ประโยชน์ของ 3G สำหรับคนไทยทั้งประเทศ

ในที่สุดประกาศ 3G ก็ได้ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาอย่างเสร็จสมบูรณ์ ต่อจากนี้ไปพวกเราคนไทยควรเริ่มให้ความสำคัญ และตั้งข้อสังเกตในการดำเนินงานของภาครัฐ เอกชน และสังคม เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่เราได้ล้าหลังมานาน จนต้องมาเสียความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ที่สามารถวัดได้ในอัตราของ GDP ต้องเข้าใจว่า 3G ของไทยไม่ได้เริ่มต้นพร้อมกับประเทศอื่น จึงช้าไม่ได้แล้วที่ผู้มีอำนาจในสังคมจะต้องตัดสินใจวางนโยบายแห่งชาติเพื่อทดแทน 10 ปีที่สูญเสียไปในห้วงสุญญากาศของความไม่แน่นอน สิ่งที่ พอ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ได้ระบุในเงื่อนไขของ 3G หรือกระทั่งแนวคิดการแปรสัมปทานของ รมว.คลัง กรณ์ จาติกวณิช เป็นการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลในฝั่งของผู้ประกอบการ (Supply) คงไม่มีใครเถียงว่าแนวคิดของทั้งสองท่านถือเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และได้ทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวเดินต่อไปให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ

แต่สิ่งที่มักไม่มีใครพูดถึงคือ การนำ 3G ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง (Demand) ความจริงแล้วแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ Prof. Craig Warren Smith อดีตศาสตราจารย์จาก Harvard University, Kenedy School of Government ได้เคยศึกษากรณีนี้โดยละเอียดใน Report ของ Meaningful Broadband ซึ่งได้ชี้แจงการนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ของประเทศไทย ด้วยการนำ 3G มาใช้ให้เกิดประโยชน์

3G เป็นเรื่องของ Data หรือการเข้าถึง Internet ความเร็วสูง (Broadband) ประโยชน์จาก 3G หามิใช่การสนทนาด้วยเสียง แต่เป็นบริการด้าน Content และ Application ผ่าน Internet ความเร็วสูง ที่สามารถพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของคนเป็นจำนวนมาก ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีรายได้สูง ดังที่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าถึง Internet ไม่เคยมีคอมพิวเตอร์ บริการสำหรับคนในเมืองที่มีฐานะดีอาจไม่เป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย

ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม Middle Income ตามมาตรฐานของ World Bank หรือในมุมมองของผู้นำด้าน Smartphone และ Tablet PC บางราย (ที่ฮอตมากๆ ในตอนนี้) ประเทศไทยจัดอยู่ใน Tier 2 แต่เร็วๆ นี้เคยตกไป Tier 3 เพราะสถานการณ์บางอย่าง อย่างไรก็ดีรสนิยมของคนในเมืองกลับเหมือนประเทศ Tier 1 เพราะเหตุนี้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งอาจอยู่ในกลุ่มที่มีฐานะดี จึงอาจไม่เห็นความต้องการเทคโนโลยีของคนส่วนใหญ่ และประโยชน์เกิดขึ้นได้กับคนเหล่านั้น

สิ่งที่ต้องเข้าใจคือประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่มีกำลังซื้อ Smart Phone เช่น iPhone หรือ BlackBerry ที่กำลังใช้กันเกลื่อนเมือง ในขณะเดียวกัน Social Media อย่าง Facebook, Twitter หรือ Youtube อาจไม่เป็นประโยชน์กับคนส่วนมากเลย คนเหล่านี้อาจมีฐานะไม่ดี ต้องต่อสู้เพื่อหาเช้ากินค่ำ โอกาสสำคัญที่สุดของ 3G คือบริการที่สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเหล่านี้ การใช้งาน 3G ให้เกิดประโยชน์ จึงสมควรถูกผนวกเป็นนโยบายหลักของทุกหน่วยงานและองค์กรที่มีความมุ่งหวังในการพัฒนาประเทศ โจทย์ที่สำคัญที่สุดคือการคิดค้นบริการด้าน Content และ Application ที่สามารถสร้างประโยชน์ได้ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นการลอกเลียนแนวทางการใช้งาน 3G ของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เป็นการศึกษาแนวทางจากประเทศที่มีปัญหาใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยมีหลายตัวอย่างของประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบความสำเร็จจนได้รางวัลระดับโลก

กทช.ได้กำหนดนโยบายให้ครอบคลุม 80% ของประชากรใน 4 ปี ซึ่งเป็นโจทย์บังคับผู้ประกอบการ (Supply) ประโยชน์สูงสุดจะเกิดจากการขยายตัวของการเข้าถึง Broadband จาก 10% สู่ 80% ซึ่งเป็น 8 เท่า หรือ 54 ล้านคน แต่การดำเนินงานให้ได้ประโยชน์กลับเป็นโจทย์ของภาครัฐ เอกชน และสังคม เพื่อร่วมกำหนดแนวทางที่คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง (Demand) โดยผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด คือผู้ที่ไม่เคยเข้าถึง Internet มาก่อน และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย

และไม่ใช่พวกเราที่กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อยู่

Published in Krungthepturakij on August 3, 2010