Digital Economy โอกาสหรือวิกฤติของ SME ไทย
/สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ถูกรับเชิญไปให้สัมภาษณ์ในเรื่องของ Omni-Channel vs. E-Commerce ผ่านรายการโทรทัศน์ ตอบโจทย์ SME ซึ่งคำถามและคำตอบในรายการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) กับโอกาสของ SME ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนนำเสนอข้อคิดเห็นในบทความฉบับนี้
ปัจจุบัน มีความแนวคิดที่ว่า ในยุคของ E-Commerce เพียงแค่อาศัยการขายของผ่านหน้าเว็บ มือถือ หรือ Social Networks ธุรกิจ SME ก็สามารถตั้งตัวได้ โดยไม่ต้องลงทุนเปิดหน้าร้าน และช่องทางอื่นๆ ในการเข้าถึงลูกค้า แนวคิดนี้ ได้ทำให้ SME เป็นจำนวนมาก ได้เริ่มให้ความสนใจกับการทำธุรกิจด้วย E-Commerce และยังคงมีตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จอยู่จำนวนหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น SME รายหนึ่งที่ตกเป็นข่าวอยู่ในปัจจุบัน ผู้ซึ่งใช้เวลาไม่กี่เดือน ในการสร้างธุรกิจที่มีมูลค่า 500 ล้านบาท จากการขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักผ่านช่องทางของ E-Commerce และโปรโมทผ่าน Social Networks โดยที่ไม่ต้องลงทุนเปิดหน้าร้าน และช่องทางอื่นๆ เพื่อการตลาดเลย
แนวคิดดังกล่าว เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะถึงแม้ E-Commerce จะทำให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ E-Commerce ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะช่วยให้ธุรกิจ SME จะสามารถตั้งตัวได้อย่างมีความยั่งยืน
E-Commerce เป็นช่องทางที่ทำให้ SME สามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยเงินทุน และหากนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลปัจจุบันประสบความสำเร็จ ย่อมต้องมีผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมาก ที่ใช้ E-Commerce เป็นช่องทางหลักในการเลือกซื้อสินค้า เงินตราที่จะเปลี่ยนมือในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ย่อมต้องเพิ่มพูนอย่างทวีคูณจนมีมูลค่ามหาศาล และระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องเป็นส่วนสำคัญของ GDP อย่างแน่นอน แต่ทว่าเงินตราดังกล่าวจะเข้าสู่มือของ SME หรือไม่ นั่นก็คือวิกฤติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับ SME ของไทย
การที่ E-Commerce เปิดโอกาสให้เข้าถึงลูกค้าโดยที่ไม่ต้องลงทุน นั่นก็คือการที่ทั้งธุรกิจ SME และผู้บริโภคสามารถหลบเลี่ยงพ่อค้าคนกลาง และสามารถซื้อขายกันได้โดยตรงผ่าน E-Commerce แต่ในปัจจุบัน มี SME เป็นจำนวนมาก ที่ประกอบธุรกิจในรูปแบบของพ่อค้าคนกลางเสียเอง ผ่านช่องทางของ E-Commerce ตัวอย่างหนึ่งก็คือ SME ที่สั่งสินค้ามาจากผู้ผลิตในต่างประเทศ เพื่อขายต่อให้กับลูกค้าในประเทศไทย
ยกตัวอย่างเช่น สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนเป็นลูกค้าที่มีความสนใจในหมวกจักรยานรุ่นหนึ่ง หลังจากที่ได้ทำการสืบค้นผ่าน Google ทำให้ค้นพบ SME ที่เป็นผู้นำเข้าหมวกจักรยานรุ่นนั้น ซึ่ง SME ดังกล่าวได้ใช้ E-Commerce เป็นช่องทางหลัก โดยที่ประกอบธุรกิจด้วยการซื้อขายผ่านหน้าเว็บ Facebook และ Line การที่อาศัย E-Commerce ทำให้ SME รายนั้นสามารถประกอบธุรกิจได้ทั้งประเทศ โดยที่ไม่ต้องลงทุนในหน้าร้าน ฯลฯ และลูกค้าทุกคนที่ใช้ Google เป็น ก็จะสามารถเข้าถึงหน้าเว็บของ SME รายนั้นได้ นอกจากนี้ Facebook ของ SME รายนั้น ยังมีผู้ติดตามอยู่จำนวนหนึ่ง ที่สามารถรับข่าวสารจาก SME ได้โดยตรง
แต่เมื่อผู้เขียน ได้ทำการติดต่อกับ SME รายนั้นผ่าน Line เพื่อสอบถามถึง รุ่น ราคา และการที่มีสินค้าใน Stock กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เพราะระบบ E-Commerce ของ SME รายนั้น ซึ่งไม่ต่างกับของ SME ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ที่ยังไม่มีระบบคลังสินค้าที่เชื่อมต่ออย่างอัตโนมัติ และยังคงต้องอาศัยมนุษย์ในการพูดคุยเพื่อสอบถามรายละเอียดจนกระทั่งถึงการสั่งซื้อสินค้า ซึ่งในคราวนั้น ผู้เขียนอาจได้พูดคุยกับพนักงานของร้านที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ จึงเกิดความไม่มั่นใจว่า จะได้หมวกจักรยานที่ตนต้องการในเวลาที่เหมาะสมหรือไม่
หลังจากที่เกิดความไม่มั่นใจ เพียงแค่ขยับนิ้วมือเพียงไม่กี่ครั้ง ผู้เขียนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของ Amazon.com ในสหรัฐ ซึ่งมีข้อมูลของ รุ่น ราคา และการที่มีสินค้าใน Stock อย่างละเอียด และยังได้คำนวณค่าจัดส่งรวมทั้งภาษีในการนำเข้าผ่านศุลกากรของประเทศไทย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ผู้เขียนต้องจ่ายแพงกว่าราว 15% แต่ได้สินค้าเร็วกว่า และมีความมั่นใจกว่า จึงได้ตัดสินใจทำการสั่งซื้อ และใช้เวลาทั้งหมด ไม่ถึง 5 วันทำการ สินค้าก็ได้มาส่งถึงบ้าน
รวมระยะเวลาที่อยู่ในเว็บไซต์ของ Amazon.com จนกระทั่งสั่งสินค้าและจ่ายเงินเสร็จ ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที หากเปรียบกับการใช้ Line เพื่อพูดคุยกับ SME นั้นที่ใช้เวลากว่าครึ่งบ่าย และยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน
ที่ผู้เขียนเลือก Amazon.com และไม่ได้สั่งซื้อที่เว็บไซต์ของผู้ผลิตโดยตรง เป็นเพราะผู้ผลิตรายนั้นไม่มีความเชี่ยวชาญในการส่งสินค้าเข้าประเทศไทย
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว SME รายนั้น เป็นเพียงพ่อค้าคนกลาง ถึงแม้จะเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ผู้เขียนก็ยังสามารถที่จะหลบเลี่ยงไปใช้ E-Commerce จากต่างประเทศเพื่อสั่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทยได้
วิกฤติของ SME ไทย คือเมื่อผู้บริโภคเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคย่อมมีทางเลือก และสามารถใช้ E-Commerce เพื่อก้าวข้าม SME ที่ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง และเข้าถึงผู้ผลิตสินค้าโดยตรง หรือผู้ให้บริการ E-Commerce รายใหญ่ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในประเทศไทย Digital Economy เป็นระบบเศรษฐกิจไร้พรมแดน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า Digital Economy ของไทย จะไม่สามารถแบ่งแยกออกจาก Digital Economy ของโลกซึ่งมีผู้เล่นรายใหญ่ที่ Dominate ตลาด อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า SME ทุกราย จะต้องประสบวิกฤติเมื่อเข้าสู่ Digital Economy ซึ่งในตอนต่อไปจะกล่าวถึง SME ที่มีโอกาสเมื่อเข้าสู่ Digital Economy แต่ข้อสรุปของบทความนี้คือ SME ที่ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง และไม่มีจุดเด่นหรือเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะต้องประสบวิกฤติอย่างแน่นอน เพราะในโลกแห่ง Digital Economy ไม่มีกำแพงของสถานที่ ระยะทาง ประเทศ ฯลฯ อีกต่อไป ความได้เปรียบของ SME เหล่านี้เป็นเพียงระยะสั้น อย่างเช่นผู้ที่นำเข้าหมวกจักรยาน แต่อีกไม่นาน ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเรียนรู้ว่าในระบบเศรษฐกิจไร้พรมแดนนี้ พวกเขาสามารถสั่งซื้อสินค้าจากที่ใดก็ได้
Published in Krungthepturakij on December 9, 2014