Google Tax ประเทศไทย ถึงเวลาแล้ว?

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นสัญญานที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลไทย จากยุคนี้เป็นต้นไป จะไม่ยอมเสียเปรียบให้กับธุรกิจข้ามชาติอีกต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจในยุคดิจิทัล

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีความคืบหน้า ของการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องกับ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้สอดคล้องตามหลักสากล โดยจะต้องมองถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งรวมไปถึงรูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ และปริมาณของธุรกรรม ที่จะมีขึ้นบนอินเทอร์เน็ตต่อไป

สาระสำคัญที่แสดงให้เห็นถึง แนวคิดอันก้าวหน้า ของรัฐบาลชุดนี้ คือการที่จะกำหนดให้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะต้องจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรเท่านั้นถึงจะสามารถทำธุรกิจในไทยได้ ถึงแม้จะมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ก็จะต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่หากไม่มาขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรแล้วเว็บไซต์เหล่านั้นก็จะถูกปิดถาวรทันที

เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจยุคดิจิทัล เป็นธุรกิจที่ไร้พรมแดน ธุรกิจข้ามชาติสามารถขายสินค้าและบริการ เข้ามาในประเทศ ไทยโดยที่มิต้องมีนิติบุคคล หรือ เซิร์ฟเวอร์ อยู่ในประเทศไทย 

สำหรับผู้บริโภคชาวไทยแล้ว ในหลายครั้ง อาจจะยังไม่รู้ตัวเลยด้วยว่า สินค้าและบริการ ที่ได้สั่งซื้อ ในบางครั้ง มาจากธุรกิจข้ามชาติ ที่มิได้มีตัวตนอยู่ในประเทศไทย เพราะช่องทางอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือ แอป ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว และสินค้าได้ถูกจัดส่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงค์โปร์ ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศไทยมาก

รูปแบบดังกล่าว ถือเป็นช่องว่าง ให้ธุรกิจข้ามชาติในยุคดิจิทัล สามารถขายสินค้าและบริการเข้ามาในประเทศไทย โดยมิต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลไทย หรือกระทั่งเสียภาษีให้กับรัฐบาลไทยดังกล่าว ทั้งนี้ คงจะไม่ต้องพูดถึง เงินทองที่รั่วไหลออกจากประเทศ ที่จะทวีปริมาณยิ่งขึ้น เมื่อช่องทางดิจิตัล เริ่มมาแทนที่ช่องทางการค้าปลีก หรือ โมเดิร์นเทรดในยุคปัจจุบัน

ประเทศไทย ไม่ใช่ชาติแรก ที่เริ่มจะมาต่อสู้กับช่องว่างดังกล่าว

Google Tax หรือภาษีกูเกิล เป็นชื่อเรียกของมาตรการที่ประเทศต่างๆ ได้นำออกมาใช้เพื่อต่อสู่กับธุรกิจข้ามชาติ ที่อาศัยช่องว่างที่จะไม่ต้องเสียภาษี เมื่อขายสินค้าและบริการเข้าไปยังประเทศเหล่านี้ ซึ่งในแต่ละประเทศ ก็ได้มีรูปแบบของ Google Tax ที่แตกต่างกันไป

อังกฤษ เป็นประเทศแรกที่เรียกเก็บภาษีกูเกิล โดยกำหนดให้อังกฤษสามารถเรียกเก็บภาษี ในอัตรา 25% จากกำไรของธุรกิจข้ามชาติ ที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษีให้กับประเทศอังกฤษ ถึงแม้ว่าจะเป็นรายได้จากการขายสินค้าและบริการเข้ามาในอังกฤษก็ตาม

ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่สองที่เรียกเก็บภาษีกูเกิล โดยกำหนดรูปแบบที่คล้ายของอังกฤษ แต่เรียกเก็บภาษีในอัตรา 24%

ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา อินเดีย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เรียกเก็บภาษีกูเกิล แต่แทนที่จะเก็บจากธุรกิจข้ามชาติ ภาษีกูเกิล เรียกเก็บ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Witholding Tax) ในอัตรา 6% จากชาวอินเดีย หรือ ธุรกิจอินเดีย ที่ซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัลจากธุรกิจข้ามชาติ ที่มิได้มีตัวตนทางกฎหมายอยู่ในประเทศอินเดีย

อย่างไรก็ดี ประเทศที่บังคับใช้ภาษีกูเกิลเหล่านี้ มักมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องปราม ธุรกิจข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ โดยมีข้อยกเว้นสำหรับธุรกิจข้ามชาติที่ยังคงเป็นสตาร์ทอัพหรือมีรายได้น้อย

สำหรับ อินโดนีเซีย ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีรูปแบบของภาษีกูเกิล แต่รัฐบาล ก็ได้มีการสืบสวนและตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเลี่ยงภาษีของบริษัท Google หลังจากที่ได้ค้นพบว่า Google จ่ายภาษี จากรายได้ของการขายสินค้าและบริการในอินโดนีเซีย ให้กับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อประเทศที่กำลังพัฒนาที่เป็นเพื่อนบ้านของไทย อย่างเช่นอินโดนีเซีย ถึงกับกล้ามาต่อสู้กับ ธุรกิจข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่กว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ อย่างเช่น Google

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปโครงสร้างภาษีอีคอมเมิร์ซ ของประเทศไทย ในครั้งนี้ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามชาติแต่เพียงอย่างเดียว เพราะยังคงมีรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในประเทศอีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และอาจส่งกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการธุรกิจดิจิตัลรายย่อยภายในประเทศ

ทั้งนี้ ยังคงเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะการปฏิรูปดังกล่าว  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องตามหลักสากล และรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และ ในอนาคตต่อไป ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดีจิทัล

Published in Krungthepturakij on March 14, 2017