ฟ้าหลังฝน ผ่าวิกฤตโทรคมนาคมไทย

ลุ้นกันสุดระทึก สองกรณีแห่งการฟ้องร้องศาลปกครอง ในวาระที่กระชั้นชิด และสืบเนื่องจากประเด็นที่ต้องส่งผลต่ออนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณี 1: การฟ้องเพื่อระงับสัญญาระหว่าง กสท และ ทรู ในการให้บริการระบบ 3G ทั่วประเทศ

กรณี 2: การฟ้องเพื่อระงับการส่งชื่อผู้ถูกสรรหาเป็น กสทช

ทั้งสองกรณี มีทั้งประเด็นที่ศาลรับฟ้องและไม่รับ แต่ถึงกระนั้น อาจเป็นเคราะห์ดีของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ที่ศาลปกครองไม่สั่งคุ้มครองทั้งสองกรณี เพราะคนไทยทั้งประเทศจะมีโอกาศได้ใช้ 3G และลูกค้าปัจจุบันของ กสท กว่าล้านคน ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ และยังสามารถใช้บริการโทรศัพท์ต่อไปได้ นอกไปจากนี้ กระบวนการจัดตั้ง กสทช ยังสามารถเดินหน้าต่อ และ กสทช มีโอกาศที่จะจัดสรร 3G เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างแท้จริง หลังจากที่ต้องล้มเหลวมาหลายครั้งหลายหน จนเป็นข่าวอึกทึกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โทรคมนาคมไทย ได้ประสบวิกฤติการณ์ทางข้อกฎหมายและคดีความมาโดยตลอด นับจากการจัดตั้ง กสช ที่ไม่สำเร็จถึงสองครั้ง และสืบเนื่องสู่การจัดสรร 3G ที่ไม่สำเร็จถึงสองครั้งเช่นกัน อุปัทวเหตุเหล่านี้ ส่งผลให้ประเทศไทย จัดเป็นอันดับสุดท้ายในกลุ่ม ASEAN คู่กับพม่า ที่ยังไม่มีการให้บริการ 3G อย่างทั่วประเทศ และส่งผลให้ไทยรั้งท้ายในการเข้าถึง Internet เพราะพื้นห่างไกล เข้าถึงได้ยากด้วยเทคโนโลยีมีสาย ในขณะที่เทคโนโลยีใร้สายเช่น 3G ไม่สามารถจัดสรรได้ ด้วยวิกฤติการณ์ทางกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว

อย่างไรก็ดี การให้บริการ 3G ในครั้งนี้ เป็นการใช้คลื่นความถี่เดิม ที่ไม่ต้องมีการจัดสรรใหม่ คือคลื่นความถี่ 850 Mhz และ 900 Mhz ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ใช่คลื่นความถี่มาตรฐานของการให้บริการ 3G จึงมีข้อจำกัดในด้านอุปกรณ์ทั้งในเรื่องของโครงข่ายและลูกข่าย จะเห็นได้ว่า โทรศัพท์ที่ใช้ 850 Mhz หรือ 900 Mhz มีอยู่จำกัด เมื่อเทียบกับโทรศัพท์ที่ใช้ 2,100 Mhz ที่เป็นคลื่นมาตรฐานสำหรับ 3G แต่ถึงกระนั้น การใช้คลื่นความถี่เดิม เป็นทางออกระยะสั้น-กลาง เพียงทางออกเดียว สำหรับปัญหา 3G และการเข้าถึง Internet ในประเทศไทย

การปฎิรูปอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง จะทำได้ต่อเมื่อ กสทช ได้จัดตั้งสำเร็จ และสามารถจัดสรร 3G ด้วยคลื่นความถี่ 2,100 Mhz พร้อมด้วยเงื่อนไขของใบอนุญาต ที่มีแต่ความเท่าเทียม และลดความได้เปรียบเสียเปรียบที่อยู่ในอุตสาหกรรมมากว่าทศวรรษ การจัดสรร 3G นับเป็นทางออกที่ยั่งยืนและถาวรอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เทคโนโลยีไร้สายอื่นๆ เช่น WiMAX ก็จะสามารถจัดสรรได้เช่นกัน การปฎิรูปในครั้งนี้ จะรวมไปถึงอุตสาหกรรมกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งการหลอมรวมของเทคโนโลยี หรือ Technology Convergence จะทำให้มีความใกล้เคียงและแยกได้ยากจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

สัปดาห์นี้ เป็นฟ้าหลังฝน ถึงสองครั้งติดกัน อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อาจเป็นครั้งแรก ที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ของโทรคมนาคมไทย และอุตสาหกรรมข้างเคียง เช่น กระจายเสียงและโทรทัศน์ อย่างไรก็ดี จนกว่าคนไทยจะมี 3G ใช้อย่างทั่วถึง ทุกท้องที่ในประเทศไทย วิกฤติการณ์ทางข้อกฎหมายและคดีความใหม่ๆ ยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อีก หวังเพียงว่า ฟ้าหลังฝนในครั้งนี้ จะมีระยะเวลายาวนานเพียงพอ สำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าของประเทศไทย

Published in Transport Journal in May 2011