อีคอมเมิร์ซ อาจไม่ใช่โอกาสของธุรกิจไทย
/การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่อาจรวมไปถึงรูปแบบการดำเนินชีวิต และการที่มีงานอดิเรกใหม่ๆ ย่อมต้องก่อให้เกิด การมีทัศนคติที่แตกต่าง จากการที่ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ หรือกระทั่งสิ่งเดิมๆ แต่จากมุมมองใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มีความสนใจในสิ่งนั้นมาก ย่อมต้องเป็นแรงผลักดัน ให้มีการทุ่มเทเวลา เพื่อที่จะศึกษาค้นคว้าและสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างคุ้มค่า
หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีงานอดิเรกใหม่ คือการขี่จักรยาน ซึ่งเริ่มต้นจากจักรยานพับได้ และได้มีพัฒนาการเข้าสู่ความสนใจในจักรยานเสือหมอบ หลังจากที่ได้ไปทดลองขับขี่ที่สนามสีเขียวของสนามบินสุวรรณภูมิอยู่หลายสัปดาห์ ซึ่งความสนใจยังได้ขยายผลสู่เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เสื้อผ้า และกระทั่งเรื่องของสุขภาพ
จากการทุ่มเทเวลา เพื่อที่จะค้นคว้าและสรรหาสิ่งที่ดีที่สุด ทำให้ได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจจักรยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จักรยานเสือหมอบสำหรับการแข่งขัน ซึ่งอีคอมเมิร์ซได้มามีบทบาทที่สำคัญสำหรับลูกค้า ที่ต้องการความแตกต่างและหรือสินค้าที่ดีที่สุด
ตลาดจักรยานในประเทศไทย อาจแบ่งได้โดยคร่าวๆ เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือจักรยานทั่วไป ที่มีราคาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป กลุ่มที่สองคือจักรยานเกรดแข่งขัน ที่มีราคาตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทขึ้นไปจนถึงหนึ่งล้านบาท ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายจักรยานที่เป็นตัวแทนจำหน่าย กลุ่มที่สามคือจักรยานเกรดแข่งขัน ที่ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย หรือมีตัวแทนจำหน่ายแต่ต้องสั่งพิเศษจากต่างประเทศ ในกลุ่มผู้ที่สนใจจักรยานเป็นงานอดิเรก อีคอมเมิร์ซมีบทบาทที่สำคัญสำหรับตลาดจักรยานกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สาม สำหรับกลุ่มที่สอง ลูกค้าส่วนใหญ่อาศัยอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่ทำธุรกรรมในการซื้อขายที่ร้านขายจักรยานที่เป็นตัวแทนจำหน่าย สำหรับกลุ่มที่สาม นอกจากการอาศัยอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว ยังได้อาศัยอีคอมเมิร์ซเพื่อทำการสั่งสินค้าโดยตรงจากต่างประเทศ ผ่านโลกของอินเทอร์เน็ตที่ไร้พรมแดนทางธุรกิจ แต่ในกรณีนี้ ลูกค้าต้องมีความเชี่ยวชาญในการประกอบจักรยานเอง และยังอาจต้องมีความรู้เกี่ยวกับการนำเข้าจักรยานจากต่างประเทศ จึงยังไม่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน
แต่ถึงกระนั้น ยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และเสื้อผ้า ที่ไม่มีอุปสรรคในการที่ต้องมาประกอบเอง และการนำเข้าสินค้าไม่ได้มีความสลับซับซ้อน ปัจจุบัน Amazon.com ในสหรัฐได้เริ่มส่งสินค้าตรงเข้าประเทศไทย โดยมีการคำนวณค่าจัดส่งและภาษีรวมอยู่กับราคาสินค้า จึงไม่เป็นภาระต่อลูกค้าในการที่ต้องมาบริหารจัดการเอง สำหรับลูกค้าแล้ว ตราบเท่าที่ราคาสมเหตุสมผล อาจมีความเสียเปรียบที่ต้องรอคอยเวลาจัดส่งจากต่างประเทศ แต่ลูกค้ากลับมีทางเลือกในสินค้าที่มีความหลากหลาย และตรงต่อความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เพราะการบริหารคลังสินค้าของ Amazon.com สำหรับให้บริการลูกค้าทั่วโลก ย่อมต้องมีความหลากหลายและมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยของประเทศไทยจะสามารถบริหารจัดการเองได้
ในอีกตัวอย่างหนึ่ง Adidas ได้เปิดบริการอีคอมเมิร์ซ shop.adidas.co.th สำหรับประเทศไทย ซึ่งสินค้ามีความหลากหลายยิ่งกว่าที่ร้านค้าภายในประเทศ ซึ่งแม้จะเป็นร้านของ Adidas เองจะสามารถบริหารให้มีได้ หากลูกค้ามีความต้องการเสื้อผ้าสำหรับขี่จักรยานของ Adidas อาจไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านค้าภายในประเทศไทย แต่สามารถหาซื้อได้จาก shop.adidas.co.th สำหรับผู้ที่เคยทดลองซื้อสินค้าผ่าน shop.adidas.co.th มาแล้ว อาจต้องแปลกใจ เพราะว่าสินค้านั้นกลับไม่ได้ถูกจัดส่งมาจากภายในประเทศ แต่เป็นการส่งโดยตรงมาจากคลังสินค้าของ Adidas ที่สิงคโปร์ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องรับรู้เรื่องของค่าจัดส่งและภาษีเลย หากไม่ได้สังเกต อาจมีความเข้าใจผิดว่าสินค้าได้ส่งจากภายในประเทศ
แม้แต่ในธุรกิจเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ store.apple.com/th ของ Apple ที่มีไว้ให้บริการสำหรับประเทศไทย ก็ทำการจัดส่งสินค้าจากสิงคโปร์เช่นกัน
อีคอมเมิร์ซ ได้เปิดโอกาสสู่การค้าขายข้ามพรมแดน นอกจากการที่ลูกค้าสามารถซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปที่ร้านค้า แต่โอกาสนี้กลับเป็นการสร้างแนวทางให้ อีคอมเมิร์ซ กลับไม่ต้องให้บริการจากประเทศไทย ดังเช่นกรณีของ Amazon.com, Adidas, Apple ฯลฯ ที่ให้บริการมาจากสิงคโปร์ หรือกระทั่งสหรัฐ ในกรณีของสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ย่อมมีความได้เปรียบ เพราะสามารถบริหารคลังสินค้าสำหรับให้บริการทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีสินค้าที่มีความหลากหลาย และตรงต่อความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ การเข้าสู่ AEC หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยังเป็นการลดกำแพงภาษี ที่ทำให้การส่งสินค้าจากสิงคโปร์ มีความได้เปรียบยิ่งขึ้นไปอีก
วิกฤตที่อาจเกิดขึ้น คือการที่ต้องหลุดจากห่วงโซ่อุปทาน ของนักธุรกิจหรือกระทั่งลูกจ้างชาวไทย ที่อีคอมเมิร์ซกลับทำให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินโดยตรงออกนอกประเทศซึ่งมีความได้เปรียบในการบริหารคลังสินค้า และกำลังจะได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าว ยังคงเป็นเรื่องราวของสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างเช่น จักรยานเสือหมอบสำหรับการแข่งขัน หรือ อุปกรณ์และเสื้อผ้า ที่หาซื้อไม่ได้ในประเทศ จึงเป็นเรื่องราวที่น่าติดตามว่าจะมีการขยายผลสู่สินค้าประเภทในอนาคตด้วยหรือไม่ เพราะจะต้องส่งผลสู่เงินที่ต้องรั่วไหลออกนอกประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยวิถีของอีคอมเมิร์ซ การล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน สามารถกระทำได้อย่างข้ามพรมแดนผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องอาศัยการตั้งร้านค้า นิติบุคคล หรือการที่ต้องมีบุคลากรในประเทศอีกต่อไป
Published in Krungthepturakij on July 8, 2014