ฝากความหวังกับ Digital Economy
/เป็นข่าวดีของประเทศ ที่รัฐบาลปัจจุบัน ได้หยิบยก Digital Economy ขึ้นเป็นวาระเร่งด่วนของการปฏิรูปในครั้งนี้ หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศของเราไม่ได้มีการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT อย่างบูรณาการในระดับชาติ ซึ่งได้ส่งผลให้ประเทศชาติได้ตกหล่นเป็นอันดับท้ายๆ ของเอเชียและกระทั่งของอาเซียนในมาตรวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางการแข่งขันทางด้าน ICT
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ICT ในปัจจุบัน ไม่ได้มีเพียงผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ แต่ได้รวมถึงระบบนิเวศของธุรกิจดิจิทัล ซึ่งได้แก่ อีคอมเมิร์ซ คอนเทนต์ สื่อ โฆษณา ฯลฯ ที่ได้ถูกพัฒนาเป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่มีมูลค่าอันมหาศาล หากเปรียบในระดับโลก ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ล้วนเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุด จากการจัดอันดับของ FT Global 500, 3 จาก 5 อันดับของธุรกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกเป็นธุรกิจดิจิทัล ได้แก่ Apple, Microsoft และ Google
เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย ก่อนการประมูล 3G เพียงแค่ 2 ปีที่ผ่านมา ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังคงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งการจัดสรร 3G ของไทย ก็ได้ช้ากว่าเหล่าประเทศที่พัฒนาเป็นเวลากว่าทศวรรษ นอกจากนี้ ไทยยังตกเป็นอันดับท้ายๆ ของอาเซียน ที่มีการจัดสรร 3G อย่างเป็นทางการ
แม้แต่ในธุรกิจบรอดคาสต์ ทีวีดิจิทัลของไทย ก็ได้มีการจัดสรรที่ช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป เป็นเวลากว่าทศวรรษ อีกเช่นกัน ทั้งยังได้เกิดความลักลั่นและซ้ำซ้อนของการกำกับดูแลคอนเทนต์ ซึ่งแม้จะเป็นเนื้อหาเดียวกัน แต่ผ่านช่องทางของการรับชมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ในระบบเก่า ทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และกระทั่งเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของอินเทอร์เน็ต ดังเช่น Facebook และ YouTube ก็ยังต้องผ่านขั้นตอนของการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน โดยหน่วยงานของรัฐที่แตกต่างกัน ที่มีมาตรฐานและการใช้ดุลยพินิจที่แตกต่างกัน ในขณะที่เทคโนโลยีได้มีการ Convergence แล้ว แต่กฎหมายและโครงสร้างของหน่วยงานของรัฐในปัจจุบัน กลับไม่ได้สนับสนุนให้มีการกำกับดูแลและสนับสนุนธุรกิจอย่างเป็น Convergence
นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบและรูปแบบของการกำกับดูแลอีกเป็นจำนวนมาก ที่สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ จนเกิดเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการถูกกำกับดูแล (Regulatory Costs) ที่สูงจนเกิดควร สำหรับผู้ให้บริการ อีคอมเมิร์ซ คอนเทนต์ ฯลฯ ซึ่งเป็นธุรกิจในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย หลายๆ ครั้ง การลงทุนเพื่อให้บริการในประเทศไทยจาก Cloud หรือนิติบุคคลที่อยู่ต่างประเทศ กลับสร้างความคุ้มค่าต่อธุรกิจได้มากกว่า เมื่อสามารถหลบเลี่ยง Regulatory Costs ที่ไม่สมเหตุสมผล
ข้อคิดสำคัญ ที่ผู้ที่เขียนกฎหมายในยุคก่อนหน้าอาจได้มองข้าม คือ Digital Economy เป็นธุรกิจไร้พรมแดน ที่สามารถให้บริการจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย การสร้างภาระอันเกินควรให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ กลับเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจข้ามชาติ ที่ไม่เพียงแต่จะไม่มี Regulatory Costs ดังกล่าว แต่กลับได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากรัฐบาลของประเทศตน เพื่อเข้ามาช่วงชิ่งตลาดในประเทศไทย ไม่ต่างกับการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ ซึ่งสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไร้พรมแดน กำแพงภาษี ศุลกากร และมาตรการป้องกันอื่นๆ ยิ่งเป็นสิ่งที่ง่ายดายมาก
ความเป็นธุรกิจไร้พรมแดนที่ได้กล่าวถึง ได้ส่งผลให้องค์ประกอบที่สำคัญภายในระบบนิเวศของ Digital Economy กลับไม่ได้เป็นของคนไทยและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายไทยเลย โครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งยุคปัจจุบัน ไม่เพียงแต่จะรวมถึงโครงข่ายหลักทางโทรคมนาคมและบรอดคาสต์ของประเทศที่เป็น Hard Infrastructure แต่ต้องรวมถึง Soft Infrastructure ที่นับวันจะมีความสำคัญที่ไม่แพ้กัน แต่หลายฝ่ายอาจมองข้ามเช่น Search Engines, Social Networks, Social Media และ Advertising Platform หลักของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันได้แก่ Google, Facebook, Line, YouTube ฯลฯ ที่ไม่ได้เป็นของคนไทย และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายไทย กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ กลับมีไว้เพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบการของไทย ที่มีขนาดเล็ก และไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติได้
หากเปรียบกับหลายประเทศในเอเชีย ไทยต้องถือว่ามีลักษณะที่ไม่เหมือนประเทศอื่น ตรงที่ Soft Infrastructure ที่ได้กล่าวถึง กลับยกให้ต่างประเทศเสียหมด ในขณะที่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ กลับมีธุรกิจท้องถิ่น ที่สามารถต่อสู้ และเอาชนะ Google, Facebook, Line, YouTube ฯลฯ จนมี Market Share สูงสุดในประเทศ
ความสำเร็จของ Digital Economy ไม่เพียงแต่หมายถึงการหลอมรวม Hard Infrastructure แต่ต้องอาศัยการวางรากฐานทาง Soft Infrastructure ของประเทศ เพราะในปัจจุบัน Google, Facebook, Line, YouTube ฯลฯ คือผู้ที่มีอิทธิพลต่อการแข่งขันของ ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ คอนเทนต์ สื่อ และ โฆษณา ในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง และมีความสามารถที่จะกำหนดการแพ้-ชนะ การได้กำไร-ขาดทุนของธุรกิจต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมายของไทยทุกประการ หากแต่ไม่ได้รับการโปรโมทโดย Google Search Engine ก็จะยากยิ่งที่จะถูกค้นพบโดยลูกค้า เช่นเดียวกัน ในกรณีของโฆษณาออนไลน์ เจ้าของคอนเทนต์หรือสื่อที่ไม่ได้รับการสนับสนุนโดย Google Adsense ย่อมจะเป็นการยากที่จะสามารถมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ
หากเปรียบ Hard Infrastructure เช่น โครงข่ายหลักทางโทรคมนาคมและบรอดคาสต์เป็นถนนสายหลักของประเทศ และหากเปรียบ ธุรกิจในยุคดิจิทัล ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ คอนเทนต์ สื่อ และ โฆษณา เป็นรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนน Soft Infrastructure เช่น Search Engines, Social Networks, Social Media และ Advertising Platform ย่อมสามารถถูกเปรียบได้เป็นสัญญาณจราจร
ประเทศชาติและประชาชนย่อมได้ผลดีจากการปฏิรูปโครงข่ายหลักให้เหมาะสมกับยุค Convergence เพราะเป็นการสร้างถนนที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น แต่ความได้เปรียบเสียเปรียบย่อมเกิดจากสัญญาณจราจรที่มีคุณภาพ เป็นกลาง และสามารถถูกกำกับดูแลได้ภายใต้กฎหมายของไทย หรือมิเช่นนั้นควรมีการสนับสนุนจากภาครัฐให้ธุรกิจของไทย สามารถสร้าง Search Engines, Social Networks, Social Media และ Advertising Platform ขึ้นมาต่อสู้และสามารถเอาชนะธุรกิจข้ามชาติ ภายใต้ Digital Economy ของคนไทย
เราไม่สามารถรอคอยได้อีกต่อไปแล้ว สำหรับ Digital Economy แต่เนื่องจากประเทศไทยได้ช้ามาแล้วหลายสิบปี การดำเนินการต้องถูกต้อง รอบคอบ และอย่าให้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยตกเป็นเหยื่อของการถูกล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ โดยธุรกิจข้ามชาติ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย
Published in Krungthepturakij on October 28, 2014