นวัตกรรมในยุคหลังสมาร์ทโฟน
/“ยุคหลังสมาร์ทโฟน”
ไม่เคยคิดไม่เคยฝันเลยว่า วันหนึ่งจะต้องได้มาพูดคำนี้ เพราะไม่กี่ปีมานี้เอง เรายังคงที่จะพูดถึง “ยุคหลังคอมพิวเตอร์” “ยุคหลังทีวี” และ “ยุคหลัง ...” อยู่เลย เพราะสมาร์ทโฟนคือนวัตกรรมที่ได้มาแทนที่สิ่งเหล่านี้
แต่บัดนี้ เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปแล้วว่า สมาร์ทโฟน ได้มามีอิทธิพลอย่างสูงสุด กับชีวิตความเป็นอยู่ การขับเคลื่อนของเศรษฐกิจและสังคม ในยุคที่เรียกกันว่า “ดิจิทัล”
และยังมีธุรกิจยักษ์ใหญ่ อย่างเช่น แอปเปิล เฟสบุ๊ค ฯลฯ ที่ได้ฉกฉวยโอกาส ในการก่อร่างสร้างตัว หรือกระทั่งกลับชาติมาเกิดใหม่ กับยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยสมาร์ทโฟน ที่เริ่มต้นมาพร้อมกับการเปิดตัวของ ไอโฟน รุ่นแรก ซึ่งกำลังจะครบรอบ 10 ปีในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้
10 ปี ... เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ... ยาวนานมากๆ สำหรับธุรกิจดิจิทัล
ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งรวมไปถึง ธุรกิจที่ได้เติบโตมากับยุคของสมาร์ทโฟน ก็ได้ตระหนักถึงการอิ่มตัว และได้เริ่มแสวงหา สิ่งใหม่ที่จะมาทดแทนสมาร์ทโฟน
แอปเปิล นี่เอง ได้มองว่า ความเป็นจริงเสริม (AR : Augmented Reality) เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่มีโอกาสที่จะมาทดแทนสมาร์ทโฟน และเป็นอนาคตของ แอปเปิล
หลายคนอาจจะมองว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) หรือกระทั่ง หุ่นยนต์ (Robots) เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ได้รับการกล่าวขานสูงสุดในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์สำหรับคนส่งสินค้า หรือกระทั่ง รถยนต์ที่ขับด้วยตัวเอง (Self-Driving Car) ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่มีความมหัศจรรย์ และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงกับชีวิตความเป็นอยู่ การขับเคลื่อนของเศรษฐกิจและสังคม อย่างแน่นอน
เพียงแต่นวัตกรรม AI และ Robots ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนที่ สมาร์ทโฟน โดยจะเป็นนวัตกรรมคู่ขนาน เพราะสิ่งที่จะมาแทนที่ (Disrupt) สมาร์ทโฟน กลับเป็น AR ตามการคาดคะเนของ แอปเปิล ซึ่งยังมองด้วยว่า AR จะเปลี่ยนแปลงโลก ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ยิ่งกว่า AI และ Robot เสียอีก
ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โปเกมอน โก ต้องถือเป็นปรากฏการณ์ ที่ทำให้ชาวโลกได้มารู้จักกับ AR อย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการแสดงภาพดิจิตอล (โปเกมอน) ลงไปซ้อนกับภาพจริง ที่ถูกถ่ายทอดมาจากกล้องของ สมาร์ทโฟน
แต่ AR ในรูปแบบของ โปเกมอน โก ยังคงต้องอาศัยสมาร์ทโฟน ในการสร้างประสบการณ์ของ AR จึงยังคงมิใช่สิ่งที่จะมา Disrupt สมาร์ทโฟน
แม้ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกสู่ภายนอกจะไม่มากนัก แต่เป็นที่คาดคะเนกันว่า แอปเปิล กำลังพัฒนา AR ในรูปแบบของแว่นตา ที่จะทำให้ ประสบการณ์ AR ของผู้ที่ใช้งาน นั้น มีทัศนวิสัยที่กว้างไกล และครอบคลุมยิ่งกว่า AR ที่ใช้งานผ่าน สมาร์ทโฟน
อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดคะเนกันด้วยว่า เทคโนโลยี AR ของ แอปเปิล ยังมิได้พร้อมที่จะนำออกมาสู่ตลาดในเร็ววันนี้ และยังเป็นไปได้ด้วยว่า แอปเปิล จะมิได้แย่งชิง ความเป็นจ้าวตลาดรายแรก เช่นในกรณีของ สมาร์ทโฟน แอปเปิล ก็มิได้เป็นรายแรก เพียงแต่คอยจังหวะที่ เทคโนโลยีพร้อม ตลาดพร้อม และสังคมพร้อม จึงจะเปิดตัว ไอโฟน ออกมา และสามารถสร้างความมหัศจรรย์ อยู่เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว
เพราะก่อนหน้านี้ กูเกิ้ล ก็ได้เคยเปิดตัว แว่นตากูเกิ้ล (Google Glasses) สำหรับ AR แต่ก็ได้ปิดโครงการไปแล้ว เพราะความไม่พร้อมในยุคนั้น
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง เฟสบุ๊ค ก็ได้ออกมาเปิดเผยวิสัยทัศน์ของของ เฟสบุ๊ค โดยมี AR เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สำหรับการให้บริการต่อไปในอนาคต
แต่ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่เหนือชั้นที่สุด ย่อมต้องหนีไม่พ้น อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง เทสลา เพราะ อีลอน กำลังลงทุนในเทคโนโลยี AR ชนิดที่ไม่ต้องอาศัยแว่นตา แต่กลับเป็นการเชื่อมต่อเข้าโดยตรงกับสมองของมนุษย์ ด้วยการผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์สื่อสารระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์เข้าไปในสมอง ทั้งนี้ นอกเหนือจากเพื่อ AR แล้ว วิธีการนี้ยังคงจะได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อของสมองมนุษย์เข้ากับ AI และ กระทั่งหุ่นยนต์ นับเป็นความท้าทาย และเป็นความไฝ่ฝันของหลายคน ที่ มนุษย์ AR AI และหุ่นยนต์ จะได้รวมร่างเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง
สมาร์ทโฟน ยังคงเหลือเวลาอีกหลายปี แต่ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ ต่างไม่รอช้า และเริ่มต้นค้นหา สิ่งใหม่ที่กำลังจะมาทดแทนแล้ว
Published in Krungthepturakij on April 25, 2017