ฝากความหวังกับ Digital Economy (2)
/จากบทความที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของ Digital Economy ที่เป็นครั้งแรกในกว่าทศวรรษของการกำหนดทิศทาง และกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT อย่างบูรณาการในระดับชาติ บทความนี้จะขอกล่าวถึงความสำคัญของ Soft Infrastructure เพราะสำหรับผู้อ่านหลายท่าน เป็นเรื่องที่เข้าใจยากและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่า Hard Infrastructure อย่างหลายเท่าตัว และมีผลต่อความสามารถในการขับเคลื่อนและความสามารถทางการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
เมื่อกล่าวถึง Hard Infrastructures ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ย่อมต้องหมายถึงระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ไฟเบอร์ออปติกซ์ เสาอากาศ คลื่นความถี่ Data Center ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีหน้าที่ในการเก็บรักษาและนำส่งข้อมูลดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง ตัวหนังสือ ฯลฯ ซึ่งเป็นการลงทุนใน Hardware ที่มีมูลค่ามหาศาล ลักษณะจำเพาะของ Hard Infrastructures คือเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงช้ากว่า ไม่มีความสลับซับซ้อน และไม่สามารถให้บริการข้ามพรมแดนได้ ยกตัวอย่างเช่น ระบบโทรคมนาคมของประเทศไทย ต้องให้บริการจากประเทศไทยเท่านั้น เพราะจำเป็นต้องมีตัวตนทางกายภาพอย่างเช่นไฟเบอร์ออปติกซ์ที่สามารถเข้าถึงท้องที่นั้นๆ
การวางแผนเพื่อ Hard Infrastructures ในระดับชาติ จึงเป็นการนำพาโครงข่ายโทรคมนาคมให้เข้าถึงพื้นที่ให้มากที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาจมีการอาศัยประโยชน์จาก Infrastructure Sharing แต่มีข้อดีคือเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ มีกายภาพ และมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นจำนวนมากในประเทศไทย
แต่เมื่อกล่าวถึง Soft Infrastructures ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นกลับเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก จับต้องไม่ได้ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีบุคลากรที่มีความรู้อยู่น้อยคนในประเทศไทย ขออนุญาตกล่าวถึงรูปแบบของ Soft Infrastructures ที่ไม่ควรมองข้ามและมีความสำคัญ ต่อ Digital Economy ดังต่อไปนี้
1. Soft Infrastructure สำหรับการสืบค้นและเข้าถึงข้อมูล: ทศวรรษก่อนหน้านี้ได้ถูกผูกขาดโดย Web Catalogs อย่างเช่น Yahoo แต่ในปัจจุบัน ย่อมหนีไม่พ้น Search Engines อย่างเช่น Google, Bing, Baidoo ฯลฯ โดย Search Engines มีบทบาทที่สำคัญ ในการเลือกนำเสนอข้อมูลให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า ผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นที่ชื่นชอบของ Search Engines อย่างเช่น Google ย่อมมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และมีโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ามากกว่า นอกจากนี้ Search Engines ยังเป็นคลังสมบัติของ Big Data ที่มีมูลค่ามหาศาล โดยสามารถกระทำ Analytics กับข้อมูลการสืบค้นเพื่อล่วงรู้ความต้องการของลูกค้าที่มีจำนวนมหาศาล ในปัจจุบัน ประเทศไทยถูกผูกขาดโดย Google ที่มี Market Share กว่า 99% ในขณะที่หลายประเทศในเอเชีย กลับมี Search Engines ของตัวเองที่ไม่แพ้ Google
2. Soft Infrastructure สำหรับการแลกเปลี่ยนและนำเสนอเนื้อหา: ในปัจจุบัน ย่อมต้องหมายถึง Social Media ซึ่งได้ประเทศไทย ได้ถูกผูกขาดโดย YouTube สำหรับการนำเสนอเนื้อหาในประเภทของวีดีโอ เช่นเดียวกัน ผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นที่ชื่นชอบของ Social Media อย่างเช่น YouTube ย่อมมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และในอนาคตจะมีผู้เข้าถึงเนื้อหาในประเภทของวีดีโอผ่าน Social Media มากกว่าสื่อที่รัฐสามารถควบคุมได้ และอยู่ภายใต้กฎหมายไทย อย่างเช่น ดิจิทัลทีวี การที่ยก Social Media ให้ต่างประเทศเสียหมด กลับเป็นลักษณะจำเพาะของประเทศไทย เพราะในปัจจุบัน หลายประเทศในเอเชีย กลับมี Social Media ของตัวเองที่ไม่แพ้ YouTube
3. Soft Infrastructure สำหรับการเชื่อมโยงและติดต่อระหว่างบุคคล: ในปัจจุบัน ย่อมต้องหมายถึง Email, Social Network และ ระบบ Chat ต่างๆ ซึ่งในประเทศไทย ได้ถูกผูกขาดโดย Gmail, Facebook และ Line ซึ่งระบบเหล่านี้ เป็นอีกคลังสมบัติของ Big Data สำหรับการล่วงรู้ความต้องการของลูกค้าและข้อมูลส่วนบุคคลอีกเป็นจำนวนมาก อีกเช่นกัน หลายประเทศในเอเชีย ที่ไม่ใช่ประเทศไทย กลับมี Email, Social Network และ ระบบ Chat ที่ไม่ต้องง้อต่างประเทศ
4. Soft Infrastructure เพื่อการหาแสวงรายได้: ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ ระบบโฆษณา ซึ่งในปัจจุบัน ได้ถูกผูกขาดโดย AC Neilsen และ Google Adsense ในรูปแบบที่แตกต่างกัน AC Neilsen คือผู้จัดเรตติ้งรายการต่างๆ บนโทรทัศน์ ซึ่งรายการที่ AC Neisen ให้เรตติ้งสูง ก็จะแสวงหารายได้ได้สูงกว่ารายการที่ AC Neisen ให้เรตติ้งต่ำ ในทางกลับกัน Google Adsense เป็นระบบโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต รายได้โฆษณาของเว็บไซต์ และ Mobile App เป็นจำนวนมาก ล้วนมาจาก Google Adsense ซึ่งผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นที่ชื่นชอบของ Google Adsense ย่อมต้องแสวงหารายได้โฆษณาได้สูงกว่าคู่แข่ง
ที่กล่าวมา เป็นเพียงตัวอย่างของ องค์ประกอบของ Soft Infrastructures ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายที่สุด และผู้ประกอบการรวมทั้งผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ยังคงสามารถจับต้องได้
ในปัจจุบัน Start Up และผู้ประกอบการต่างๆ ในประเทศไทย ล้วนให้บริการอยู่ใน Layer ของ Application และ Content ซึ่งเป็นบริการปลายน้ำ ที่อาศัยอยู่บน Soft Infrastructures ที่ได้กล่าวถึง แต่ไม่มีผู้ประกอบการของประเทศไทยเลย ที่ให้บริการอยู่ในระดับของ Soft Infrastructure ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิต Content รายหนึ่งของไทยได้ผลิตละครและนำเสนอผ่าน Infrastructre ของ YouTube หรือ โครงการ Real Estate รายหนึ่งของไทย ได้สร้าง Fan Page อยู่บน Infrastructure ของ Facebook เป็นต้น
หลายปีที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงกันมาก เกี่ยวกับกลยุทธ์ เพื่อ Hard Infrastructures ของประเทศ และยุทธวิธีในการสร้าง Applications และ Content เพื่อนำเสนอผ่าน Soft Infrastructures แต่ไม่เคยมีครั้งใด ที่มีการพูดถึงกลยุทธ์ เพื่อ Soft Infrastructures ของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ไม่เคยมีการพูดถึงการสร้างคู่แข่งของ Google, Facebook, YouTube, Line ฯลฯ ที่เป็นของคนไทย อยู่ภายใต้กฎหมายของไทย และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของไทย เรามีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 3G, 4G ฯลฯ แต่ไม่เคยมีการพูดถึง Search Engines ของคนไทย ทั้งนี้ อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ Soft Infrastructures เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จับต้องไม่ได้ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีบุคลากรที่มีความรู้อยู่น้อยคนในประเทศไทย
ขอฝากความหวังไว้ถึงผู้ที่กำหนดกลยุทธ์ ของ Digital Economy ว่าต้องให้ความสำคัญกับ Soft Infrastructres อย่างที่ไม่แพ้ Hard Infrastructures เพราะท้ายที่สุด Hard Infrastructure อาจไม่ต่างกับ Dumb Pipes (ท่อโง่ๆ) ที่เพิ่มประโยชน์ให้กับ Soft Infrastructre ของผู้ให้บริการข้ามชาติ ที่ล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ และสามารถยึดครอง Digital Economy ของไทยไปได้ อยากที่ไม่ต่างกับปัจจุบัน
Published in Krungthepturakij on November 11, 2014