Digital Economy โอกาสหรือวิกฤตของ SME ไทย (2)

จากบทความที่แล้วได้กล่าวถึงรูปแบบของธุรกิจ ​SME ที่อาจต้องเผชิญกับวิกฤตเมื่อเข้าสู่ยุคของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้เขียนขออนุญาตขยายความเพิ่มเติมด้วยหลักวิชาการของการแข่งขัน ในพื้นฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น ผู้บริโภคย่อมจะเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าที่สามารถให้ราคาได้ต่ำที่สุด ทั้งนี้สามารถยกเว้นได้หากมีความแตกต่างในการเข้าถึงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างเช่นผู้บริโภคอาจเลือกซื้อจากร้านค้าที่ให้ราคาที่สูงกว่า แต่อยู่ใกล้บ้านมากกว่า เช่นว่า เป็นร้านเดียวที่มีอยู่ในหมู่บ้าน จังหวัด หรือกระทั่งประเทศ ในอดีต นี่เป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญของธุรกิจ SME ที่อาศัยความได้เปรียบจากสถานที่ ที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายกว่า

ภายใต้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความได้เปรียบของ SME ดังกล่าวกำลังจะอันตรธานหายไป เพราะการใช้บริการ E-Commerce ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในหมู่บ้าน จังหวัด หรือกระทั่งประเทศเดียวกัน รูปแบบของธุรกิจ E-Commerce โดยมากแล้ว จะเหลือผู้ชนะแต่เพียงรายเดียว ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้ชนะในระดับประเทศ แต่ได้กลายมาเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่างเช่น Amazon ที่ได้บุกยึดตลาดไปทั่วโลก ซึ่งแม้แต่ Digital Economy ของไทย ก็จะต้องตกเป็นเหยื่อของยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เพราะระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไม่มีพรมแดน และไม่สามารถกีดกันผู้เล่นรายใหญ่ที่ Dominate ตลาด อยู่ในระดับโลกได้อย่างแน่นอน

ในเมื่อไม่มีข้อได้เปรียบทางด้านสถานที่แล้ว โอกาสของ SME จึงเหลือเพียงการนำเสนอสินค้าและบริการผ่านช่องทางของ E-Commerce ที่ไม่ซ้ำแบบใคร แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นโอกาสที่จะดำเนินธุรกิจเป็นพ่อค้าคนกลางที่พยายามขายสินค้าที่ไม่ซ้ำกับผู้ให้บริการ E-Commerce รายใหญ่

เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เห็นชัดในประเทศ แต่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเมื่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเริ่มมีการเติบโต ปัจจุบัน E-Commerce ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่างเช่น Amazon มีสินค้าที่ไม่ซ้ำกันอยู่ใน Catalog อยู่หลายร้อยล้าน Stock Keeping Units (SKU) เฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่หากรวม Catalog ของกลุ่มธุรกิจ Amazon จากทั้งโลก จะมีสินค้าที่ไม่ซ้ำกันอยู่หลายพันล้าน SKU

ดังนั้นการนำเสนอสินค้าที่ไม่ซ้ำแบบใครจะสามารถกระทำได้ยากยิ่ง หาก SME ยังเป็นพ่อค้าคนกลาง เพราะต้องเลือกสินค้าโดยหลบเลี่ยงกว่าพันล้าน SKU ของ Amazon โอกาสของ SME จึงเหลือเพียงการนำเสนอสินค้าและบริการของตัวเอง ที่หาจากที่อื่นไม่ได้แล้วเท่านั้น เพราะ Digital Economy คือจุดจบของพ่อค้าคนกลาง

ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล จึงเป็นวิกฤตของ SME ที่ทำธุรกิจค้าขาย แต่กลับเป็นโอกาสของ SME ที่เป็นผู้ให้บริการและผู้ผลิตสินค้า ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว

ยกตัวอย่างเช่น SME ที่นำเข้าเครื่องกีฬาจากต่างประเทศ​จะต้องประสบวิกฤต เพราะผู้บริโภคสามารถซื้อจากผู้ผลิตในต่างประเทศได้โดยตรงผ่าน E-Commerce หรือซื้อผ่าน Amazon ที่มีการให้บริการอยู่ทั่วโลก ในขณะที่ผู้ที่ผลิตเครื่องกีฬาในประเทศอาจพบโอกาส เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือผู้ที่ให้บริการต่างๆ อย่างเช่น ออกแบบ สอนหนังสือ ฯลฯ อาจพบโอกาส เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงอีกเช่นกัน

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ที่กล่าวมาแล้วคือความมีประสิทธิภาพของตลาด (Market Efficiency) การที่ธุรกิจค้าขายที่เป็นพ่อค้าคนกลางยังคงอยู่ได้เป็นเพราะตลาดยังขาด Efficiency แต่เมื่อเข้าสู่ Digital Economy ตลาดย่อมมี Efficiency เมื่อผู้บริโภคเข้าถึงผู้ผลิตและผู้ให้บริการได้โดยตรง โดยจะเป็นจุดจบของพ่อค้าคนกลาง

ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญ คือการวิเคราะห์ในเชิงมหภาค ถึงผลกระทบระหว่างผู้ที่จะได้ประสบกับทั้งโอกาสและวิกฤตจากการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ความรู้และทำการวางแผนเกี่ยวกับรูปแบบของธุรกิจที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นผลกระทบสู่ธุรกิจที่ยังไม่ได้เข้ามาเป็น E-Commerce แต่จะมีผลสู่ธุรกิจที่ได้มีให้บริการ E-Commerce อยู่แล้ว เพราะระบบนิเวศของตลาดจะได้เปลี่ยนแปลงไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือปรากฏการณ์ในสหรัฐ ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของดิจิทัลคือ การล่มสลายและควบรวมของธุรกิจ E-Commerce จนเหลือรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ที่สามารถยึดครองตลาดสหรัฐไว้ได้ทั้งหมด โดยไม่มีที่ยืนของ SME ที่ทำธุรกิจเป็นพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ E-Commerce ในสหรัฐยังคงนำไปสู่ความสูญสิ้นของธุรกิจค้าปลีกอันยิ่งใหญ่ ที่เคยมีมาก่อนยุคดิจิทัล

ที่กล่าวมานั้น Digital Economy ก็ไม่ต่างกับ Disruptive Innovation จากทุกยุคทุกสมัย ที่นำไปสู่การสร้างตลาดและระบบนิเวศใหม่ จนกระทั่งเกิดการล้มเหลวของตลาดและระบบนิเวศเดิม แต่เรื่องราวดังกล่าวได้เกิดขึ้นในต่างประเทศมาเป็นทศวรรษก่อนหน้าประเทศไทย จึงเป็นที่คาดหวังได้สำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

Published in Krungthepturakij on December 23, 2014