อนาคตของทีวี โจทย์ต่อไปของทีวีดิจิทัล
/ปลายปีที่ผ่านมา ประธานกรรมการบริหาร ของ คอมคาสต์ ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีอันดับหนึ่งในสหรัฐ ได้กล่าวว่า อนาคตของทีวี ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 50 ปี อนาคตของที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของทีวี คือการที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังรับชมโทรทัศน์น้อยลง ในขณะที่จำนวนของครัวเรือนที่ไม่มีเครื่องรับโทรทัศน์เลย กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเป็นที่น่าตกใจ ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้หันมารับชมโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยอาศัยคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อหาที่ ผู้บริโภคยุคใหม่รับชม มีความเป็นออนดีมานด์และอินเทอร์แอคทีฟ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเนื้อหาในรูปแบบเดิม ที่กำหนดเวลาตามช่องรายการ
สำหรับประเทศไทย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่คือ ยูทูป ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกรับชมเนื้อหาอย่างออนดีมานด์ โดยที่สามารถเลือกรับชมเนื้อหาที่ต้องการได้ในเวลาที่ต้องการ และยังมีความเป็นอินเทอร์แอคทีฟ โดยที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถรับชมยูทูปผ่านอินเทอร์เน็ต โดยอาศัย คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต ดังนั้น นอกเหนือจากการรับชมเนื้อหาในเวลาที่ตนต้องการแล้ว ยังสามารถรับชมในสถานที่ที่ตนต้องการและผ่านอุปกรณ์ที่ตนต้องการอีกด้วย
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นของโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ ได้แก่บริการเช่น เน็ตฟลิกซ์ แอปเปิลทีวี และ อเมซอนอินสแตนท์วีดีโอ ซึ่งเป็นบริการที่คล้ายกับ ยูทูป แต่ให้บริการเนื้อหาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงิน ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์ในระบบไฮเดฟฟินิชั่น ที่พึ่งถูกนำฉายในโรงภาพยนตร์ ปัจจุบัน ในสหรัฐ มีผู้ใช้งาน เน็ตฟลิกซ์ ยิ่งกว่า คอมคาสต์ ซึ่งผู้เป็นให้บริการเคเบิลทีวีอันดับหนึ่งเสียอีก
การเปลี่ยนแปลงสู่โทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ ได้ถูกสะท้อนด้วยการวัดเรตติ้งของการรับชมโทรทัศน์ในรูปแบบเดิมของสหรัฐ ที่มีการลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีติดต่อกัน และจำนวนของครัวเรือนที่ไม่มีเครื่องรับโทรทัศน์เลย ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้ อายุเฉลี่ยของผู้รับชมทีวีในรูปแบบเดิมของสหรัฐ คือกลุ่มที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ในทางกลับกัน การรับชมโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีติดต่อกัน โดยการรับชมผ่าน สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ระหว่าง คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต นั้น สมาร์ทโฟน จะมีการใช้งานตลอดทั้งวัน ในขณะที่ คอมพิวเตอร์ จะมีการใช้งานมากในช่วงเวลากลางวัน ในขณะที่ แทบเล็ต จะมีการใช้งานมากในช่วงเวลากลางคืน ดังนั้น แทบเล็ต จึงเป็นผู้ชนะในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ที่แท้จริง นอกจากนี้ ในสหรัฐ สัดส่วนของมูลค่าของสื่อ สำหรับโทรทัศน์ในรูปแบบเดิม อยู่ที่ 42.1% ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับสัดส่วนของเวลาที่ผู้บริโภครับชมโทรทัศน์ ซึ่งอยู่ที่ 38% ในขณะที่สื่อยุคใหม่ มีสัดส่วนของมูลค่าสื่ออยู่ที่ 27.9% ในขณะที่สัดส่วนของเวลาอยู่ที่ 44.8% มูลค่าของสื่อยุคใหม่ จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีก
สำหรับประเทศไทย ทีวีดิจิทัลเป็นวิวัฒนาการณ์ของโทรทัศน์ในรูปแบบเดิม ที่สามารถเพิ่มจาก 6 ช่องเดิม (3 5 7 9 11 ThaiPBS) เป็นเกือบ 100 ช่อง แม้จะยังไม่ความเป็นออนดีมานด์และอินเทอร์แอคทีฟในปัจจุบัน แต่ในอนาคตย่อมสามารถที่จะประยุกต์เข้ากับโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ได้ ความได้เปรียบของทีวีดิจิทัล คือการส่งสัญญาณในรูปแบบของบรอดคาสต์ จึงสามารถนำส่งเนื้อหาในระบบไฮเดฟฟินิชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังเป็นข้อจำกัดของประเทศไทย ซึ่งยังคงเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทีวีดิจิทัลสามารถก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าว ด้วยการใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดิน
หากจะใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อนำส่งเนื้อหาในระบบไฮเดฟฟินิชั่น ที่มีความละเอียดเทียบเท่ากับทีวีดิจิทัล จำเป็นต้องใช้ความเร็วขั้นต่ำ 5 Mbps ขึ้นไป ซึ่งยังเป็นเรื่องยากสำหรับหลายพื้นที่ของประเทศไทย หากใช้เทคโนโลยีมีสายเช่น เอดีเอสแอล หรือ เคเบิลโมเด็ม และ เกือบที่จะเป็นไปไม่ได้เลย หากใช้เทคโนโลยีไร้สาย เช่น สามจี หรือ สี่จี
โจทย์ต่อไปของทีวีดิจิทัลคือการพัฒนาปรับปรุงให้รับชมผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน จึงจะเป็นไปตามทิศทางเดียวกับอนาคตของทีวีในสากลโลก โดยจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานเสริมกับ สามจี สี่จี และ ไวไฟ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี อนาคตของทีวีโลก ก็มิใช่ปัจจุบันของประเทศไทย ในประเทศไทย สัดส่วนของมูลค่าของสื่อ สำหรับโทรทัศน์ในรูปแบบเดิม อยู่ที่กว่า 60% ซึ่งนับเป็นมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่สื่อยุคใหม่ มีสัดส่วนของมูลค่าสื่อที่ต่ำกว่า 5% ซึ่งเป็นผลจากข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประเทศ และพัฒนาการทางเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งมิได้เป็นไปตามจังหวะและขั้นตอนของสากลโลก ตลาดที่สำคัญสำหรับทีวีดิจิทัลในยุคแรก จึงยังคงเป็นเครื่องรับโทรทัศน์ และมิใช่อุปกรณ์ในยุคใหม่ดังเช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต
แต่ถึงกระนั้น ผู้บริโภคยุคใหม่ และโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ ก็ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย แม้จะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ก็เป็นที่น่าติดตาม ถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีและการตลาด ระหว่าง โทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ และ โทรทัศน์ในรูปแบบเดิม ซึ่งท้ายที่สุด จะเป็นชัยชนะของโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ตามแนวทางของสากล หรือจะเป็นการแบ่งตลาดในรูปแบบใด ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา
Published in Krungthepturakij on February 18, 2014