พ.ร.บ. กทสช. อาจมีส้มหล่นสำหรับ 3G

ผ่านไปแล้วทั้งสองสภาสำหรับ พ.ร.บ. กทสช. แต่ไม่ทันจะประกาศเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ ก็เริ่มแผลงฤทธิ์แล้ว สำหรับเงื่อนไขที่เป็นปัญหาแต่ไม่มีความพยายามที่จะแก้ไขในกมธ.ร่วม ขณะที่ความพยายามส่วนใหญ่ กลับนำไปใช้ถกเถียงเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น กสทช. ถึงขั้นลงรายละเอียดตั้งแต่อายุ การศึกษา และประสบการณ์การทำงาน แต่ภาระหน้าที่ หรือกระทั่งข้อบังคับที่เป็นประโยชน์หรือโทษ ต่อกิจการโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ และ วิทยุกระจายเสียง ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาหลายๆอย่างของประเทศได้ กลับไม่มีใครพูดถึงเลย ผลที่ได้คือการแฝงตัวของกฎระเบียบสองสามข้อ ที่ใช้พื้นที่เพียงไม่กี่บรรทัด แต่ต่อไปจะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของชาติอย่างมหันต์ และในบางกรณีก็เริ่มปรากฎผลแล้ว อย่างไรก็ดี อาจมี ส้มหล่น สำหรับ 3G เพราะ พ.ร.บ. กทสช. ได้กำหนดบทเฉพาะกาล ให้ กทช. รักษาการแทน กสทช. ภายใต้หมวกใบใหม่ กทช. อาจมีอำนาจเพียงพอที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ได้ ซึ่งไม่ได้ทำในนาม กทช. แต่ภายใต้การเป็น รักษาการ กสทช. และมีโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่าหมวกใบเดิม

ปัญหาใหญ่ที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ คือข้อบังคับที่ห้ามทำ MVNO หรือบังคับให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตต้องประกอบกิจการเองทั้งหมด ข้อบังคับดังกล่าวมิได้สอดคล้องต่อการทำธุรกิจประเภทโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ และ วิทยุกระจายเสียงเลย ซึ่งปกติมักมีการ Outsource หรือแบ่งช่วงกันเป็นทอดๆอยู่แล้ว ต่อไปคงต้องมีการตีความกันว่าการที่สถานีโทรทัศน์ หรือวิทยุ แบ่งเวลาบางช่วงให้อีกหน่วยงานทำรายการแทนนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การที่บริษัทโทรคมนาคม Outsource การดูแลรักษาหีือบริหารส่วนหนึ่งส่วนใดของโครงข่ายให้อีกบริษัทหนึ่ง หรือกระทั่งการที่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งต่อให้ Dealer เพื่อขาย Sim Card หรือ Prepaid Card ล้วนต้องนำมาตีความใหม่ทั้งสิ้น แต่ซ้ำร้ายที่สุดนั้นคือนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติของรัฐบาลเอง และกระทั่งการทำ 3G ของ TOT ที่อนุมัติโดยรัฐบาลนี้ และล้วนเป็นประโยชน์ต่อประเทศ อาจต้องมาขัดต่อกฎหมายที่รัฐบาลออกเสียเอง

บรอดแบนด์แห่งชาติคือการที่รัฐบาลทำหน้าที่ลงทุนโครงข่ายส่วนกลางพื่อลดการซ้ำซ้อน และหวังให้เอกชนผู้ประกอบการมาเช่าโครงข่าย และพัฒนาเฉพาะระบบที่ปลายทาง ซึ่งการที่ผู้กระกอบการมาเช่าใช้บรอดแบนด์แห่งชาตินี้ อาจขัดต่อ พ.ร.บ. กทสช. เพราะอาจเป็นการที่ผู้กระกอบการไม่ได้ประกอบกิจการเองทั้งหมด ส่วนโครงการ 3G ของ TOT มีองค์ประกอบคล้ายบรอดแบนด์แห่งชาติ เพราะ TOT ลงทุนด้านโครงข่าย แต่เอกชนมาลงนามเป็น MVNO เพื่อขายบริการสู่ผู้บริโภคที่ปลายทาง รูปแบบนี้อาจจะขัดต่อกฎข้อบังคับได้ โดยเฉพาะในกรณีของ TOT ทางผู้บริหารได้ตระหนักถึงปัญหาในข้อนี้แล้ว และตามที่เป็นข่าวได้ให้นักกฎหมายตีความอย่างเร่งด่วน

หากการตีความตามบทความนี้ถูกต้อง จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะสองโครงการยอดเยี่ยมของรัฐบาล อาจต้องมาพินาศล้มไปเพราะกฎหมายที่รัฐบาลออกเสียเอง

อีกปัญหาหนึ่ง คือการระบุให้คลื่นความถี่ต้องจัดสรรด้วยวิธีประมูลเท่านั้น ทั้งที่วิธีของสากลมักนิยมใช้ Beauty Contest ต่อไปการจัดสรรคลื่นไม่ว่ากรณีใดๆ แม้กระทั่งเป็นวิทยุชุมชน หรือวิทยุงานวัด ล้วนต้องประมูลเท่านั้นถึงจะใช้งานได้ การประมูลคลื่นความถี่อย่างที่เคยจะมีสำหรับ 3G จะต้องมีเป็นสิบเป็นร้อยครั้งต่อๆไป เพราะทุกกรณีของการจัดสรร ต้องผ่านประมูลทั้งนั้น มิเพียงเท่านี้ยังเป็นโอกาศให้นายทุนอาศัยกำลังทรัพย์ชนะการประมูล เข้าไปครอบครองคลื่นความถี่ โดยที่ผู้ที่จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มชุมชนต่างๆ อาจต้องพลาดโอกาสไป ต่อจากนี้ไปคลื่นความถี่ของประเทศไทย จะเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างสมบูรณ์

ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้า กลับปรากฎทางออกสำหรับวิกฤตโทรคมนาคมในปัจจุบัน อย่างที่มิได้คาดฝันมาก่อน โดยเฉพาะในเรื่อง 3G บทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ. กทสช. ให้ กทช. รักษาการแทน กสทช. ซึ่งอาจรวมไปถึงอำนาจในการทำแผนคลื่นความถี่ จนไปถึงการจัดสรรคลื่นความถี่เลย ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กทช. ว่าจะใช้อำนาจใหม่ที่มากับกฎหมายฉบับนี้ จัดสรร 3G ไปเลย หรือจะรอคอยให้คณะกรรมการ กสทช. ที่แท้จริงได้ถูกสรรหาและแต่งตั้งจนสำเร็จ สิ่งที่ควรตระหนักคือการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช. ตัวจริง อาจต้องเผชิญอุปสรรคในรูปแบบเดียวกับ กสช. ซึ่งใช้เวลา 10 กว่าปี ยังไม่สำเร็จขั้นต้อง และยังต้องพลาดล้มไปมากกว่าหนึ่งครั้ง ด้วยข้อขัดข้องทางเทคนิค แม้กระทั่งการแต่งตั้ง กทช. เอง ถึงแม้จะผ่านมาได้ แต่ก็ไม่ได้ปราศจากอุปสรรคในแนวทางเดียวกัน ปัจจัยของปัญหาที่เคยเป็นอุปสรรคต่อ กทช. และ กสช. ก็ยังอาจจะมีอยู่ เพราะยังไงประเทศนี้ก็ยังเป็นประเทศไทย จึงต้องคำนึงว่า กสทช. มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญอุปสรรค กว่าจะแต่งตั้งตัวจริงสำเร็จ

วาระนี้ ต้องเป็นการเดิมพันของ กทช. ว่าจะทำหน้าที่รักษาการอย่างไร จะเป็นไก่ได้พลอย หรือจะใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างสูงสุด โครงการของรัฐโดยเฉพาะบรอดแบนด์แห่งชาติยังต้องอาศัย 3G และความสามารถในการจัดสรรคลื่นความถี่ การเข้าถึง 80% ของประชาการด้วยเทคโนโลยีไร้สาย เป็นการลงทุนระดับหมื่นล้าน แต่หากต้องใช้สายทั้งหมดจะมีมูลค่าเป็นแสนล้าน การที่ กทช. ทำหน้าที่รักษาการ จึงมีผลอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของโครงการที่เป็นประโยชน์กับประเทศ ซึ่งหากต้องคอย กสทช. ตัวจริง ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสอีกเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี ความสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายก็ยังมีอยู่ ในระเบียบหน้าที่การรักษาการ แต่ถึงกระนั้น อาจมีความชัดเจนมากกว่าการจัดสรร 3G ในครั้งที่แล้ว

ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับกระแสสังคมด้วย จะยอมรับการทำหน้าที่ของ กทช. ได้อย่างไร สำหรับคนในวงการ ย่อมรู้ดีว่าหากต้องคอย กสทช. ประวัติศาสตร์อาจต้องซ้ำรอยด้วยความผิดหวังของประเทศ

Published in Transport Journal in December 2010