บิ๊กออนไลน์จีนบุกตลาดไทย

เทศกาลตรุษจีนเป็นวันหยุดตามประเพณีของจีนที่สำคัญที่สุด สำหรับผู้ที่ติดต่อธุรกิจกับประเทศจีนต้องทราบดีว่าตรุษจีน เป็นงานเฉลิมฉลองที่ยาวที่สุด และสำคัญที่สุดในปฏิทินจีน ช่วงเวลานี้ การดำเนินธุรกิจกับประเทศจีนต้องมาหยุดชะงักลง และจะไม่มีการดำเนินต่อเนื่องอย่างเต็มรูปแบบเป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ก้าวเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในแวดวงของธุรกิจเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการผลิต สินค้าเทคโนโลยีเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน รวมถึงสมาร์ทโฟน แทบเล็ต โน้ตบุ๊ค ฯลฯ แม้จะใช้แบรนด์ของประเทศในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ แต่มักถูกผลิตจากโรงงานจีนในรูปแบบของ OEM หรือ ODM เทศกาลตรุษจีน จึงเปรียบเสมือนเป็นวันหยุดที่สำคัญของธุรกิจเทคโนโลยี ที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อไม่ให้การดำเนินธุรกิจในภาพรวมต้องมาสะดุดตาม

ประเทศจีนยังมีธุรกิจออนไลน์ที่มีความยิ่งใหญ่ แม้จะมีรากฐานมาจากความเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งรวมถึงบริการ โซเชียล เน็ตเวิร์ค เสิร์ชเอ็นจิน อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ธุรกิจออนไลน์ของจีน อาศัยฐานประชากรจีน 1,300 ล้านคน เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจ แต่ปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้เริ่มหาหนทางเข้าสู่ตลาดโลกและในบางส่วนได้เข้ามาแข่งขันให้บริการในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ธุรกิจออนไลน์ขนาดยักษ์ในประเทศจีน ได้แก่ เทนเซ็นต์ อาลีบาบา และ ไป่ตู้

สำหรับ เทนเซ็นต์ ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2541 เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยเงินทุน ไม่ถึง 3 ล้านบาท และมีบริการแรกคือ คิวคิว ซึ่งเป็น ไอเอ็ม (Instant Messenger ในรูปแบบที่คล้ายกับ ICQ หรือ MSN Messenger) 10 ปีต่อมา มีผู้ใช้งานเกือบ 500 ล้านคน ทำให้ผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ชื่อว่า หม่าฮั่ว เถิง ซึ่งอายุไม่ถึง 40 ปี ได้กลายเป็นเซเลบริตี้ อย่างรวดเร็ว จุดเด่นของคิวคิว คือการซื้อขาย ดิจิทัล ไอเท็ม ที่ถูกกับจริตของคนจีน ปัจจุบัน เทนเซ็นต์ มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท และถูกจัดอันดับเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับ 4 รองจาก Google Amazon และ Facebook ส่วนผู้ก่อนตั้ง ถูกจัดอันดับเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 4 ของจีน

สำหรับประเทศไทย เทนเซ็นต์ ยังเป็นเจ้าของ Sanook.com เว็บไซต์อันดับต้นๆ ของไทย ซึ่งรวมถึง Dealfish.com และบริการอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับ Sanook แต่การนำบริการจากจีนเพื่อเข้ามาบุกตลาดไทยนั้น คงต้องกล่าวถึง วีแชท ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Weixin ในประเทศจีน และมีผู้ใช้งานกว่า 300 ล้านคน สำหรับประเทศไทย วีแชท กำลังแข่งขันกับ WhatsApp และ Line สู่ความเป็นอันดับหนึ่งทางด้าน Messenger

อาลีบาบา ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2542 โดยหม่าหยุนและพรรคพวก เป็นบริการอีคอมเมิร์ซ แบบ B2B เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการจากภาคการผลิตของจีน สามารถแสวงหาลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลก ต่อมา อาลีบาบา ได้เปิดบริการ เถาเป่า เป็นบริการอีคอมเมิร์ซ แบบ C2C ที่คล้าย eBay ปัจจุบัน อาลีบาบา เป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยมีมูลค่าเกือบ 5 ล้านล้านบาท กว่า 60% ของพัสดุที่มีการจัดส่งในประเทศจีน ล้วนเกิดจากการซื้อขายผ่านบริการของอาลีบาบา ส่วนหม่าหยุน ถือเป็นคนจีนคนแรกที่ได้มีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ และได้มาเป็นเซเลบริตี้ที่สำคัญอีกคนหนึ่ง

แม้จะไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนไทยโดยทั่วไป อาลีบาบา สามารถใช้บริการจากประเทศไทยได้ โดยมีนักธุรกิจชาวไทยที่ได้สั่งซื้อสินค้าจากอาลีบาบา เพื่อนำมาขายต่อในประเทศ

สตาร์ทอัพสุดท้าย คือ ไป่ตู้ ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2543 โดย โรบิน หลี่ และ อีริค ซู เพื่อให้บริการเสิร์ชเอ็นจินสำหรับคนจีน ความโดดเด่นของไปตู้ คือการพัฒนาเสิร์ชเอ็นจินที่ถูกกับจริตของคนจีน ปัจจุบัน ไป่ตู้ มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท และ ผู้ก่อตั้ง โรบิน หลี่ ถูกจัดอันดับเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศจีน และเป็นเซเลบริตี้อีกคนหนึ่งของวงการ นอกจากนี้ ไป่ตู้ ยังเป็นผู้ให้บริการ สารานุกรมออนไลน์ที่คล้ายกับ Wikipedia ในประเทศจีน แต่ให้ความร่วมมือกับทางการในการเซนเซอร์ฐานข้อมูล

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไป่ตู้ เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่ได้เข้ามาบุกตลาดไทย โดยมีผลิตภัณฑ์ PC Faster และเว็บไซต์ Hao 123 แต่สำหรับบริการหลัก คือ เสิร์ชเอ็นจินที่ชื่อไป่ตู้นั้น ยังไม่ได้เริ่มให้บริการในประเทศไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกเหนือจากอิทธิพลของธุรกิจออนไลน์ที่มาจากสหรัฐ เช่น Google, Facebook, Twitter นั้น จีน เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีบทบาทที่สำคัญในโลกออนไลน์ของไทย และธุรกิจออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของจีนเหล่านี้ ที่มีมูลค่าตลาดมากกว่างบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลไทย ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากความเป็นสตาร์ทอัพเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งมูลค่าของการเริ่มต้นธุรกิจ ก็มิใช่เงินที่มหาศาลเกินกว่าที่ธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยจะแสวงหามาได้ แต่เพราะเหตุใด ที่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีสตาร์ทอัพของไทยที่สามารถไปผงาดอยู่ในต่างประเทศ เช่นเดียวกับกรณีของสหรัฐและจีน ที่ได้ไปบุกตลาดประเทศอื่น

เป็นที่น่าติดตามถึงการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสหรัฐและจีน ในโลกออนไลน์ของไทย ปัจจุบันถึงแม้สหรัฐจะได้เปรียบ แต่ก็ไม่สามารถดูถูกสตาร์ทอัพจีนของจีนเหล่านี้ ที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตอันใกล้ ในบางครั้ง การปิดประเทศของจีน อย่างเช่นการปิดกั้นธุรกิจออนไลน์จากสหรัฐ เช่น โซเชียลเน็ตเวิร์ค เสิร์ชเอ็นจิน ฯลฯ อาจเป็นผลดี เพราะเป็นการซื้อเวลา ให้ธุรกิจสตาร์ทอัพภายในประเทศมีความแข็งแกร่ง จนกระทั่งมีความสามารถที่จะออกมาแข่งขันในตลาดโลกได้

Published in Krungthepturakij on February 4, 2014