การก้าวทันเทคโนโลยี องค์กร vs บุคคลากร

คงไม่มีข้อถกเถียง หากจะสรุปกันอย่างง่ายดายว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เป็นสุดยอดแห่งวิชาในโลกเทคโนโลยี ที่เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ณ เวลานี้

หลายท่านอาจจำกันได้ เมื่อ 2 ปีก่อน อภิมหาข้อมูล (Big Data) ก็เป็นสุดยอดแห่งวิชา ที่เป็นที่ต้องการเป็นอันดับหนึ่ง

และหลายท่านยังคงอาจจำกันได้ อีกเช่นกัน เมื่อ 4 ปีที่แล้ว การเขียนแอปบนสมาร์ทโฟน (Smartphone App) ก็เป็นสุดยอดแห่งวิชา ที่เป็นที่ต้องการ

สำหรับท่านที่เคยติดตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมากว่าทศวรรษ ย่อมต้องสังเกตุได้ว่า วิชาการในโลกเทคโนโลยี ที่ตลาดต้องการ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุก 2 - 3 ปี ก็จะมีวิชาใหม่ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอันดับหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นความท้าทายที่สำคัญ สำหรับบริษัท ห้างร้าน หรือองค์กร เพื่อที่จะยังไว้ซึ่งความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อที่จะไม่ต้องมาตกยุคตกสมัย ตามที่ได้เห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ เมื่อธุรกิจดิจิตัลที่เพิ่งเกิดใหม่ไม่ถึง 5 ปี ต้องมาทำให้อุตสาหกรรมเก่าแก่ ที่เคยยิ่งใหญ่มาเป็นศตวรรษ ต้องเข้าสู่ภาวะถดถอย จนกระทั่งพ่อมดทางการเงินอย่างเช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ออกมาขายหุ้นแบบยกอุตสาหกรรม

การปรับตัวขององค์กร แม้จะเป็นความท้าทาย แต่ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ เพราะองค์กรที่มีความคล่องตัว ย่อมสามารถบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ทำการว่าจ้าง หรือกระทั่งซื้อตัว บุคคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชา ที่เป็นที่ต้องการของตลาด

ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจเป็นโลกแห่งอุปสงค์อุปทาน ความเชี่ยวชาญใดที่เป็นที่ต้องการ และเป็นที่ขาดแคลน ตลาดพร้อมที่จะผลิตผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นออกมาทดแทนอย่างรวดเร็ว

ยกตัวอย่างเช่น องค์กรที่มีความคล่องตัว ย่อมที่จะสามารถเสริมทัพด้วย บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทางด้าน Artificial Intelligence ณ เวลานี้ หรือ Big Data เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และ Smartphone App เมื่อ 4 ปีที่แล้วนี้ เป็นต้น

สิ่งที่ต้องการ มีเพียง วิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร

แต่ในด้านหนึ่ง กลับเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า ซึ่งมาจากมุมมองบุคลากรแต่ละคน ว่าจะบริหารจัดการตัวเองอย่างไร ให้มีความเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชา ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ตลอดจนทุกช่วงอายุของการทำงาน

ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมเมอร์คนหนึ่ง เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เขาอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Smartphone App และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เขาอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Big Data ในขณะที่ปัจจุบัน เขาอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Artificial Intelligence ในความเป็นจริงแล้ว ตัวอย่างนี้สามารถที่จะเป็นจริงได้ไหม ที่โปรแกรมเมอร์คนหนึ่ง จะทั้งทุ่มเททำงานอย่างเต็มเวลา ในขณะที่ยังสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเอง จนเกือบจะเหมือนจบปริญญาใบใหม่ ในสาขาวิชาใหม่ เกือบทุก 2 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น สาขาวิชา ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ในยุคหลังๆ ล้วนมีความเฉพาะเจาะจง และต้องลงทุนเวลามากยิ่งขึ้น สำหรับบุคลากรแต่ละคน  กว่าที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาได้

ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนา Smartphone App อาจเป็นทักษะความรู้ในระดับปริญญาตรี ในขณะที่ Big Data อาจเป็นทักษะความรู้ในระดับปริญญาโท และ Artificial Intelligence อาจเป็นทักษะความรู้ในระดับปริญญาเอก

สำหรับผู้ที่ได้สำเร็จศึกษา Artificial Intelligence ในระดับปริญญาเอก ส่วนมากแล้ว ก็ไม่ได้คาดเดามาตั้งแต่ก่อนเริ่มเรียนว่า Artificial Intelligence จะได้มาเป็น สาขาวิชา ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ณ เวลานี้ 

แต่สำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นศึกษา Artificial Intelligence ในระดับปริญญาเอก ณ เวลานี้ กว่าจะสำเร็จการศึกษา ย่อมเป็นที่คาดหวังได้เลยว่า จะมีสาขาวิชาอื่น ที่เป็นต้องการของตลาดแทน เมื่อเขาได้สำเร็จการศึกษา 

วงจรชีวิตของโปรแกรมเมอร์คนหนึ่ง คือการที่เขาจะสามารถผันตัว เข้าสู่ฟังชั่นของการบริหาร และ การใช้วิสัยทัศน์ ภายในช่วงแรกของการทำงาน เพราะสาขาวิชาที่ทำให้เขาได้ถูกว่าจ้างเข้ามา จะมีมูลค่าต่อตลาดและองค์กร ที่ลดลงในแต่ละปี ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ในขณะที่ ความสามารถทางด้านการบริหาร และ การใช้วิสัยทัศน์ จะเพิ่มมูลค่าขึ้นจากประสบการณ์ของโปรแกรมเมอร์คนนั้น

อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะในส่วนของบุคคลากร ที่จะเลือกสาขาวิชาทางเทคโนโลยี เป็นปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังอาจมิได้มีผลกระทบในประเทศไทยมาก เพราประเทศไทย ยังคงอยู่ในสถานะของผู้ซื้อเทคโนโลยี เพื่อมานำประยุกต์ใช้ มากกว่าการที่จะเป็นผู้ผลิตและบุกเบิกทางเทคโนโลยี 

ดังนั้น บุคคลากรของไทย ยังอาจมิต้องมีความรู้อย่างเชิงลึกใน Big Data หรือ Artificial Intelligence ก็สามารถหางานทำได้แล้ว

แต่เมื่อประเทศ มีทิศทางที่จะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น องค์กร หรือ บุคคลากร ก็ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า

Published in Krungthepturakij on April 11, 2017