การตลาดบน 3G ต่างชาติหรือไทยได้ประโยชน์

ต้องขอขอบคุณ พอ.ดร.นที ศุกลรัตน์ หัวหน้าทีมงาน 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) สร้างฝันให้เป็นจริงกับคนทั้งชาติ ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่มีจำกัด และแรงกดดันจากทุกรอบด้าน เป็นโชคดีของคนไทยที่ได้คนรุ่นใหม่ ที่มีความตั้งใจจริง และมีความรู้ความสามารถมาทำงานที่สำคัญระดับนี้ ในไม่ช้านี้ประเทศไทยอาจมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) ที่ 80% ของประชากรภายใน 4 ปี จากเดิม 10% ด้วยหลักเกณฑ์ของใบอนุญาต 3G

แต่ในการตลาดแล้ว ใครจะได้ประโยชน์สูงสุดจาก 3G

ธุรกิจหลักบน 3G ไม่ใช่การให้บริการเสียง แต่เป็นบริการด้าน Data ซึ่งนำไปสู่ Application และ Content ผ่าน Internet เช่น Social Media ปัจจุบันประเทศไทยมีลักษณะจำเพาะ กล่าวคือ ไม่มีผู้ให้บริการ Application และ Content หลักเป็นของตัวเอง จากเว็บไซต์ที่คนไทยเข้ามากที่สุด 10 อันดับแรก ซึ่งวัดโดย Alexa นั้น 9 ใน 10 เป็นของต่างชาติทั้งสิ้น โดยมี 1. Google.co.th 2. Facebook.com 3. Live.com 4. Google.com 5. Youtube.com 6. Sanook.com 7. Hi5.com 8. Yahoo.com 9. Blogger.com 10. Msn.com มีเพียง Sanook.com ของไทยที่ติด 1 ใน 10

หากแบ่งแยกเป็น Category จะเห็นว่าในกลุ่ม Search Engine Google มีส่วนแบ่งการตลาด 99% ในประเทศไทย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว Google มักพ่ายแพ้ Search Engine ท้องถิ่นและมีส่วนแบ่งไม่ถึง 20% แต่ในประเทศไทยความไร้ซึ่งคู่แข่ง ทำให้ Google มีส่วนแบ่งได้ถึง 99% ในกลุ่ม Social Network, Facebook เป็นอันดับหนึ่ง โดยมีผู้ใช้ 4.2 ล้านคนในประเทศไทย ซึ่งทิ้งห่างคู่แข่งโดยสิ้นเชิง ในกลุ่ม Video Youtube ก็เป็นอันดับหนึ่ง โดยปราศจากคู่แข่งเช่นกัน

ที่สำคัญ ผู้ให้บริการ Application และ Content ต่างชาติเหล่านี้ ไม่มีการลงทุนหรือกระทั่งตัวตนที่จับต้องได้ในประเทศไทย และให้บริการในไทยโดยการแปลเมนูคำสั่งเป็นภาษาไทยเท่านั้น ด้วยการกระทำเพียงแค่นี้ ก็สามารถให้บริการในประเทศไทย จนครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งได้

จริงอยู่ผู้บริโภคคนไทยอาจได้ประโยชน์ในระดับหนึ่ง จากการให้บริการของต่างชาติ แต่อุตสาหกรรมของไทยกลับไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะไม่มีการลงทุนหรือจ้างงานคนไทย ซึ่งนำไปสู่ Technology หรือ Knowledge Transfer ดังนั้น ผู้ให้บริการเหล่านี้ จึงได้ตลาดไทยไปฟรีๆ โดยไม่จำเป็นต้องให้อะไรกลับคืนสู่อุตสาหกรรมเลย

ความได้เปรียบของผู้ให้บริการต่างชาติ คงหนีไม่พ้น Economy of Scale ซึ่งในขณะที่ Google Facebook หรือ Youtube จะลงทุนสร้างบริการให้กับฐานลูกค้า 235 ล้านคน ในสหรัฐก่อนที่จะขยายไปตลาดอื่นๆ ผู้ให้บริการไทยมีฐานลูกค้าไม่ถึง 6 ล้านคน ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ โดยเป็นตลาดที่เล็กกว่าถึง 40 เท่า และอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ในประเทศ ที่ไม่มีข้อจำกัดของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่การลงทุนด้าน Application และ Content บน Internet เป็นธุรกิจเฉพาะกลุ่ม และจำกัดอยู่ในวงแคบ

ความพยายามของ พอ.ดร.นที ในการครอบคลุม 80% ของประชากรอาจเป็นโอกาสที่ดี ที่จะขยายฐานลูกค้าขึ้นมาเป็น 54 ล้านคน ถึงแม้จะไม่ใหญ่เท่ากับตลาดในสหรัฐ แต่เป็นการขยายตัวถึง 8 เท่า และอาจผลักดันให้ธุรกิจด้าน Application และ Content กลายมาเป็น Mainstream อย่างที่เป็นแล้วในประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศที่ GDP ใกล้เคียง อย่างไรก็ดี ประเทศไทยช้ามามากแล้ว จนมีข้อเสียเปรียบด้านเทคโนโลยี การศึกษา และความสามารถทางการแข่งขันอื่นๆ จึงอาจมีแนวโน้มสำคัญที่ 3G จะเป็นการขยายตลาดให้กับผู้ให้บริการต่างชาติรายเดิม แทนที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการของไทย

ทั้งนี้ คงต้องอาศัยนโยบายของภาครัฐในภายภาคหน้า ที่จะเตรียมพร้อม และเปิดโอกาสให้ตลาดที่จะเกิดขึ้นจาก 3G เป็นโอกาสของคนไทยให้ได้มากที่สุด และถึงเวลานั้น ประเทศไทย อาจได้มี Search Engine หรือ Social Media เป็นของตัวเองเหมือนประเทศเพื่อนบ้านเสียที

Published in Krungthepturakij on July 22, 2010