เกษตร 4.0 ทางเลือก-ทางรอดของเกษตรกรไทย
/หลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมศึกษา การพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนพิการ ร่วมกับสมาคมสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่ได้เลือกเกษตรกรรม เป็นอาชีพทางเลือก เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ให้กับคนตาบอดและครอบครัว
สิ่งที่ได้สัมผัส จากการลงไปสำรวจพื้นที่ ที่ไม่แตกต่างจากความเข้าใจพื้นฐานของสังคม ก็คือเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีคนตาบอดหรือไม่ ล้วนเป็นเกษตรกรแปลงเล็ก ขาดความรู้ทางด้านเทคนิค การเงิน การบริหารจัดการ และยังมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขาดการวางแผนล่วงหน้า โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อความอยู่รอด ระหว่างรอบของการเก็บเกี่ยว และรอบของการกู้หนี้ยืมสินเท่านั้น
จึงเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่ชาญฉลาด ที่รัฐบาลในชุดปัจจุบัน ได้พัฒนา Thailand 4.0 เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และยังคงมีนโยบาย เกษตร 4.0 เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ด้วยวิถีทางแห่ง นวัตกรรม การเพิ่มมูลค่า และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ความสำคัญของ เกษตร 4.0 คือการที่เกษตรกร ยังคงเป็นสัดส่วนของประชากรที่เป็นจำนวนมากของประเทศ ดังนั้น Thailand 4.0 จะไม่สามารถเสร็จสมบูรณ์ได้ หากไม่มี เกษตร 4.0
อย่างไรก็ดี นอกเหนือสิ่งที่ได้เรียนรู้ จากการลงไปสำรวจพื้นที่ ที่ไม่ได้แตกต่างจากความเข้าใจพื้นฐานของสังคม กลับยังคงมีสิ่งที่ได้เรียนรู้ ที่อาจแตกต่างจากความเข้าใจพื้นฐานของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับ สิ่งที่ ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ และหรือเมืองใหญ่อื่นๆ อาจมีความเข้าใจที่ไม่ชัดแจ้งเกี่ยวกับเกษตรกร
นั่นก็คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนตาบอดหรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนมาก ที่อยู่ใน Generation ของ Baby Boomer หรืออยู่ในวัยของผู้ที่เกษียณอายุ
ในขณะที่หลายฝ่าย กำลังมีความเป็นห่วง ว่า ประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ แต่สำหรับเกษตรกรไทย กลับยิ่งจะเป็นกลุ่มอาชีพที่มีอายุสูงสุดในประเทศ ในขณะที่ ผู้ที่อยู่ใน Generation X, Generation Y หรือต่ำกว่านั้น ถึงแม้จะเป็นลูกหลานของเกษตรกร เกือบทั้งหมด กลับเลือกที่จะไม่ประกอบอาชีพทางการเกษตร เนื่องจากมีการศึกษาที่สูงกว่าเกษตรกร ผู้ที่มีฐานะเป็นพ่อแม่ หรือ ปู่ย่าตายาย
อุปสรรคที่สำคัญที่สุด สำหรับการพัฒนามาสู่ เกษตร 4.0 ค่ือการที่จะสนับสนุนและผลักดันให้ เกษตรกร ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และขาดทักษะในการใช้เทคโนโลยี มีการปรับตัวทางด้าน เทคนิค การเงิน การบริหารจัดการ ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุด คือการที่ เกษตรกรเหล่านี้ จะเรียนรู้และนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ต่อการทำการเกษตร อย่างยั่งยืน
ถึงแม้ว่า หลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีสมาร์ทโฟน จะราคาถูกลงมามาก และโครงข่าย 3G - 4G ก็ได้ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศแล้ว เกษตรกร ที่สูงอายุ ก็มีส่วนหนึ่งที่ เริ่มใช้สมาร์ทโฟน แต่ก็ยังคงใช้อยู่เพียงฟังชั่นที่ผิวเผิน ที่ไม่ได้ส่งผลต่อการทำการเกษตร
อีกประการหนึ่งที่ได้สัมผัส จากการลงไปสำรวจพื้นที่ และมีความน่าสนใจ ก็คือเกษตรกร ที่ได้มีการปรับตัวในหลายด้าน และนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อความเปลี่ยนแปลง กลับเป็นเกษตรกร ที่อยู่ใน Generation X และ Generation Y ซึ่งมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และสามารถสร้างโมเดลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ เป็นแรงบรรดาลใจ ที่หลายภาคส่วนได้นำมาใช้เป็นกรณีศึกษา ซึ่งแม้แต่ผู้เขียนเอง เมื่อได้ประจักษ์ ก็อยากจะทดลอง นำมาทดลองปฏิบัติ เป็นงานอดิเรก
แต่ที่ได้กล่าวมาแล้ว Generation X และ Generation Y ที่เลือกสายอาชีพเกษตรกรรม เป็นเพียงส่วนน้อยนิดจากทั้งหมดของ Generation X และ Generation Y ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นลูกหลานของเกษตรกรก็ตาม
การผลักดันให้ เกษตรกร ที่เป็นผู้สูงอายุ เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเพียงปัญหาแรก ของ เกษตร 4.0 แต่ปัญหาที่สอง ที่มักจะไม่ได้มีการพูดถึงในวงกว้าง คือการขาดช่วงของเกษตรกรในประเทศไทย เมื่อ Generation X และ Generation Y ที่แม้จะเป็นลูกหลานของเกษตรกร ได้ปฏิเสธที่จะเลือกสายอาชีพนี้
ปัญหาดังกล่าว จะส่งผลอย่างไรกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังของการผลิตอาหารภายในประเทศ เมื่อ เกษตรกร ที่อยู่ใน Generation ของ Baby Boomer อาจเป็น Generation สุดท้าย ที่ประเทศไทยยังคงมีสัดส่วนของประชากรจำนวนมากที่ยังคงเป็นเกษตรกร
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เมื่อศึกษาอายุของ Baby Boomer จะทราบดีว่า จะต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในทศวรรษนี้
เราจึงเหลือเวลาไม่มาก ที่จะพัฒนา เกษตร 4.0 ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และ Thailand 4.0 อาจจะหลงเหลือเกษตรกร เป็นอาชีพส่วนน้อยของประเทศ
Published in Krungthepturakij on March 28, 2017