน 70% ของประชากรเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ Mobile Financial Services จึงได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลให้เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของบังกลาเทศ ภายในปีนี้คาดว่าจะมีผู้ใช้งาน Mobile Financial Services ในบังกลาเทศกว่า 15% ของประชากร จากที่ได้เริ่มต้นโครงการมาเพียงไม่กี่ปี

ปัญหาของบังกลาเทศ เป็นเรื่องราวที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศที่กำลังพัฒนา ประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน แต่สำหรับประเทศไทยเรื่องนี้กลับไม่ใช่ปัญหา เพราะว่ากว่า 90% ของประชากรไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านสาขาของธนาคารและตู้เอทีเอ็ม ซึ่งมีสัดส่วนต่อประชากรที่ไม่ได้ด้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

ดังนั้นสำหรับประเทศไทยการให้บริการ Mobile Financial Services จึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงิน แต่เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าของธนาคาร

อย่างไรก็ดีแม้ว่าธนาคารส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะให้บริการ Mobile Financial Services แต่น้อยกว่า 1% ของประชากรไทยได้เลือกที่จะเข้าถึงบริการของธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ เพราะว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังมีความสบายใจที่จะทำธุรกรรมผ่านสาขาของธนาคารโดยเฉพาะการที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่พนักงาน เห็นได้จากอัตราการใช้ตู้เอทีเอ็มในการถอนเงินที่ยังมีน้อยกว่าการถอนเงินผ่านสาขาของธนาคารอยู่หลายเท่าตัว

จึงเป็นเรื่องที่น่าขบคิด การที่บังกลาเทศ กลับมีการใช้งาน Mobile Financial Services มากกว่าไทย ย่อมเกิดจากพฤติกรรมของประชากรไทยที่ชอบพูดคุยกับเจ้าหน้าที่พนักงานและการที่ไม่มีทางเลือกของประชากรบังกลาเทศ

บริการชำระเงินเป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับ Mobile Financial Services ในขณะที่ Mobile Financial Services ที่เกี่ยวข้องกับการฝากเงิน ถอนเงิน และโอนเงิน กลับไม่ได้รับความสนใจในประเทศไทย บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือกลับมีโอกาสที่จะมามีบทบาทสำคัญในไม่ช้านี้

ประเทศไทยมีอีกคุณลักษณะหนึ่งที่น่าสนใจ คือประชากรส่วนใหญ่นิยมใช้เงินสดในการชำระเงิน ขณะที่เพียง 5% ของประชากรมีบัตรเครดิต ถึงแม้ประชากรส่วนใหญ่จะมีบัตรเดบิต ซึ่งได้มาควบคู่กับการเปิดบัญชีธนาคารแต่บัตรเดบิตกลับไม่ได้รับความนิยม และประชากรที่มีบัตรเดบิตกลับนำไปใช้ถอนเงินที่เอทีเอ็มเพื่อนำเงินสดมาใช้ชำระเงิน

ในทางกลับกันบัตรเติมเงินกลับได้รับความนิยมในประเทศไทย และมีการใช้งานมากยิ่งกว่าบัตรเครดิตเสียอีก โดยบัตรเติมเงินกว่า 75% ในประเทศเป็นของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักสำหรับการซื้อแอร์ไทม์บนโทรศัพท์มือถือ และยังสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าอื่นได้ ซึ่งบัตรเติมเงินของผู้ให้บริการบางรายยังสามารถนำไปใช้ควบคู่กับการเป็น Mobile Financial Services สำหรับการชำระเงิน ซึ่งได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระเงินออนไลน์ที่ไม่สามารถใช้เงินสดได้ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีบัตรเครดิตและไม่เลือกใช้บัตรเดบิต

ไม่กี่ปีที่ผ่านมายังได้มีเทคโนโลยี NFC ที่ทำให้โทรศัพท์มือถือบางรุ่นสามารถถูกใช้งานคล้ายบัตรเติมเงินได้ โดยไม่ต้องพกพาบัตรเติมเงินอีกใบหนึ่ง แต่ถึงแม้จะมีความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้ให้บริการขนส่งมวลชนบางราย NFC ในประเทศไทยก็ยังไม่ได้รับความนิยมมาก สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการที่ Apple ยังไม่ได้ยอมรับให้มีการประยุกต์ใช้ NFC ในโทรศัพท์ไอโฟน ในขณะที่ NFC ยังคงใช้ได้กับโทรศัพท์แอนดรอยด์บางรุ่นเท่านั้น

ความสำเร็จของ ธนคม หรือธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมธนาคารและโทรคมนาคม ยังคงต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ในประเทศ ซึ่งยังต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมของประชากรอีกด้วย โดยในแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างจากกัน อย่างไรก็ตามย่อมต้องเป็นนวัตกรรมของเทคโนโลยีและธุรกิจที่จะนำไปสู่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมของทั้งสองธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยของ GDP ในแต่ละประเทศ

Published in Krungthepturakij on June 24, 2014