Groupon จาก Social Gaming สู่ E-Commerce $6,000 ล้าน
/หลายครั้งหลายหน การประสมประสานแนวคิดง่ายๆ ที่เข้าใจไม่ยาก แต่มาจากคนละฟากฝั่งของธุรกิจ กลับสามารถกำเนิดเป็นนวัตกรรม ที่ประสบความสำเร็จ และมีอิทธิพล อย่างรวดเร็วได้ยิ่งกว่าการเจาะลึกทุ่มทุน R&D เพื่อสร้างเทคโนโลยีที่ล้ำลึกที่สุดในโลกขึ้นมา ในช่วงปลายปี 2010 ระหว่างที่คนไทยได้ตื่นตาตื่นใจกับภาพยนตร์ The Social Network ซึ่งตีแผ่ตำนานของ Facebook ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้ 585 ล้านคนทั่วโลก และ 7.3 ล้านคนในประเทศไทย ได้ถือกำเนิดดีลระดับโลก ของวงการ Dot Com อีกครั้ง เมื่อ Google พยายามจะซื้อ Groupon ซึ่งถือกำเนิดมาไม่ถึง 2 ปี ด้วยวงเงิน 6 พันล้านดอลลาร์
Groupon ถือกำเนิดโดยการประสมประสานการเล่นเกมบนระบบ Social Networks (Social Gaming) และ E-Commerce เข้าด้วยกัน กล่าวคือ ได้นำองค์ประกอบของการเล่นเกม ที่ทำให้เกิดการติด (Addiction) และการส่งต่อ (Viral) ทั้งนี้ไอเดียมีอยู่ง่ายๆ เพียงแค่ Groupon นำเสนอ Deals of the Day ของกลุ่ม Partners ซึ่งแต่ละ Deal เป็น Promotion หรือ Package พิเศษของสินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นขอเสนอที่ดีจริงๆ แต่ Trick มีอยู่ว่า ต้องมีผู้สนใจมากกว่า X คน Deal นั้นๆ จึงจะ Activate ซึ่ง X คือ ตัวเลขที่กำหนดโดย Groupon กับ Partners สำหรับแต่ละ Deal
ดังนั้นผู้ที่สนใจ Deal ที่ยังไม่ครบคน ต้องไปชักชวนสรรหาเพื่อนๆ ให้มาร่วมเป็นลูกค้าด้วยกัน
ไอเดียง่ายๆ เช่นนี้ เริ่มต้นด้วยการลงทุนเพียง 1 ล้านดอลลาร์ เมื่อปลายปี 2008 แต่พอปลายปี 2010 มีรายได้ราว 1 พันล้านดอลลาร์แล้ว ซึ่งถูกจัดอันดับโดย Forbes Magazine และ Wall Street Journal ว่าเป็นธุรกิจ ที่มีรายได้ 1 พันล้านดอลลาร์ เร็วที่สุดในโลก
ปัจจุบัน Groupon มีสมาชิก 35 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่า Facebook 20 เท่า แต่อย่าลืมว่าสมาชิกเหล่านี้ คือลูกค้า E-Commerce ที่ล้วนจ่ายเงินเข้าระบบจริงๆ
อย่างไรก็ดีกลุ่มเจ้าของ Dot Com รายนี้ ก็ได้ปฏิเสธ 6 พันล้านของ Google เพราะอาจเชื่อมั่นอนาคต ของการบริหารโดยน้ำมือตัวเองมากกว่า
ความสำเร็จของนวัตกรรมทางธุรกิจ ซึ่งอาศัย Social Gaming นั้น Groupon ไม่ใช่บริษัทแรกที่เริ่มบุกเบิก แต่อาจเป็นรายแรกในอุตสาหกรรม E-Commerce ก่อนหน้านี้ Zynga ได้ประสบความสำเร็จด้วยบริการ FarmVille และ Foursquare ก็ได้ประสบความสำเร็จด้วยบริการ Location-Based Services ซึ่งต่อไปในอนาคตคงมีอีกมากมายหลายบริการที่จะประสบความสำเร็จโดยอาศัย Social Gaming
ธุรกิจ Dot Com ที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้ได้แปรผันจากยุคที่ผ่านมาได้ระดับหนึ่ง ก่อนหน้านี้เป็นรูปแบบของธุรกิจ ที่ทำเองทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการที่มีฐาน Community หรือ Social Network เป็นของตัวเอง หากแต่ในยุคปัจจุบัน Facebook ได้มีความเป็น Monopoly หรือผู้ผูกขาดด้าน Social Network จนทำให้มีคำว่า "The" ดั่งในชื่อภาพยนตร์ ผู้ประสบความสำเร็จรายใหม่ ล้วนใช้แนวทางต่อยอดจากฐานของ Facebook โดยยอมรับว่า Facebook นั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ส่วนบริการของตนเป็นการออกดอกออกผล อยู่บนฐานของต้นไม้ใหญ่ที่เรียกกว่า Facebook ซึ่ง Facebook ก็ได้ตัดสินใจถูกต้องโดยการเปิด API ของตัวเอง เรียกเป็นระบบ Open Graph ฯลฯ
สำหรับตลาดไทยก็เช่นกัน Facebook มีผู้ใช้ 7.3 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นกว่า 80% ของผู้ใช้ Internet ทั้งประเทศ นวัตกรรมที่จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว คงหนีไม่พ้นการต่อยอดบน Facebook เช่นกัน แต่จะเป็นรูปแบบใด ต้องเข้าท่ากับค่านิยมในสังคมไทยอย่างแน่นอน
Published in Krungthepturakij on January 11, 2011