IPv6: ไม่ต้องกลัว IP Address จะหมดโลก
/IPv6 เป็นการแก้ปัญหาของ IP Address ที่กำลังจะหมดโลก วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2554 เป็นวันสำคัญของโลกนวัตกรรมอีกวันหนึ่ง เพราะจะมีการทดลองใช้ IPv6 พร้อมกันทั่วโลก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และบริษัทใหญ่ๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งรวมถึงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยด้วย
IP Address เปรียบเสมือนหมายเลขโทรศัพท์สำหรับทุกอุปกรณ์ที่ใช้งานได้บน Internet ปัจจุบันเป็นช่วงส่งต่อระหว่าง IPv4 มาเป็น IPv6 โดยที่ IPv4 ได้มีใช้งานมาตั้งแต่ 1980 ปัญหาที่สำคัญของ IPv4 คือหมายเลข IP Address ที่กำลังจะหมด เพราะเมื่อถูกออกแบบ มิได้คาดคำนึงถึงจำนวนอุปกรณ์ที่จะมีใช้ในยุคปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ มีแต่คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ราคาแพง ที่จะสามารถเข้าถึง Internet ได้ แต่ในปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือ Smartphones และอีกมากมายหลายประเภทของอุปกรณ์ สามารถเข้าถึง Internet ได้ทั้งหมด
IPv4 เป็นระบบของ IP Address ที่ถูกบุกเบิกมาพร้อมกับ Internet และเป็นมาตรฐาน 32 Bit ซึ่งสามารถเป็นหมายเลขของ IP Address ที่แตกต่างกันได้ 4 พันล้านกว่าตัวเลข นั่นหมายความว่า สามารถรองรับอุปกรณ์ที่ใช้งานบน Internet ได้พร้อมกัน 4 พันล้านกว่าอุปกรณ์ ปัจจุบันมีการใช้งาน Internet อย่างแพร่หลาย นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ราคาแพงในยุคแรก ได้มีนวัตกรรมของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ในรูปแบบของ Laptops, Notebooks, Netbooks หรือกระทั่ง Tablet PCs ซึ่งมีเกือบ 2,000 ล้านเครื่องทั่วโลก หรือ 27% ของประชากรมนุษย์ แม้แต่โทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีการใช้งาน 5,300 ล้านเครื่องทั่วโลก หรือ 77% ของประชากรมนุษย์ ได้มีการพัฒนาเป็น Smartphones ที่สามารถเข้าถึง Internet ได้ นอกไปจากนี้ ยังมีอุปกรณ์อีกมากมายหลายประเภท ที่สามารถเข้าถึง Internet ได้อีก จึงไม่น่าเป็นที่แปลกใจว่า IP Address กำลังจะหมดโลก
อย่างไรก็ดี ได้มีความพยายามที่จะประวิงเวลา ก่อนที่ IP Address จะหมดไป หนึ่งในวิธีการคือ Network Address Translation (NAT) ซึ่งเป็นการที่หลายคอมพิวเตอร์ เช่นจากบริษัทหรือโครงข่ายเดียวกันใช้ IP Address ร่วมกันในการออกสู่โลกภายนอก และมีการบริหารจัดการภายในให้มี IP Address จำแลงที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ NAT จึงไม่ต่างจากการที่ ทั้งบริษัทหรือโครงข่าย มีหมายเลขสำหรับโทรตรงเบอร์เดียว แต่ภายในมีการบริหารจัดการให้มี Extensions ที่แตกต่างกัน แต่ถึงกระนั้น NAT เป็นที่มาของปัญหาหลายๆอย่าง ของการใช้งานและการออกแบบบริการ เพราะต้องคำนึงถึงหลายอุปกรณ์ที่ไม่สามารถมีหมายเลขตรงได้
IPv6 เป็นทางออกระยะยาวสำหรับปัญหา IP Address ที่กำลังจะหมด โดยที่ใช้มาตรฐาน 128 Bit ซึ่งสามารถเป็นหมายเลข IP Address ที่แตกต่างกันได้ 360 ล้านล้านล้านล้านล้านล้านกว่าตัวเลข จึงย่อมเพียงพอสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้งาน Internet ในยุคปัจจุบัน และในอีกหลายศตวรรษหรือกระทั่งสหัสวรรษข้างหน้า ระยะหลังนี้ ได้มีการตื่นตัว และมีการแถลงการณ์ถึงความพร้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ให้บริการ Internet ขนาดใหญ่ของประเทศไทย อย่างเช่น True Internet ก็เคยได้แสดงศักยภาพถึงความพร้อมอยู่หลายครั้ง อย่างไรก็ดี ระยะเวลาที่จะเปลี่ยนจาก IPv4 มาเป็น IPv6 ก็ยังมิได้กำหนดชัด เพราะจะเป็นวาระแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก โดยที่ IPv4 มีการใช้งานมาตั้งแต่การบุกเบิก Internet จะต้องถูกเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งแรก
แต่ถึงกระนั้น วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2554 ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ทุกคนจะได้ทดลองใช้ IPv6 ซึ่งนอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเรื่อง IP Address ยังมีประโยชน์อีกมากมายหลายประการ ที่จะมามีความสำคัญในยุคต่อไปของการเข้าถึง Internet
Published in Transport Journal in June 2011